วันจันทร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2561

สภาพแวดล้อม พันธกิจ และความสามารถหลัก

สมัยก่อนคนไทยใช้เรือในการเดินทาง ร้านรวงที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำลำคลอง จึงมีความเป็นปากซอย ที่การสัญจรผ่านไปมามาก คนจะต้องขึ้นท่าที่หน้าร้าน เพื่อเดินทะลุซอยลึกเข้าไปในผืนดิน

วันเวลาที่เปลี่ยนไป พร้อมกับเทคโนโลยีที่ผก้าวหน้า พฤติกรรมของคนก็เปลี่ยนไป เราใช้รถแทนเรือ ร้านรวงที่อยู่ริมนคลอง กลายเป็นทำเลก้นซอย ส่วนก้นซอยเดิมที่ถนนตัดผ่าน กลายเป็นร้านติดถนนใหญ่ ฮวงจุ้ยเปลี่ยนหมด

ทุกวันนี้ คนไม่ค่อยขยับตัวเดินไปซื้อของแล้ว จะใช้การคมนาคมเสมือน จากการมาถึงของอินเตอร์เน็ต การซื้อของ พูดคุย ทำผ่านระบบออนไลน์ ร้านที่เคยอยู่ริมถนนใหญ่ ที่ตามเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภคไม่ทัน จะถูกเตะเข้าไปอยู่ก้นซอยบ้าง

นี่เป็นความเปลี่ยนแปลงเฉพาะมิติด้านทำเลเท่านั้น ที่ได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลง อันที่จริง โลกของการประกอบการ ยังมีมิติอื่นๆที่ต้องคำนึงมากมาย

ลองคิดถึงว่า ถ้าคุณเปิดร้านขายข้าวสารริมคลองเมื่อแปดสิบปีที่แล้ว นั่นหรูเริ่ดเหมาะสมดี แต่เมื่อถนนมา รถมา คนก็ยังกินข้าวเหมือนเดิม การขายข้าวสาร ยังเป็นเรื่องเหมาะสม

ที่ไม่เหมาะสมคือ การเปิดร้านอยู่ก้นซอยที่ริมคลองที่ไม่มีคนสัญจรแล้วต่างหาก เครื่องมือที่คุณมี วิธีที่คุณใช้ มันไม่เหมาะสมกับสิ่งที่คุณกำลังทำ เพราะสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป

สภาพแวดล้อม, พันธกิจ และความสามารถหลักของคุณต้องสอดคล้องกัน

พันธกิจก็คือสิ่งที่คุณกำลังทำ มันสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมหรือเปล่า ถ้าคุณเป็นโรงงานผลิตโทรทัศน์จอแก้ว แบบที่เคยนิยมกันทุกบ้านในยุคกึ่งพุทธกาล สิ่งที่คุณกำลังทำมันก็ไม่เข้ากับสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน ที่คนสามารถเสพสาระและบันเทิงเหล่านี้ จากแอลอีดีทีวี หรือจากมือถือกันแล้ว

ถ้าคุณจะเปลี่ยนสิ่งที่คุณทำ มาเป็นการผลิตทีวีแบบที่นิยมกันทุกวันนี้ คุณก็ต้องสร้างความสามารถหลักของการเป็นผู้ผลิตทีวีนั้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นองค์ความรู้ เครื่องมือเครื่องจักร หรือคุณอาจมีวิธีการบริหารอย่างอื่นที่ทดแทนการมีองค์ความรู้ หรือโรงงาน เป็นของตนเอง

โตโยต้าเองไม่ได้เป็นผู้ผลิตน๊อตทุกตัวที่ใช้ในการผลิตรถยนต์ แต่โตโยต้ารู้ว่าจะเอาน๊อตจากไหนมาใช้ ในเงื่อนไขที่โตโยต้ายอมรับได้ รวมไปถึงเบาะที่นั่ง, ยางรถยนต์, แบตเตอรี่, เครื่องปรับอากาศ ฯลฯ

เคยมีคนพยายามสร้างเครื่องปิ้งขนมปังที่มีเทคโนโลยีพื้นๆมาก แต่เงื่อนไขคือ อุปกรณ์ทุกชิ้นต้องทำด้วยตัวเอง ผลหรือครับ ผ่านไปเป็นสิบปี ยังไม่ได้กินขนมปังปิ้งเลย

โลกเรามีความเกี่ยวพันเชื่อมโยงกันอย่างซับซ้อน ธุรกิจที่ไม่ต้องพึ่งพาภายนอก ไม่รู้ว่าจะหาได้มั้ยในปัจจุบัน

เราสามารถสร้างความสามารถหลักของเราได้จากสิ่งที่คนอื่นมี แบบที่สหรัฐใช้บ่อน้ำมันของตะวันออกกลาง ค้ำกระดาษพิมพ์หมึกรูปนกอินทรี ให้กลายเป็นยูเอสดอลล่าร์ที่ผงาดขึ้นเป็นเงินสกุลหลักของโลกอยู่มาได้หลายสิบปี ทั้งที่บ่อน้ำมันก็ไม่ใช่ของตัวเอง

แค่คิดให้ละเอียดขึ้นอีกนิด Business Model ไม่ได้มีแค่ซื้อมาขายไป โมเดลแบบที่ คนใช้บริการไม่ต้องจ่ายตังค์ คนจ่ายตังค์ไม่ได้ใช้ แต่ทุกคนยินดี ก็มีให้เห็นในระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือแบบที่ทุกคนจ่ายตังค์เท่ากันไม่ว่าจะใช้บริการหรือไม่ คนที่ควักจ่ายอย่างเดียวก็ไม่คิดอิจฉาคนที่มาขอใช้บริการ อย่างการประกันภัย

พวกนี้เป็นโมเดลธุรกิจที่เราเห็นจนชินตา แต่ไม่ได้คิดถึงความพิศดารของมัน ซึ่งเป็นตัวแบบของการใช้สมองในการสร้างความสามารถหลักของตัวเอง บนทรัพย์สินของคนอื่น

แนวทางการตัดสินใจในการเข้าสู่ GPP

สิ้นปีนี้ ร้านขายยาจะต้องผ่านตรวจตามมาตรฐาน GPP เพื่อใช้ประกอบการต่ออายุใบอนุญาตขายยาเป็นปีแรก สิ่งที่สมาชิกผู้ประกอบการที่ยังไม่พร้อมจำนวนมากกังวลใจคือ ควรจะตัดสินใจอย่างไร ? มีทางเลือกอย่างไรบ้างสำหรับปู้ที่ไม่พร้อม ?

