วันพฤหัสบดีที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

คำอธิบายพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510

พระราชบัญญัติยา พ.ศ.๒๕๑๐ เป็นพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบอาชีพเกี่ยวกับยา เป็นที่น่าสังเกตว่า กฎหมายนี้บังคับใช้มานาน ถึงปัจจุบันก็มีอายุสี่สิบกว่าปีเข้าไปแล้ว บางคนก็ค่อนขอดเอาว่ากฎหมายเก่ามาก ใช้แล้วอายเขา แต่ก็แปลกนะ มีกฎหมายของบางประเทศที่เขาใช้มาตั้งสองร้อยกว่าปี เรากลับไปยกย่องชมเชย ก็รัฐธรรมนูญของประเทศสหรัฐอมเริกาไงล่ะครับ ใช้มาตั้งนาน เก่าขนาดนี้ ถ้าเป็นคนก็คงไปผุดไปเกิดใหม่แล้ว เรากลับถือว่าเป็นต้นแบบประชาธิปไตยที่มั่นคงเข้มแข็ง ในขณะเดียวกัน กลับหัวเราะเยาะรัฐธรรมนูญของประเทศเราเองที่ได้ใช้ของใหม่ทุกสิบปี เฮ้อ ! ประหลาดดีแท้น้อ

ก่อนหน้านี้ มีความพยายามจะยกร่างพระราชบัญญัติยาฉบับใหม่ขึ้นมาหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่เป็นผลสำเร็จ ด้วยเหตุนี้กระมังที่ทำให้ไม่ค่อยเห็นตำราคำอธิบายพระราชบัญญัติยา พ.ศ.๒๕๑๐ ออกสู่ท้องตลาด คงจะเกรงว่า พอทำเสร็จเป็นเล่มออกมา ก็พอดีมีพระราชบัญญัติยาฉบับใหม่ออกมา ที่อุตสาห์ทำไว้ก็เลยขายไม่ได้ แถมเสียแรงเปล่า

ผู้เขียนเอง ไม่ต้องลงทุนอะไรมาก เพราะต้องอ่านตัวบทนี้อยู่แล้ว พิมพ์เป็นเล่มก็ไม่ต้อง เพราะใช้พื้นที่อินเตอร์เน็ทในการเผยแพร่ ก็เพียงแค่อ่าน แล้วก็take note ด้วยการพิมพ์ ก่อนจะเผยแพร่ให้ได้อ่านกัน หมายถึงถ้าคุณอยากจะอ่านนะครับ

ถ้าคุณตัดสินใจแล้วว่าอยากอ่าน ก็ไปดาวน์โหลดได้เลยครับ ตาม link ข้างใต้นี้
ฟรีครับ แต่อย่าเอาไปทำเพื่อการค้านะ


http://www.thaiphar-asso.com/images/1194337643/DrugCode2510.pdf

วันพุธที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

กฎหมายใหม่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค กับร้านขายยา

ช่วงที่ผ่านมา ได้มีกฎหมายออกใหม่ที่เกี่ยวข้องกับร้านขายยา แม้ว่าจะไม่เกี่ยวโดยตรง แต่ก็ได้รับผลกระทบ ทั้งในฐานะผู้ประกอบการร้านขายยา และในฐานะของประชาชนทั่วไปที่เป็นผู้บริโภคสินค้าอื่นๆ มีอยู่สองฉบับที่ผมอยากจะนำมาพูดถึงในที่นี้ก็คือ พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.๒๕๕๑ และพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดจากสินค้าไม่ปลอดภัย พ.ศ.๒๕๕๑

พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค


พระราชบัญญัตินี้ เป็นกฎหมายวิธีสบัญญัติ หรือกฎหมายที่ว่าด้วยวิธีปฏิบัติในศาล เกี่ยวกับการฟ้องคดี การนำพยานขึ้นสืบ อำนาจของศาล เป็นต้น ซึ่งสาระสำคัญบางส่วนที่เราควรจะรู้ไว้ก็คือ
มีบทยกเว้นเรื่องของหนังสือสัญญา หรือการทำตามแบบ ที่กฎหมายอื่นกำหนดไว้ว่าจะต้องมี หรือทำ มิฉะนั้นศาลจะไม่รับฟัง หากเป็นคดีผู้บริโภคฟ้องผู้ประกอบการแล้ว ถึงไม่มีสัญญาหรือทำตามแบบที่กำหนดในกฎหมายอื่น ศาลก็จะรับฟัง ทั้งนี้เพราะผู้ประกอบการที่ไม่สุจริตมักจะเตรียมการแต่แรกเพื่อให้ผู้บริโภคไม่สามารถฟ้องคดีได้ เป็นต้นว่า ไม่ทำหนังสือสัญญาไว้ให้ผู้บริโภคถือไว้เป็นหลักฐาน ซึ่งอาจมาฟ้องร้องตนเองได้ในภายหลัง
ประกาศหรือโฆษณาต่างๆที่ผู้ประกอบการแจ้งไว้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา ดังนั้น โฆษณาชวนเชื่อต่างๆที่ผู้ประกอบการได้ทำไว้ แต่มิได้ระบุไว้ในสัญญา ศาลก็จะรับฟังเหมือนกับเป็นสัญญา ผู้ประกอบการจึงต้องระมัดระวังในการจูงใจดึงดูดลูกค้า หากไม่ได้ต้องการให้เกิดผลจริง ก็อย่าพูดจะดีกว่า เพราะจะกลับมาพันคอตัวเองในภายหลัง
การเจรจาเกี่ยวกับค่าเสียหายระหว่างผู้ประกอบการและฝ่ายผู้เสียหาย ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง ในอดีต เคยมีผู้ประกอบการใช้กลยุทธ์ไม่ให้ผู้เสียหายฟ้องคดีด้วยการขอเจรจาชดใช้ค่าเสียหาย แล้วก็ดึงเกมการเจรจาไม่ให้สำเร็จ จนเมื่อพ้นอายุความก็ล้มโต๊ะเจรจา ฝ่ายผู้เสียหายก็ไม่สามารถทำอะไรได้เพราะว่าพ้นอายุความไปแล้ว
ภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริง หากข้อเท็จจริงนั้นเป็นข้อมูลที่ผู้ประกอบการเป็นผู้ครอบครอง ยากที่ผู้เสียหายจะรับรู้ พระราชบัญญัตินี้จึงกำหนดให้เป็นภาระของผู้ประกอบการเป็นผู้นำสืบ จากเดิมที่ถือหลักว่าผู้ใดกล่าวอ้างผู้นั้นมีหน้าที่พิสูจน์ เช่น กรณีที่ผู้ได้รับความเสียหายจากการใช้เครื่องเอทีเอ็ม ไม่จำเป็นต้องนำสืบให้ศาลเห็นว่าตู้เอทีเอ็มนั้นทำงานอย่างไร เพียงแต่นำสืบว่าไปกดเงินแล้วไม่ได้เงินแต่ถูกหักบัญชีก็เพียงพอแล้ว การนำสืบข้อเท็จจริงว่าตู้เอทีเอ็มนั้นทำงานอย่างไร หักบัญชีอย่างไรนั้นเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการตามพระราชบัญญัติฉบับนี้
ค่าเสียหายที่ศาลจะสั่งให้ผู้ประกอบการชดใช้นั้น มิใช่เป็นเพียงความเสียหายที่เห็นได้ชัดเจนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงค่าเสียหายทางจิตใจของผู้เสียหายอีกด้วย เช่นความทุกข์ทรมานก็นำมาตีเป็นค่าเสียหายได้ ซึ่งแต่เดิมจะเป็นค่าเสียหายที่เป็นรูปธรรมเท่านั้น
นอกจากนี้ หากผู้ประกอบการมีเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภค หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่นำพาต่อความเสียหาย ศาลยังอาจกำหนดค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากค่าเสียหายที่แท้จริงได้ เช่นผู้เสียหายฟ้องเรียกค่าเสียหายหนึ่งแสน ศาลพิจารณาแล้วเห็นด้วยกับค่าเสียหายนั้นเป็นค่าเสียหายที่แท้จริง แต่ศาลเห็นว่าผู้ประกอบการมีเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภค ศาลสามารถพิพากษากำหนดค่าเสียหายเพื่อการลงโทษผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งแสนบาทได้
ในกรณีที่ผู้ประกอบการเป็นนิติบุคคล ศาลสามารถสั่งให้ผู้ถือหุ้น หรือหุ้นส่วน หรือผู้มีอำนาจควบคุมการดำเนินงานของนิติบุคคล หรือผู้รับมอบทรัพย์สินจากนิติบุคคลมาเป็นจำเลยร่วมรับผิดในค่าเสียหายที่จะต้องชดใช้ให้แก่ผู้เสียหายได้ เป็นการป้องกันการตั้งนิติบุคคลขึ้นมาโดยไม่สุจริต หวังให้นิติบุคคลเป็นหนังหน้าไฟดำเนินธุรกิจที่คดโกงแล้วถ่ายเททรัพย์สินไปสู่บุคคลอื่น เพื่อหลบเลี่ยงความผิด ซึ่งกฎหมายที่มีอยู่เดิมตามไปเอาผิดได้ลำบาก แต่พระราชบัญญัตินี้ บัญญัติให้ต้องร่วมรับผิดแต่แรก

พระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. ๒๕๕๑

พระราชบัญญัตินี้ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว แต่จะมีผลใช้บังคับในวันที่ ๒๐ ก.พ. ๒๕๕๒ สาระสำคัญในกฎหมายนี้ จำเป็นที่เราจะต้องรู้ไว้ เพราะบังคับเราในฐานะผู้ประกอบการ และคุ้มครองเราในฐานะผู้บริโภค แม้ว่าจะยังไม่มีคดีขึ้นสู่ศาลก็ตาม ซึ่งต่างจากพระราชบัญญัติฉบับแรกที่กล่าวมาแล้ว ที่จะมีผลต่อเราเมื่อเป็นคดีขึ้นสู่ศาลแล้วเท่านั้น
ผู้ประกอบการทุกคนต้องร่วมกันรับผิดต่อผู้เสียหายในความเสียหายที่เกิดจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย หมายความว่าถ้าผู้บริโภคเกิดความเสียหายจากการใช้สินค้า ก็สามารถฟ้องผู้ประกอบการทุกคนตลอดสายที่เกี่ยวข้องให้มาร่วมกันรับผิดชอบ ดังนั้น ผู้ประกอบการไม่ใครก็ใครคนใดคนหนึ่ง จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบจ่ายค่าเสียหายให้แก่ผู้ได้รับความเสียหายนั้น
ในพระราชบัญญัตินี้ได้ให้คำนิยามของผู้ผลิต หมายความรวมถึงผู้แบ่งบรรจุ ซึ่งถือว่าเป็นผู้ประกอบการที่ต้องร่วมรับผิดชอบด้วย ดังนั้น เพียงการแบ่งขายยาจากขวดใหญ่ จึงต้องรับผิดในฐานะผู้ผลิตด้วย แต่ถ้ามิได้แบ่งบรรจุ แต่เป็นการขายตามขนาดบรรจุที่ทำมาจากโรงงาน ก็ไม่ใช่ผู้ผลิตที่ต้องร่วมรับผิด
ผู้เสียหายเพียงพิสูจน์ได้ว่า (๑) ได้รับความเสียหายจากสินค้าของผู้ประกอบการ และ (๒) การใช้หรือเก็บรักษาสินค้านั้นเป็นไปตามปกติธรรมดา ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ว่าความเสียหายเกิดจากการกระทำของผู้ประกอบการผู้ใด เพียงพิสูจน์ให้ศาลเห็นสองเรื่องนี้เท่านั้น ก็จะได้รับค่าชดเชยความเสียหายแน่นอน ปัญหาอยู่ที่ ใครจะเป็นผู้ที่ต้องควักกระเป๋าจ่าย
สินไหมทดแทนก็เหมือนกับพระราชบัญญัติฉบับแรกที่มีทั้งค่าทดแทนความเสียหายทางจิตใจ และสินไหมทดแทนเพื่อการลงโทษ ดังนั้น เราอาจจะได้เห็นคำพิพากษาให้จ่ายค่าทดแทนความเสียหายเป็นจำนวนเงินที่สูงมากขนาดที่ทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กอย่างร้านขายยานี้ ต้องซวดเซ หากพลาดพลั้งกระทำความเสียหายตามพระราชบัญญัตินี้
อายุความการเรียกร้องค่าเสียหายมีกำหนดสามปีนับตั้งแต่รู้ความเสียหายและรู้ตัวผู้ประกอบการ หรือสิบปีนับตั้งแต่ขายสินค้า
แต่ถ้าความเสียหายเกิดต่อชีวิต ร่างกาย สุขภาพ หรืออนามัย โดยผลของสารสะสมในร่างกาย หรือต้องใช้เวลาในการแสดงอาการ อายุความสามปีนับตั้งแต่รู้ความเสียหาย และรู้ตัวผู้ประกอบการ หรือ สิบปีนับตั้งแต่รู้ถึงความเสียหาย สังเกตว่า อายุความสิบปีนี้ เริ่มนับเมื่อรู้ถึงความเสียหาย ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นหลังจากใช้สินค้านั้นยี่สิบปีให้หลังก็ได้ ซึ่งก็คืออายุความแทบจะไม่จำกัดนั่นเอง และกรณีการบริโภคยาก็เข้าตามกรณีนี้