ในบทความนี้ เราจะไม่ก้าวล่วงไปถึงวิธีปฏิบัติตามเกณฑ์ GPP แต่จะพูดถึงแนวทางการตัดสินใจโดยใช้เหตุผลทางธุรกิจเท่านั้น
จากการที่ได้คุยกับสมาชิกจำนวนมาก พอจะประมวลภด้ว่า ปัจจัยในการตัดสินใจ หรือสิ่งที่สมาชิกกังวลก็คือ ค่าจ้างเภสัชกรประจำ, ยอดขาย, การหาและเก็บรักษาเภสัชกรไว้กับร้าน

ตัดในเรื่องวิธีการหาและเก็บรักษาเภสัชกร ซึ่งเป็นเรื่องวิธีการจัดการที่สามารถนำเครื่องมือด้านทรัพยากรมนุษย์มาช่วยลดปัญหาได้ เราจึงใช้ตัวแปรแค่ค่าใช้จ่าย กำไร และโอกาสทางการตลาด เป็นปัจจัยในการตัดสินใจดังนี้

เริ่มต้นจากการประเมินว่า กำไรพอจ่ายค่าจ้างเภสัช และค่าใช้จ่ายอื่นๆหรือไม่ ?

ไม่ว่าร้านคุณจะมีตัวคุณ หรือลูกหลานเป็นเภสัชกร ที่คุณอาจบังคับจ่ายค่าจ้างเดือนละหมื่นห้า หรือจะต้องจ้างเภสัชจากภายนอกมาเป็นผู้ปฏิบัติการในราคาห้าหมื่น ให้นำค่าจ้างเภสัชกรที่คุณต้องจ่ายจริง มารวมคำนวณกับค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าเช่า ค่าน้ำ-ไฟ-เน็ต-โทรศัพท์ ค่าจ้างบุคลากรอื่น ฯลฯ

หากกำไรจากการขาย มีเพียงพอกับค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่กล่าวมาแล้ว คุณก็สามารถเลือกทาง “สู้” เป็น ขย 1 ต่อไป

แต่ถ้ากำไรจากการขาย ไม่เพียงพอที่จะจ่ายค่าใช้จ่าย คุณต้องถามตัวเองแล้วว่า จะสู้ต่อหรือไม่

การประกอบการวันนี้จะไม่เหมือนเมื่อก่อน สมัยก่อนหากเริ่มต้นธุรกิจได้ ก็นั่งกินนอนกินยาว แต่สมัยนี้วิธีทำมาหากินแบบของคุณมันจะอยู่ได้ไม่นาน ไม่นานจริงๆ ก็จะมีคนเลียนแบบ แล้วทำให้ดีกว่าคุณ หรือแม้แต่เสนออะไรบางอย่างที่แย่งลูกค้าไปจากมือคุณได้โดยที่ไม่ต้องเลียนแบบ เพราะคนสมัยนี้ชอบลองของใหม่ ลูกค้าพร้อมจะตีจากคุณไปได้ง่ายๆ ถ้าคุณไม่พยายามสุดแรงที่จะรักษาไว้

หากคำตอบของคุณคือไม่สู้ ทางเลือกที่เหมาะคือ “หนี” ออกจากธุรกิจนี้ สิ่งที่คุณต้องทำคือ การหาทางออกจากธุรกิจนี้แบบสวยๆ

แต่ถ้าคำตอบคือ คุณพร้อมจะสู้ต่อ เพราะไม่ว่าจะอยู่ในธุรกิจนี้หรือธุรกิจไหน ทุกวันนี้ก็ต้องดิ้นรนทั้งนั้น ข้อดีของการทำธุรกิจทุกวันนี้คือ เครื่องมือเยอะ มีอะไรมากมายให้คุณหยิบใช้ตามความต้องการ เครื่องมือหลายๆอย่างก็ใช้ฟรีด้วยซ้ำ โอกาสจึงเปิดกว้างสำหรับคุณ และทุกๆคน ซึ่งเมื่อมองในอีกด้านหนึ่ง โอกาสที่เอื้อให้คนเข้าสู่ธุรกิจได้ง่าย จึงเป็นวิกฤติสำหรับธุรกิจที่ประตูเปิดกว้างสำหรับทุกคน

ถ้าคุณพร้อมที่จะสู้ พร้อมจะเคลื่อนไหวมองหาโอกาสเพื่อติดอาวุธให้กับตัวเองตลอดเวลา ให้ลองเปรียบเทียบกำไรจากการขายยาที่ต้องขายโดยเภสัชกร เทียบกับกำไรที่ได้จากการขายสินค้าอื่นว่า มากเพียงใด คุณพร้อมที่จะตัดกำไรส่วนนี้ทิ้งไปหรือไม่

ถ้ากำไรส่วนนี้ เป็นสัดส่วนที่มากเกินกว่าที่คุณจะตัดใจทิ้งไป ก็ให้คุณมุ่งหน้าเลือกทาง “สู้” เป็นร้าน ขย 1 ต่อไป

ถ้ากำไรส่วนนี้น้อย คุณสามารถตัดทิ้งได้โดยที่ผลกระทบไม่มากนัก ทางเลือกที่เหมาะสมคือ “ถอย” ลดระดับใบอนุญาตลงเป็น ขย บ แล้วหารายได้จากอย่างอื่นมาทดแทน

แต่ถ้าก้ำกึ่ง แบ่งรับแบ่งสู้ ให้คุณประเมินโอกาสทางการตลาดของร้านคุณ ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพทำเล ระดับการแข่งขัน จำนวนลูกค้า ฯลฯ ดูว่า คุณมีโอกาสทากเพียงใด

ถ้ามีโอกาสมาก คุณสามารถเลือกทาง “สู้” เพื่อเป็น ขย 1 ต่อไป
แต่ถ้าโอกาสทาวการตลาดของคุณมีน้อย ทางเลือก “ถอย” ลดระดับใบอนุญาตลงเป็น ขย บ จะปลอดภัยสำหรับคุณ

แต่ไม่ว่าคุณจะ “สู้” หรือ “ถอย” สิ่งที่คุณต้องทำคือ คุณต้องมี “ของ” หรือ “ความสามารถหลัก” ให้พร้อมสำหรับเส้นทางที่คุณจะไป ซึ่งเราจะมาคุยกันในฉบับหน้า

วันอาทิตย์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2559

Strategic Planning การวางแผนกลยุทธ

ในการวางแผนยุทธศาสตร์ เรามักจะทำ SWOT Analysis คือการวิเคราะห์ตัวเองหาจุดอ่อนจุดแข่ง วิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายนอก หาโอกาสและสิ่งคุกคาม

เมื่อเรารู้ SWOT - Strength, Weakness, Opportunity และ Threat แล้ว สิ่งที่ต้องไปต่อคือ การสร้างกลยุทธ์ จาก SWOT ที่เราวิเคราะห์ออกมานี้ ซึ่งอาจจำแนกเป็นสี่ลักษณะ คือ
1) ใช้จุดแข็งเพื่อคว้าโอกาส : เป็น S/O Strategy
2) ใช้จุดแข็งเพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งคุกคาม : เป็น S/T Strategy
3) ใช้โอกาสลบจุดอ่อน : เป็น O/S Strategy
4) ในมุมที่เป็นสิ่งคุกคามและจุดอ่อน ให้หลีกเลี่ยง อย่าไปยุ่งกับมัน

เพื่อให้คิดวิเคราะห์ได้ง่าย จึงนิยมทำเป็นตารางดังภาพ และใช้สร้างเป็น กลยุทธ์

วิธีที่ใช้ในการสร้างกลยุทธ์ อยู่ที่ความคิดสร้างสรรค์

หลักการที่ผมใช้ มี 2 ข้อคือ
1) Brain Storm คือการเอาความคิดปริมาณมากที่สุด โดยไม่สนใจความเป็นไปได้ ความซ้ำซ้อน หรือความถูกต้อง ต้องให้ความคิดไหลลื่นที่สุด จึงไม่วิจารณ์ ไม่ทำอะไรที่จะหยุด หรือสกัดกั้นไอเดีย แค่จดทุกความคิด วิธีนี้จะทำคนเดียวหรือเป็นกลุ่มก็ได้ แต่หลักการเหมือนกัน
2) การจินตนาการโดยผสมคำสองคำ โดยนึกถึงคำสองคำ แล้วจดทุกความคิดที่ผุดขึ้นมาในสมองจากการนึกถึงคำสองคำนี้

เมื่อคุณจะสร้าง S/O Strategy ก็ให้นึกถึงจุดแข็งหนึ่งข้อ กับโอกาสหนึ่งเรื่อง แล้วจดทุกความคิดที่เกิดขึ้นโดยใช้หลัก Brain Storm เมื่อครบเวลาที่คุณตั้งใจไว้ ก็ให้เปลี่ยนการจับคู่ไปเรื่อยๆจนกว่าจะครบ หรือจนกว่าคุณจะพอใจ

จากนั้นค่อยเอาไอเดียที่ได้ มาจัดหมวดหมู่ คัดกรองดูความเป็นไปได้ บ่อยครั้งที่ในขั้นตอนนี้ผมจะได้ไอเดียใหม่ที่เกิดจากการต่อยอดไอเดียเดิม หรือรวมหลายไอเดียเข้าด้วยกัน หรือแม้แต่กระทั่งการสรุปเป็นหลักเกณฑ์บางเรื่อง

เมื่อได้กลยุทธ์แล้ว ถ้ามันมีหลายขั้นตอนใหญ่ ก็อาจแตกเป็นหลายโครงการภายใต้หนึ่งกลยุทธ์

ความคิดสร้างสรรค์จากการใช้คำสองคำ เป็นวิธีง่ายๆ เมื่อฝึกแล้ว คุณจะมีไอเดียเกิดขึ้นมากมาย วิธีประยุกต์ใช้อย่างนึงคือ เมื่อคุณต้องการแก้ปัญหาเรื่องนึง ให้คุณเริ่มต้นจากการจดจ่อ ครุ่นคิดถึงลักษณะด้านต่างๆของปัญหา จนมันเข้าไปในจิตใต้สำนึก (แต่ไม่ใช่การคิดแบบยิ่งคิดยิ่งโมโห หรือยิ่งคิดยิ่งเศร้า พวกนั้นทำให้เกิดอารมณ์เท่านั้น)

หลังจากนั้น คุณอยากจะทำอะไรก็ทำไป จิตใต้สำนึกของคุณจะทำงานต่อ โดยการโยงทุกสิ่งที่คุณเจอ เข้ากับสิ่งที่จิตใต้สำนึกจดจ่ออยู่ เมื่อได้ไอเดียดีๆ จิตใต้สำนึกจะส่งคำตอบออกมาให้ คุณก็จะแว๊บ คิดได้ ซึ่งสำหรับคนที่ไม่เคยฝึกจะรู้สึกเหมือนกับ "บังเอิญจริงเลย" เป็นความบังเอิญแบบที่คุณสามารถสร้างสภาพแวดล้อมให้เกิดความบังเอิญแบบนี้ได้เรื่อยๆ

ลองทำดูนะครับ

วันพุธที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2557

คุณภาพ บนพื้นฐานศักยภาพของร้านขายยา

ณ วันที่กำลังเขียนต้นฉบับอยู่นี้ กำลังเป็นที่ถกเถียงเสียงดังกับร่างพระราชบัญญัติยา ฉบับใหม่ในประเด็นต่างๆ

ในระหว่างที่รอผลสรุปเพื่อออกเป็นพระราชบัญญัติยาฉบับใหม่ กฏกระทรวงว่าด้วยการต่ออายุใบอนุญาตขายยาก็ยังมีผลใช้บังคับอยู่ กำหนดเวลาผ่อนผันสำหรับการตรวจประเมินร้านขายยาเดิมก่อนต่ออายุใบอนุญาต ยังเดินถอยหลังสู่การเริ่มบังคับใช้

ร้านขายยาแม้ว่าเป็นธุรกิจ แต่ด้วยความที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของผู้ใช้บริการ เรื่องคุณภาพความพร้อมที่จะส่งมอบความปลอดภัยไปพร้อมๆกับยาและบริการ จึงมีความสำคัญ

เมื่อพิจารณาลึกลงไปว่า ทุกคุณภาพคือค่าใช้จ่าย คุณภาพจึงไม่สามารถยืนอยู่ลอยๆเป็นเอกเทศได้ คุณภาพจะต้องมีศักยภาพในการประกอบการมารองรับในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างคุณภาพ รักษาคุณภาพ ไปจนถึงการยกระดับคุณภาพ ล้วนแต่ต้องอาศัยศักยภาพในการประกอบการมาสนับสนุนทั้งสิ้น

การกล่าวถึงคุณภาพในร้านขายยาโดยไม่ให้ความสำคัญกับศักยภาพในการประกอบการ จึงเหมือนกับการใช้งานรถยนต์โดยปฏิเสธความสำคัญของเชื้อเพลิง แม้ว่าในขณะนั้น รถยนต์ยังมีน้ำมันพอจะวิ่งได้ แต่เรารู้ว่าเชื้อเพลิงในถังย่อมมีวันหมด

คุณภาพเป็นสิ่งที่ถูกคาดหวังให้ยกระดับให้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งสวนทางกับศักยภาพในการประกอบการของวิสาหกิจขนาดเล็กที่มักจะลดลงเรื่อยๆตามเวลาที่ผ่านไป

เราสามารถสังเกตได้จากวิสาหกิจขนาดเล็กที่ล้าหลังมีอยู่เต็มบ้านเต็มเมือง ซึ่งอันที่จริง เมื่อครั้งแรกตั้งธุรกิจเหล่านี้ ธุรกิจมีความสามารถในการแข่งขันได้ พอเอาตัวรอดได้ แต่เมื่อสังคมเปลี่ยน ความต้องการผู้บริโภคเปลี่ยน ความไม่สำเหนียกถึงความเปลี่ยนแปลง ทำให้ไม่สามารถปรับตัวได้ทัน กว่าจะรู้ตัว ก็เหมือนกบต้มที่ไม่มีกำลังพอที่จะโดดหนีออกจากกะทะ