เพื่อนสมาชิกคงจะเห็นแล้วว่า พระราชบัญญัตินี้จะให้ความคุ้มครองผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี แต่เมื่อเพื่อนสมาชิกสวมหมวกของผู้ประกอบการ ก็จะถูกกฎหมายนี้บังคับให้ระมัดระวังในการประกอบการ ให้มีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค

พลิกแผนการตลาดในร้านขายยา


โดย : ปริญญา อัครจันทโชติ

เกริ่นนำ
ข้อเขียนนี้ ดูแล้วอาจจะคล้ายบทความทางการตลาด แต่ผู้เขียนมิได้มีเจตนาให้ท่านเชื่อถือเหมือนกับเป็นตำราทางการตลาด เพราะความรู้ทางการตลาดของผู้เขียนนั้นถูกสนิมเกาะเกรอะกรังแล้ว หลังจากที่พยายามเคาะอยู่นาน จึงได้ออกมาเท่าที่จะได้เห็นต่อไป


ข้อเขียนนี้ ได้มาจากการที่ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมการประชุมต่างๆในหลายๆโอกาส และจากประสบการณ์ในร้านขายยา จึงได้เห็นความเปลี่ยนแปลง และที่กำลังจะเป็นต่อไปของร้านขายยา ตัวเลขและข้อมูลต่างๆ อิงความจริง เว้นแต่ที่ผู้เขียนจะกล่าวไว้ว่าประมาณ นั่นหมายความว่า มาจากการนั่งเทียนของผู้เขียน แม้ว่าผู้เขียนจะพยายามให้ใกล้เคียงความเป็นจริงที่สุด แต่มันก็เป็นการเดาอยู่นั่นเอง หรือถ้าใช้คำให้ฟังดูดีๆแบบนักวิชาการก็คือ “ประมาณการ”

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนหวังว่าท่านจะได้อ่านแล้ววิเคราะห์เหตุผลที่ผู้เขียนยกขึ้นกล่าวอ้าง หากท่านอ่านไปพยักหน้าไป ผู้เขียนก็ดีใจ เพราะผู้เขียนจะอนุมานเอาว่า ท่านเห็นด้วย (ถ้าไม่อยากให้เชื่อ ผู้เขียนก็คงไม่เสียเวลามานั่งเขียนให้เมื่อยตุ้มหรอก)