ร้านขายยาก็เช่นกัน หากย้อนอดีตกลับไป หลายๆร้านเคยเป็นดาวเด่นของวงการ แต่เมื่อกิจวัตรประจำวันต้องจมอยู่กับงานขาย จนไม่ได้เงยหน้ามองสภาพแวดล้อม ในที่สุดดาวเด่น ก็กลายเป็นดาวตก ร้านดาวเด่นในอดีตเคยเป็นเช่นนี้ และยังจะเป็นเช่นนี้กับดาวในปัจจุบันและอนาคต หากเรายังไม่ได้เรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีต

ร้านขายยาในเขตเมืองประสบปัญหาจากการแข่งขันสูง ทั้งจากคู่แข่งรายใหม่ หรือคู่แข่งรายใหญ่ที่ต่างก็มุ่งจับกลุ่มลูกค้าในเขตเมืองที่มีกำลังซื้อสูง จนกระทบกระเทือนถึงศักยภาพอย่างหนัก ร้านยากลุ่มนี้ หากจะยกระดับคุณภาพจึงต้องยกระดับศักยภาพก่อน เป็นการสร้างฐานของคุณภาพให้แข็งแรง

ส่วนร้านขายยากลุ่มที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะรองรับคุณภาพในมาตรฐานที่วางไว้ สามารถที่จะแนะนำวิธีปฏิบัติในแต่ละมาตรฐานของคุณภาพที่วางไว้ได้ แต่อย่างไรก็ตาม ศักยภาพที่แต่ละร้านมีอยู่นั้น ขอให้หมั่นตรวจสอบให้ดี เพราะศักยภาพที่ควรยึดไว้เป็นเกณฑ์ คือศักยภาพสัมพัทธ์ คือความสามารถในการประกอบการเมื่อเทียบกับท้องตลาด ซึ่งหากไม่ปรับตัวเป็นระยะ ศักยภาพนี้จะลดลงไปตามเวลาที่ผ่านไป

กาลเวลาไม่ได้ช่วยให้ธุรกิจทั่วไปเข้มแข็งขึ้น เฉพาะธุรกิจที่เรียนรู้จะปรับตัวเท่านั้นที่สามารถเข้มแข็งขึ้นตามเวลาที่ผ่านไป

การช่วยเหลือร้านขายยาที่ปรับตัวไม่ทัน ขาดศักยภาพในการประกอบการอย่างหนัก จึงต้องเริ่มจากการสร้างความมั่นใจให้ผู้ประกอบการ เพื่อเริ่มการพัฒนาทั้งด้านศักยภาพและคุณภาพ การทำโครงการเพื่อช่วยฟื้นฟูศักยภาพของผู้ประกอบการ จะช่วยให้ผู้ประกอบการเดิมแข็งแรงขึ้นโดยเร็ว

ทำไมถึงต้องช่วยร้านขายยาดั้งเดิมเหล่านี้ ?
คำถามคล้ายๆกับที่เคยมีผู้สงสัยว่า ทำไมต้องมีโครงการช่วยชาวเขา เพื่อให้เลิกปลูกฝิ่น
มีหลายเหตุผลมาก แต่ขอยกมาแค่สองเรื่องคือ
1) หากต้องการให้เขาเลิกทำสิ่งที่ผิด ต้องช่วยให้เขาทำสิ่งที่ถูก จึงจะเป็นการขจัดสิ่งผิดอย่างยั่งยืน เพียงแค่ส่งทหารตำรวจไปเผาไร่ฝิ่น จับคนปลูกมาติดคุก พอทหารตำรวจกลับไป ไร่ฝิ่นก็เบ่งบานเหมือนเดิมด้วยลูกหลานเขายังอยู่ วิถีชีวิตก็ยังต้องเดินต่อไป
2) มนุษยธรรม

วันอาทิตย์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ไอเดีย คำตอบ คำถาม

ไม่ได้เขียนบล๊อกมานานมาก ยอมรับว่าช่วงหลังไม่ค่อยมีแรงบันดาลใจให้เขียน อาจเป็นเพราะจุดสนใจของผมช่วงนี้อยู่ที่การหาวิธีแก้ปัญหาเรื่องเภสัชกร ซึ่งเป็นการเฉพาะเรื่อง มากกว่าที่จะเป็นเรื่องของธุรกิจแบบเดิมที่ผู้ประกอบการทั่วไปจะสนใจ

วันหยุด จะเป็นวันที่ผมใช้ย่อยข้อมูล และเรื่องราวที่ผ่านเข้ามา เหมือนเรากินข้าวลงท้อง มันไม่ใช่เพียงแค่ให้อิ่มท้อง ความสำคัญอยู่ที่การย่อยเพื่อให้เป็นสารอาหารที่ร่างกายจะดูดซึมไปใช้ได้ ข้อมูลและความรู้ก็เข่นกัน เราต้องย่อยและดูดซึมส่วนที่ดีให้เป็นส่วนหนึ่งของตัวเรา ส่วนที่เป็นกากก็ขับถ่ายออกไป

วันนี้ ได้เข้ามาเปิดบล๊อกอ่านบทความเก่าๆของตัวเอง ในระหว่างการย่อยข้อมูลใหม่ให้เข้ากับเรื่องเก่าๆ กลับได้ไอเดียเพิ่มขึ้นจากเรื่องที่ตัวเองเขียน

ความจริงมันเป็นเรื่องพื้นๆ ที่คุณจะ "เห็น" สิ่งที่คุณเคยมอง ในแบบที่ไม่เหมือนเดิม เพราะทุกครั้งที่คุณมองอะไรสักอย่างหนึ่ง ประสบการณ์ที่คุณสะสมในช่วงเวลาที่ผ่านมา จะเป็นเหมือนแว่น ที่ช่วยปรับสิ่งที่คุณมองเพื่อรับเข้าไปสะสมรวมกับประสบการณ์เดิม

ประสบการณ์ของคุณ อาจเป็นแว่นขยายให้คุณเห็นบางอย่างชัดขึ้น หรืออาจเป็นแว่นสีที่ช่วยกรองแสงที่จ้าเกินไป หรือแม้แต่กระทั่ง เป็นเลนส์ตลกที่บิดเบือนข้อมูลให้ผิดเพี้ยนไปก็ได้

ระยะนี้มีคน quote ประโยคหนึ่งของไอน์สไตน์มาใช้บ่อย ที่ว่า "จินตนาการสำคัญกว่าความรู้" ทำให้ผมนึกถึงอีกประโยคหนึ่งของไอน์สไตน์ที่ว่า "เคล็ดลับของความคิดสร้างสรรค์คือการปกปิดแหล่งที่มาของไอเดีย"

ความคิดสร้างสรรค์ทุกวันนี้ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นบนพื้นฐานของเดิม ไม่ว่าจะเป็นการต่อยอดจากของเดิม หรือการเอาไอเดียจากที่หนึ่งมาใช้กัยอีกที่หนึ่ง หรือการเอาไอเดียมายำรวมกัน ก็จะได้ของใหม่ที่ต่างไปจากเดิม เป็นนวัตกรรม

การฝึกสร้างไอเดียใหม่จากสิ่งที่มีอยู่เดิม จึงเป็นเรื่องหนึ่งที่ผมให้ความสำคัญ ถ้าคุณสามารถสร้างไอเดียได้จากสิ่งที่มีรอบตัว เท่ากับว่า คุณแทบจะไม่อับจนความคิดเลย

วิธีการง่ายๆ แค่คุณปักหมุดเรื่องที่คุณสนใจเอาไว้ในใจอย่างจดจ่อ แบบว่าหายใจเข้าออกเป็นเรื่องนั้น กินนอนกับเรื่องนั้น เมื่อได้อย่างนี้แล้ว เมื่อคุณกวาดสายตามองสิ่งรอบๆตัว ไม่ว่ามดแมลง ต้นไม้ใบหญ้า ตำรับยา ผู้คน ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ ไปจนถึงพระไตรปิฎก ความสนใจของคุณ จะเป็นเหมือนแว่นที่ช่วยคุณกรอง หรือโฟกัสไอเดีย จากสิ่งรอบข้างให้เด่นชัดขึ้น

ที่คุณทำก็แค่ หาไอเดียที่เหมาะสมที่สุดมาใช้ แค่นั้น มันเหมือนกับเวทมนต์ แต่ที่จริงก็คือมหัศจรรย์ของ "จิตใต้สำนึก" ของคุณเอง ที่คุณมีอยู่แล้วทุกคน ต่างกันก็แค่ความชำนาญในการใช้

วิธีนี้ จะช่วยหาคำตอบให้คุณได้ตรงกับคำถาม ความสำคัญจึงอยู่ที่ คุณตั้งคำถามไว้ถูกต้องหรือเปล่า คำถามที่ไม่ตรงกับความหมายของชีวิต หรือภาพรวมของแผน แม้จะเป็นคำตอบที่ถูกต้องสำหรับคำถาม ก็ยังเป็นสิ่งแปลกปลอมอยู่ดี