ท่านสามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้เขียนได้ทางอีเมล์
thaipharmacy@yahoo.com หรือทางจดหมาย ส่งถึงผู้เขียนตามที่อยู่ของสมาคมร้านขายยา

แต่ถ้าท่านจะอ่านข้อเขียนนี้ฆ่าเวลาในฐานะที่เป็นนิยายอิงการตลาด ผู้เขียนก็ไม่ขัดข้องแต่ประการใด


สถานการณ์ทั่วไป

หลายๆท่านอาจจะสงสัยเหมือนอย่างผู้เขียนว่า ลูกค้าหายไปไหนกันหมด หรือว่าเดี๋ยวนี้คนเขาไม่ยอมเจ็บไข้ได้ป่วยกันแล้วหรือยังไง แถมวันดีคืนดี ก็มีข่าวคราวไม่ค่อยดีเกี่ยวกับกฎหมายใหม่ต่างๆที่กำลังจะออกมาใช้บังคับกับร้านขายยา

ผู้เขียนเองบางทีก็มีความรู้สึกเหมือนกับเป็นหนูที่วิ่งวนอยู่ในปี๊บหาทางออกไม่เจอ วันดีคืนดี ก็มีคนมาเคาะปี๊บดังลั่นให้เราตกใจเล่น แล้วดูเราวิ่งวนไปวนมาอย่างสนุกสนาน
ในส่วนนี้ ผู้เขียนจะขอคิดออกมาดังๆให้ท่านได้ยินได้เห็นภาพของตลาดธุรกิจร้านขายยาจากมุมมองของผู้เขียน

การแข่งขันในธุรกิจ

เวลาที่เราพูดถึงการแข่งขัน เราไม่สามารถมองดูเพียงคู่แข่งขันในธุรกิจเดียวกันเท่านั้น

สมมุติว่าคุณขายข้าวมันไก่ในตลาดโต้รุ่ง ลูกค้าของคุณก็คือคนที่กำลังหิว ดังนั้น พวกหมูสะเต๊ะเอย บะหมี่เกี๊ยวเอย ข้าวหมูแดงเอย ล้วนแต่เป็นคู่แข่งของคุณ เพราะว่าลูกค้าสามารถกินแก้หิวได้เหมือนกัน

เช่นเดียวกับร้านขายยา ลูกค้าก็คือคนที่เจ็บไข้ได้ป่วย ลองสำรวจดูสิ เวลาที่คนเจ็บไข้ได้ป่วย เขาจะไปไหนได้บ้าง ก็มีโรงพยาบาลของรัฐ, โรงพยาบาลเอกชน, คลินิก, ร้านขายยา, คลินิกแพทย์ทางเลือก, สปา ฯลฯ
นอกจากสองทางเลือกสุดท้ายที่เป็นการแพทย์แผนอื่นๆ ที่เหลือล้วนแต่เป็นการแพทย์แผนปัจจุบันที่เป็นการสาธารณสุขกระแสหลักทั้งสิ้น เป็นทางเลือกหลักในการรักษาสุขภาพของชาวบ้าน

ดังนั้น เราจะมองเพียงว่า ร้านขายยาด้วยกันเท่านั้นที่เป็นคู่แข่งของเรา ไม่ได้ เราต้องคอยชำเลืองดูคู่แข่งนอกธุรกิจด้วย ดูว่าเขาขยับตัวทำอะไร มีผลกระทบอะไรถึงเราหรือเปล่า เหมือนอย่างที่เรากำลังเจอในตอนนี้
คุณรู้หรือเปล่าว่า ผู้สูงอายุที่อายุเกินหกสิบปี สามารถรับบริการในโรงพยาบาลของรัฐ(ตามที่กำหนดไว้ในบัตร)ได้ฟรี, หากเป็นพนักงานของบริษัท ก็สามารถใช้สิทธิประกันสังคมได้ ส่วนชาวบ้านธรรมดา ก็สามารถใช้สิทธิสามสิบบาทรักษาทุกโรค แล้วทีนี้ มีกลุ่มไหนอีกล่ะ ที่ไม่ได้รับสิทธิในการรักษาพยาบาลจากรัฐบาล