วันจันทร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2556

GPP กฎหมาย กับการพัฒนา


บูลด๊อก เป็นสุนัขของอังกฤษ เสน่ห์ของบูลด๊อกอยู่ที่จมูกสั้น ขากาง หนังย่น หน้าตามู่ทู่ ลักษณะประจำตัวเหล่านี้ เกิดจากการคัดเลือกผสมพันธุ์อย่างรอบคอบมานานกว่าหนึ่งศตวรรษ จนได้เป็นสุนัขที่จมูกสั้นที่สุด ขากางที่สุด แก้มย้อยหน้ายับที่สุด
                แต่บูลด๊อกมิได้ได้มาแค่เพียงจุดเด่น สิ่งที่ตามมาพร้อมกับการคัดสรรเพื่อให้ได้มาเป็นจุดเด่นเหล่านี้ สร้างปัญหาให้กับบูลด๊อกนานาประการ
                บูลด๊อกส่วนใหญ่ผสมพันธุ์เองไม่ได้ เพราะตัวผู้มีน้ำหนักมากเกินกว่าจะขึ้นขี่ตัวเมียได้เอง เจ้าของจึงต้องช่วยจับผสม หรือไม่ก็ใช้วิธีผสมเทียมไปเลย และเมื่อตัวเมียตั้งท้องแล้ว ก็ต้องใช้วิธีผ่าออกเมื่อถึงกำหนดคลอด เพราะลูกบูลด๊อกมีหัวโตกว่าช่องคลอดของแม่บูลด๊อก หากคลอดปกติมักจะไม่รอด
                บูลด๊อกไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิของร่างกายด้วยการทำลิ้นห้อยแล้วหายใจถี่ๆเพื่อระบายความร้อนแบบสุนัขทั่วไป บูลด๊อกจึงมีโอกาสเป็นลมแดดสูง
รอยย่นรอบตา เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคถุงน้ำตาอักเสบ
ทางเดินหายใจของบูลด๊อกตีบ จึงต้องหายใจผ่านกล่องเสียง ทำให้กล่องเสียงเสียหาย
เราได้บูลด๊อกเป็นสุนัขน่ารักแบบที่เราต้องการ แต่บูลด๊อกที่ได้มา กลับขาดคุณสมบัติพื้นฐานที่สำคัญบางอย่างของสุนัข เช่น ความสามารถในการดำรงเผ่าพันธุ์ด้วยตัวเอง หรือการดำรงชีวิตปกติ
นี่เป็นผลที่ไม่พึงปรารถนาจากวิวัฒนาการที่มนุษย์สร้างขึ้น ซึ่งหากเรามองไปรอบๆตัว ตั้งแต่ชิ้นเฟอร์นิเจอร์ทำเอง กฎหมาย ไปจนถึงแผนพัฒนาประเทศ เราจะพบว่า เรามีหลายๆสิ่งตามที่เราออกแบบไว้ เสียแต่ว่า มันเอาไปใช้ประโยชน์ตามที่ต้องการไม่ได้
ทุกครั้งที่เราด่วนสรุปว่าควรแก้ปัญหาอย่างไรล้วนแต่ทำให้เกิดบูลด๊อกตัวใหม่ขึ้นมา นั่นคือ เราได้สิ่งที่สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ แต่เอาไปใช้ประโยชน์ไม่ได้
การลอกเลียนมาตรฐานของสังคมอื่นที่ถือว่าเป็นสากล มาใช้กับอีกสังคมหนึ่งโดยไม่ได้พิเคราะห์ถึงบริบท หรือพื้นฐานอันเป็นที่ตั้งค้ำยันตัวมาตรฐานนั้น ก็จะเป็นอีกเหตุหนึ่งในการสร้างบูลด๊อกขึ้นมา
เรากำลังพูดถึงการคุ้มครองผู้บริโภค เราพูดถึงคุณภาพ มาตรฐาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นเรื่องดี หากแต่เนื้อในที่เป็นส่วนประกอบต่างหากที่จะชี้ชัดว่า เป็นการคุ้มครองที่”เข้าท่า” หรือคุณภาพที่”เข้าที”หรือไม่
ก่อนอื่น เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ทุกสิ่งทุกอย่างมีต้นทุนทั้งสิ้น ในเบื้องต้นอาจเป็นต้นทุนของใครหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เมื่อผ่านกระบวนการปรับตัวแล้ว ในที่สุดต้นทุนนั้นก็จะกลับมาสู่การเป็นต้นทุนของสังคมในที่สุด
ประเทศสหรัฐที่ถือว่า เป็นประเทศที่มีระบบการแพทย์ที่ทันสมัย คุณภาพดี มาตรฐานสูง ก่อนการมาถึงของ”โอบาม่าแคร์” ชาวอเมริกันเกือบ 50 ล้านคน หรือเกือบหนึ่งในเจ็ดของชาวอเมริกัน ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพเหล่านี้เพราะการรักษาพยาบาลมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก มีข้อมูลที่น่าตกใจอันหนึ่งบอกว่า ครึ่งหนึ่งของบุคคลล้มละลายของชาวอเมริกัน มีสาเหตุมาจากการที่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง
ประกันสุขภาพเป็นทางออกสำหรับคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่ต้องการควักกระเป๋าจ่ายค่ารักษาพยาบาลเองให้เสี่ยงกับการล้มละลาย ก็จะเลือกใช้วิธีซื้อประกันสุขภาพ เพื่อยกภาระการจ่ายค่ารักษาพยาบาลไปไว้ที่บริษัทประกันเป็นผู้รับความเสี่ยง โดยแลกกับการจ่ายเบี้ยประกันเป็นประจำในระดับมูลค่าสูงที่คนส่วนหนึ่งสามารถจ่ายได้
แต่คนที่มีรายได้ต่ำอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่มีสิทธิรับการรักษาพยาบาลที่ภาครัฐหรือหน่วยงานจัดไว้ให้ และไม่สามารถจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพเพื่อซื้อประกันความเสี่ยงในกรณีที่ต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล ก็เป็นกลุ่มคนที่หลุดไปจากระบบคิดของประเทศที่เน้นคุณภาพ มาตรฐานสูงแห่งนี้ คนกลุ่มนี้ถูกทอดทิ้งอยู่ในสังคมที่มีวิทยาการทางการแพทย์ที่ดี มีมาตรฐานสูง แต่ไม่สามารถเข้าถึงได้ เพราะประตูแห่งมาตรฐานนี้ปิดตายสำหรับคนจน
ค่ารักษาพยาบาลที่มีราคาสูง เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการมีมาตรฐานที่สูง มีคุณภาพสูง และสะท้อนไปสู่สังคมในรูปของคนจนที่ไร้หลักประกันด้านสุขภาพ การล้มละลาย และอาชญากรรมในที่สุด
ปัญหาด้านการดูแลสุขภาพของประเทศสหรัฐไม่ได้อยู่ที่วิทยาการ หากแต่ปัญหาอยู่ที่ระบบการเมืองของสหรัฐเอง ตลอดจนปรัชญาความเชื่อในแบบทุนนิยมเสรีในบางด้านที่มีลักษณะเกินเหตุ  ที่ทำให้บริการด้านสุขภาพในประเทศนี้ ไม่คำนึงถึงผู้ที่ไม่มีรายได้พอที่จะไปซื้อบริการประกันสุขภาพที่ราคาแพงลิบลิ่ว ก็ต้องยอมเสี่ยงมีชีวิตอยู่อย่างไม่มีหลักประกัน หากเจ็บป่วยขึ้นมาจริงๆในระดับที่ต้องพึ่งบริการสุขภาพ ก็ต้องยอมตกอยู่ในฐานะล้มละลาย
การเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์บางอย่างเข้าไปในแผนประกันสุขภาพที่อาจเป็นประโยชน์กับคนกลุ่มหนึ่ง เช่น การแจกตำราโภชนาการสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน แม้ว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ป่วยเบาหวานกลุ่มหนึ่งที่ไม่มีความรู้ แต่กลับไม่เป็นประโยชน์เท่าใดต่อผู้ที่สามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ฟรีจากอินเตอร์เน็ต แต่ทุกคนต้องร่วมรับภาระจากค่าใช้จ่ายนี้ ส่งผลให้เบี้ยประกันสุขภาพสูงขึ้น
การเพิ่มสิทธิประโยชน์ที่มีคำถามถึงความคุ้มค่าเช่นนี้ มีอยู่ในหลายๆกรณี ซึ่งช่วยกันดันราคาค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสุขภาพของชาวอเมริกันให้พุ่งสูงขึ้น
การฟ้องร้องบุคคลากรทางการแพทย์เกี่ยวกับการรักษาพยาบาลที่ผิดพลาดเพื่อเรียกค่าสินไหมทดแทนความเสียหายจำนวนมาก การค้าความหาผลประโยชน์จากคดีที่เกี่ยวกับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล ทำให้ระบบการรักษาพยายามมีความรอบคอบในการตรวจรักษามากขึ้น หมอไม่กล้าลงความเห็นทันที ต้องตรวจให้ละเอียดมากๆเสียก่อน การตรวจนั้นซับซ้อนขึ้น ทำให้มีขั้นมากขึ้น ใช้เครื่องมือมาก  และทำให้ค่ารักษาพยาบาลแพงขึ้น เบี้ยประกันสุขภาพแพงขึ้น