คุณรู้หรือเปล่าว่า โรงพยาบาลของรัฐที่เข้าร่วมโครงการประกันสุขภาพโครงการต่างๆของภาครัฐ มีนโยบายจะปิดแผนกผู้ป่วยนอก แล้วให้เปิดเป็นคลินิกกระจายอยู่ตามชุมชนต่างๆ ดังเช่นที่เราได้เห็นคลินิกอบอุ่นกระจายอยู่ทั่วไป ประชาชนสามารถไปใช้บริการที่คลินิกอบอุ่น โดยใช้สิทธิประกันสุขภาพได้ที่นี่ด้วยโดยไม่ต้องไปออแออัดกันที่โรงพยาบาลอีกต่อไป

ลักษณะการให้บริการของคลินิกอบอุ่นก็คือ ชาวบ้านที่ได้ลงทะเบียนใช้บริการจากคลินิกนั้นๆ เมื่อมาหาหมอที่คลินิกอบอุ่น จะเสียค่าบริการเพียงสามสิบบาทตามโครงการสามสิบบาทรักษาทุกโรค(หรือสิทธิตามประกันสังคม แล้วแต่ว่าใครมีสิทธิไหน) ส่วนเจ้าของคลินิกอบอุ่น ก็เอารายชื่อคนที่มาลงทะเบียนไว้ ไปขอเบิกเงินจากรัฐ เป็นการเหมาจ่ายเป็นรายหัวสำหรับการดูแลสุขภาพของประชาชนที่มาลงทะเบียนไว้

ชาวบ้านจ่ายเงินเพียงเล็กน้อยก็ได้บริการสุขภาพ ชาวบ้านกลุ่มที่มาใช้บริการตามโครงการหลักประกันสุขภาพโดยภาครัฐนี้ เป็นชาวบ้านกลุ่มที่อ่อนไหวต่อราคา ซึ่งก็คือลูกค้ากลุ่มใหญ่ และดั้งเดิมของร้านขายยานั่นเอง นั่นคือ เกิดการปะทะกันของธุรกิจสองกลุ่ม คล้ายๆกับรถพ่วงชนกับมอเตอร์ไซค์

ลองคิดดูสิครับว่า ถ้ามีคลินิกอบอุ่นมาตั้งอยู่ที่ข้างๆร้านของคุณ จะเกิดอะไรขึ้น

บางที คุณอาจเป็นรายต่อไปที่จะได้ถูกหวยได้เพื่อนบ้านเป็นคลินิกแบบนี้ เหมือนอย่างอย่างผู้เขียนก็ได้

เมื่อตะกี้ ถามว่ามีกลุ่มไหนอีกบ้างที่ไม่ได้รับสิทธิในโครงการประกันสุขภาพจากภาครัฐ อันที่จริงก็มีเหมือนกันนะ ก็พวกเด็กๆ, คนจรจัดที่ไม่มีชื่อในทะเบียน, คนต่างด้าว และพวกหลบหนีเข้าเมือง คุณสนใจเลือกกลุ่มไหนเป็นลูกค้าของคุณล่ะ

คุณอาจเถียงว่า ทุกวันนี้ก็ยังมีกลุ่มคนที่ได้รับสิทธิในการรักษาพยาบาลของรัฐบาลในโครงการต่างๆมาซื้อของในร้านอยู่เลย

นั่นก็ใช่ แต่มันใช่ในแง่ที่เป็นเพียงเศษเนื้อที่กระเด็นออกจากจานข้าว นั่นคือลูกค้าเศษๆที่สถานพยาบาลภาครัฐให้บริการได้ไม่ไหวแล้ว จึงต้องมาพึ่งทางเลือกอื่นในการรักษาพยาบาลด้วยเหตุผลต่างๆ คุณรอเศษให้เนื้อกระเด็นออกมา หรือจะเป็นคนตักเนื้อชิ้นใหญ่ๆเป็นคนแรกๆล่ะ