การตรวจที่เพิ่มมากขึ้นนี้ มีข้อดีคือช่วยแพทย์ในการทำความเข้าใจในอาการของผู้ป่วยได้ดีขึ้น พร้อมๆกับวัตถุประสงค์รองคือ สำหรับใช้อ้างอิงในศาลเพื่อแสดงถึงการใช้ความระมัดระวังอย่างเพียงพอแล้ว แต่ภาระกลับเป็นของผู้รับการรักษาพยาบาลที่ต้องรับภาระค่าใช้จ่าย
ในขณะที่ในบ้านเรา ขั้นตอนการตรวจก่อนการรักษาอาจไม่มากมายซับซ้อนเท่า แต่ผลการรักษาก็มิได้ด้อยกว่ากันเท่าใดในกรณีปกติ
เนื่องจากค่ารักษาพยาบาลของผู้ป่วยแบบไม่มีประกันสุขภาพในสหรัฐมีราคาแพง จึงมีหลายๆคนเลือกที่จะออกไปรักษาพยาบาลยังประเทศที่มีคุณภาพการรักษาพยาบาลสูงเพียงพอ แต่มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่ามาก จึงเป็นที่มาของ Medical Tourism ซึ่งประเทศที่มีชื่อเสียงเรื่องนี้ก็คือ ประเทศไทยและอินเดีย โรงพยาบาลที่ให้บริการผู้ป่วยนานาชาติในอินเดียจะมีค่าใช้จ่ายเพียง 1/10 ของค่าใช้จ่ายในสหรัฐ ส่วนในไทยจะมีค่าใช้จ่ายเพียง 1/7 ของสหรัฐ แต่ประเทศไทยได้รับความนิยมมากกว่า เพราะว่าเรามีสถานที่ท่องเที่ยวที่ดีจำนวนมากกว่า
จะเห็นได้ว่า คำตอบที่เราต้องการนั้น ไม่ใช่ดีที่สุด สูงที่สุด ทันสมัยที่สุด หากแต่เป็น”เหมาะสม” ที่สุดต่างหาก โดยคำนึงถึงบริบทเรื่องต่างๆ ทั้งสังคม เศรษฐกิจ ยุทธศาสตร์ ฯลฯ
อีกไม่นาน ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการอนุญาตขายยาและการต่ออายุใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบัน ก็คงจะได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ซึงขั้นตอนหลังจากนั้นก็ประกอบด้วยการร่างกฎหมายลูก ซึ่งกฎหมายลูกที่สำคัญฉบับหนึ่งก็คือ หลักเกณฑ์วิธีปฎิบัติที่ดีทางเภสัชกรรม หรือที่เรียกกันว่า GPP – Good Pharmacies Practice
เนื่องจากเกณฑ์ที่เป็นไปตามกฎหมายนี้ มีผลในการบังคับผู้ประกอบการร้านยาทั่วประเทศ อันมีผลเป็นการยกระดับมาตรฐานของร้านขายยาทั่วประเทศขึ้นไป ซึ่งเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค
แต่เราอย่าได้ลืมตัวอย่างจากประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ละทิ้งประชาชนของตัวเองให้เจ็บป่วยโดยเข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาล ด้วยการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานของกการรักษาพยาบาลขึ้นไปเรื่อยๆ พร้อมๆกับค่ารักษาพยาบาล ซึ่งเป็นการผลักผู้ยากไร้ให้เข้าไม่ถึงการรับบริการ
การคุ้มครองผู้บริโภค จึงมิได้มีเพียงมิติด้านคุณภาพเท่านั้น หากแต่ยังมีมิติในด้านความสามารถในการเข้าถึงด้วย การดำเนินการโดยคำนึงเพียงมิติเดียว จึงมิได้มีผลในการคุ้มครองผู้บริโภคในความเป็นจริง กลับจะเป็นการสร้างบูลด๊อกตัวใหม่ขึ้นมาให้สังคมต้องประคับประคองในทางใดทางหนึ่ง
เราสามารถสร้างเกณฑ์ของ GPP ที่เป็นภาคบังคับตามกฎหมายอย่างระมัดระวัง ด้วยการใช้เกณฑ์ขั้นต่ำที่หากต่ำกว่าเกณฑ์นี้แล้ว ก็จะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค และอาจบวกเผื่อนิดนึง สำหรับระยะเวลาที่ต้องใช้ในการผลักดันกฎหมาย อย่างไรก็ตาม กฎหมายลูกในระดับประกาศกระทรวงอันเป็นอำนาจของรัฐมนตรีสาธารณสุขนั้น ไม่น่าจะต้องใช้เวลามากนักในการผลักดันกฎหมาย เพราะตัดขั้นตอนเกี่ยวกับพิธีการในการออกกฎหมายใหญ่ๆออกไปจนเกือบหมด
อย่าลืมว่า ทุกสิ่งที่เราใส่ลงในเกณฑ์นี้ ล้วนมีต้นทุนที่จะส่งผลสะท้อนกลับมาที่สังคมเสมอ การวางหลักเกณฑ์จึงเหมือนกับการเลือกซื้อของที่ต้องคำนึงถึงเงินในกระเป๋าที่มีจำกัด มิใช่วางบนความต้องการที่ไม่จำกัด
อย่างไรก็ตาม การผลักภาระให้กับกฎหมายทั้งหมดในการคุ้มครองผู้บริโภคนั้นก็อาจจะเกินกำลังของกฎหมาย บ่อยครั้งที่เราจะเห็นช่องโหว่ของกฎหมาย หรือบางทีก็อาจจะเป็นบูลด๊อกที่เกิดจากกฎหมาย คือเราได้กฎหมายที่มีเนื้อหาตามที่เราต้องการ แต่เรากลับไม่ได้สิ่งที่เราต้องการอันเป็นเจตนารมณ์ในการร่างกฎมายนั้น แบบเดียวกับที่เราได้ป้ายเภสัชกร แทนที่จะได้ตัวเภสัชกรในร้านยา
การเข้าใจว่ากระบวนการต่างๆจบลงเพียงแค่การได้กฎหมายมานั้น ทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างสภาพความเป็นจริงกับผลตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ร่างออกมา กฎหมายเป็นเพียงแค่วิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่งผลตามเจตนารมณ์
ในอดีตเราใช้กระบวนการบังคับใช้กฎหมาย ใครฝ่าฝืนก็ลงโทษ จึงเป็นหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่จะต้องไล่จับผู้ฝ่าฝืนมาลงโทษตามกฎหมาย หากจับไม่ได้ ผู้ฝ่าฝืนก็รอดตัว ซึ่งเป็นภาระหนักของผู้รักษากฎหมายที่มีกำลังและงบประมาณที่จำกัด แต่ภาระกิจกลับขยายกว้างอย่างไม่จำกัด ตามแต่จินตนาการของผู้ถูกบังคับโดยกฎหมาย
ในอนาคตวิธีที่จะใช้ควรเป็นมาตรการ”นำ” และมาตรการ”ช่วย” ต่างหาก
เราไม่รู้หรอกว่า ฝูงควายป่าจะวิ่งไปทางไหนเมื่อเจอภยันตรายไล่หลังมา แต่เรารู้อย่างหนึ่งว่า ทั้งฝูงจะวิ่งตามจ่าฝูง
เช่นเดียวกัน เราไม่มีทางรู้ได้ว่า เมื่อผู้ประกอบการร้านยาประสบกับสภาพบังคับของกฎหมาย จะเลือกทางออกโดยวิธีใด อาจใช้วิธีการเลิกกิจการ หรืออาจจะนำธุรกิจลงสู่ใต้ดินก็ได้
การใช้มาตรการ”นำ” ก็เพื่อจะแน่ใจได้ว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะเลือกใช้วิธีการที่เหมาะสมเมื่อต้องเผชิญกับสภาพบังคับของกฎหมาย ในขณะที่มาตรการ”ช่วย” จะทำให้การปฏิบัติตามกฎหมายเป็นเรื่องง่ายกว่าการฝ่าฝืน ทำให้ตัดสินใจง่ายขึ้น
หากผู้รักษากฎหมาย ต้องการให้กฎหมายบรรลุวัตถุประสงค์ การเลือกใช้มาตรการจึงเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้เนื้อหาสาระของกฎหมาย
อาจารย์ผมเคยให้ข้อคิดไว้ในการปฐมนิเทศน์นักศึกษากฎหมายไว้ว่า สังคมที่สุขสงบโดยไม่มีกฎหมาย เหนือกว่าสังคมที่สุขสงบเพราะกฎหมาย
สังคมที่สุขสงบโดยไม่ต้องมีกฎหมายนั้น กฎของการอยู่ร่วมกันนั้นไหลเวียนในจิตสำนึก แต่สังคมภายใต้กฎหมายนั้น กฎของการอยู่ร่มกันเป็นเหมือนกำแพงกั้น เมื่อใดที่กำแพงเตี้ย กำแพงล้ม กำแพงไม่แข็งแรง หรือไม่มีแนวกำแพง การฝ่าฝืนจะเกิดขึ้นได้เสมอ

                จูงที่ใจ ดีกว่าต้องมาวิ่งไล่จับนะ ว่ามั้ย

วันจันทร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2556

คาปูชิโน กับเงินเฟ้อ



ถ้าคุณสั่งคาปูชิโนมานั่งดื่มที่ร้านกาแฟ จู่ๆมีคนเอาหลอดมาปักแล้วดูดคาปูของคุณไปครึ่งแก้ว แล้วสั่งบาริสต้าให้เติมน้ำในแก้วของคุณจนเต็มเหมือนเดิม คุณยังรู้สึกว่าคุณมีกาแฟเต็มแก้วเหมือนเดิมหรือเปล่า ?


ถ้าคุณถือหุ้นสามร้อยหุ้น คิดเป็นสามสิบเปอร์เซนต์ของหุ้นทั้งบริษัท จู่บริษัทก็เพิ่มทุนเท่าตัวให้คนอื่นเข้ามาถือหุ้นเพิ่มทุนโดยคิดค่าหุ้นแบบแทบจะให้เปล่า คุณยังถือหุ้นสามร้อยหุ้นเท่าเดิม คุณยังรู้สึกถึงสิทธิของความเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทเท่าเดิมหรือเปล่า ?

กรณีแรกเห็นได้ชัดเจนว่า ขณะนี้คุณมีของเหลวเต็มแก้ว แต่มันไม่เหมือนเดิม จากที่เคยเป็นคาปูชิโนเข้มข้น ก็แทบจะกลายเป็นน้ำล้างแก้วหนึ่งแก้ว เพราะมันถูกเจือจางรสชาติของคาปูชิโนไปด้วยน้ำเปล่า

ในกรณีที่สองก็เช่นกัน แม้ว่าคุณจะถือหุ้นสามร้อยหุ้นในบริษัทเดิมของคุณ แต่สิทธิของคุณที่จะได้รับเงินปันผลสามสิบเปอร์เซนต์ ก็ถูกลดลงจากจำนวนหุ้นทั้งหมดของบริษัทที่เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว ทำให้คุณจะได้รับเงินปันผลลดลงเหลือเพียงสิบห้าเปอร์เซนต์เท่านั้น

นี่คือผลจากการถูกเจือจางลง Dilute effect โดยอะไรบางอย่างที่ไม่มีค่าทัดเทียมกันในกรณีเช่นนั้น ถ้าเปรียบกับคณิตศาสตร์ ก็คือการเพิ่ม”ส่วน”ที่เป็นตัวหาร โดยไม่เพิ่ม”เศษ” ที่เป็นตัวตั้งด้วย มีแต่จะทำใ้ห้ค่าที่ได้ ลดลง

ในสังคมใดสังคมหนึ่งเช่นสังคมระดับประเทศ การที่คุณมีเงินจำนวนหนึ่ง ก็คล้ายๆกับการที่คุณถือหุ้นของประเทศ โดยมีสิทธิ์ใช้เงินนั้นในการเลือกซื้อสินค้าและบริการที่มีอยู่ในขณะนั้น ปริมาณเงินที่มีในประเทศ และปริมาณสินค้าและบริการในขณะนั้น จึงมีส่วนกำหนดราคาที่คุณต้องจ่ายสำหรับก๋วยเตี๋ยวหนึ่งชาม กาแฟหนึ่งแก้ว ฯลฯ

การเพิ่มปริมาณเงินเข้ามาในระบบก็เหมือนกับการเพิ่มตัวหาร

การเพิ่มขึ้นของ”เศษ” หรือตัวตั้ง คือการเพิ่มขึ้นของปริมาณสินค้าและบริการ ซึ่งโดยปกติจะเพิ่มขึ้นอยู่แล้วจากการเติบโตขึ้นของการบริโภค การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆออกมาให้คนบริโภคกันเพิ่มขึ้น

หากการเพิ่มขึ้นของปริมาณเงินในระบบ ไม่ได้สัดส่วนกับการเพิ่มขึ้นของการบริโภคหรือปริมาณสินค้าและบริการในประเทศ จะทำให้ค่าของเงินแต่ละหน่วยเจือจางลง แบบเดียวกับการที่คุณถูกลดสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทลงด้วยการเพิ่มทุนให้คนอื่นมาถือหุ้น โดยจ่ายค่าหุ้นนิดเดียว

รูปแบบการเพิ่มปริมาณเงิน ก็เช่น การให้เครดิต การกู้ยืมเงินของภาครัฐ และแบบที่เห็ดชัดที่สุดในปัจจุบันก็คือ การพิมพ์แบงค์ออกมาดื้อๆของสหรัฐอเมริกา ในโครงการคิวอี Quantitative Easing ที่เป็นการเทเม็ดเงินปริมาณมหาศาลไปทั่วโลก

นี่คือเงินเฟ้อ นั่นเอง

การเพิ่มเม็ดเงินในประเทศที่เรากำลังจะได้เห็นก็คือ โครงการเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ที่จะเป็นการเพิ่มเม็ดเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจของประเทศอีก 2 ล้านล้านบาท จากปัจจุบันตามข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย ปีพ.ศ.2556 เรามีเงินบาทในระบบอยู่ 1.45 ล้านล้านบาท


แน่นอนที่ว่า มันจะเป็นการเพิ่มเศษด้วยจากผลลัพธ์ของโครงการ แต่ปัญหาคือ
1) เศษที่ได้นี้ จะได้เห็นในอนาคตแต่ส่วนหรือตัวหารจะเพิ่มในปัจจุบัน และ
2) ผลลัพธ์ที่ได้จะได้สัดส่วนกับตัวหารที่เพิ่มเข้ามาหรือไม่ ซึ่งประสบการณ์ที่ผ่านมา เราทราบดีว่าหากการใช้เงินของภาครัฐผ่านนักการเมือง มักจะไม่มีประสิทธิภาพ และต้องผ่านการกินประชาธิปไตยอีกสองชั้น เราคงหวังผลลัพธ์ได้แค่เศษที่เหลือจากการกินของนักการเมือง

คุณรู้สึกยังไงกับการที่คาปูชิโนของคุณหายไปครึ่งแก้ว แล้วได้น้ำเปล่ามาแทน และคุณยังต้องเป็นผู้จ่ายค่าน้ำเปล่าที่เติมใหม่นี้ด้วย ?