ถ้าคุณไม่อยากรอเศษเนื้อกระเด็นออกมา คุณก็ต้องหาวิธีเป็นคนลงมือตักเนื้อก้อนใหญ่นั้นเอง

ความเข้มงวดของภาครัฐ

สินค้าในร้านขายยา เป็นสิ่งที่ใช้ในการบำบัดอาการเจ็บป่วยของประชาชน ดังนั้น เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ภาครัฐจึงเข้มงวดในการกำกับดูแลภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องทั้งผู้ผลิต ผู้ขาย และผู้นำเข้ายา ให้ประกอบธุรกิจให้เป็นตามที่กำหนดไว้ตามกฎหมายทั้งในระดับพระราชบัญญัติ และกฎหระทรวง ประกาศกระทรวงฉบับต่างๆ

กฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์การต่ออายุใบอนุญาตฯ ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการร่างนี้ เมื่อมีผลใช้บังคับ สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ ภายใน 8 ปี ทุกร้านจะต้องผ่านหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีทางเภสัชกรรม (ก็คล้ายๆร้านยาคุณภาพนั่นแหละ) มิฉะนั้นจะไม่ได้รับการต่ออายุใบอนุญาต

หากมีการตรวจไม่พบผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการประจำอยู่ตลอดเวลาในร้านขายยา 3 ครั้ง ใน 1 ปี ร้านนั้นจะไม่ได้รับการต่ออายุใบอนุญาต ข้อนี้มีผลทันทีที่กฎกระทรวงมีผลใช้บังคับ

และตามร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. ... ที่กำลังร่างกันอยู่ ก็มีบทลงโทษที่รุนแรงมาก เช่น กรณีไม่ได้จัดให้มีผู้มีหน้าที่ปฏิบัติ อยู่ตลอดเวลาทำการ เมื่อฝ่าฝืน จะมีโทษ จำคุก 3 เดือน ปรับสามหมื่นบาท และปรับอีกห้าร้อยบาทต่อวัน

ความเข้มงวดที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในทางหนึ่ง นั่นหมายถึงต้นทุนที่ต้องเพิ่มขึ้น เพื่อให้ถึงเกณฑ์ที่ภาครัฐคาดหวังจากร้านขายยา ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ยอดขายกลับมีแนวโน้มลดลง จึงทำให้ร้านขายยาส่วนใหญ่ใกล้จะตัวแบนลีบเพราะช่องว่างที่จะอยู่รอด มันตีบแคบลงเรื่อยๆ จนในที่สุดเราอาจจะต้องเรียกว่าร้านขายยา 1 แผ่น


สำรวจพื้นที่ต่างๆ

ผู้เขียนจะขอพาท่านเที่ยวชมตลาด โดยจะเน้นไปที่กลุ่มโรงพยาบาลของรัฐ, โรงพยาบาลเอกชน, คลินิก และร้านขายยา ซึ่งเป็นกลุ่มที่เกี่ยวกับสุขภาพแผนปัจจุบันซึ่งเป็นทางเลือกหลักของประชาชน

จุดเด่น และจุดด้อยของร้านขายยา

ถ้าให้ผู้เขียนบอกสามสิ่งที่ผู้เขียนคิดว่าเป็นจุดดึงดูดให้ลูกค้าเข้ามาในร้านขายยา ผู้เขียนเลือกดังนี้

1. ราคาถูก (60 %)
2. อยู่ใกล้ (30 %)
3. ไม่ต้องรอ (10 %)

ตัวเลขในวงเล็บคือประมาณการเป็นเปอร์เซ็นต์ของลูกค้าที่เข้าร้านมาเพราะเหตุนั้น
ในขณะที่จุดด้อยของร้านขายยาก็คือ บุคลากรของร้านขายยามีมาตรฐานต่ำที่สุดในกลุ่มธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพแผนปัจจุบัน โรงพยาบาลของรัฐ, โรงพยาบาลเอกชน, คลินิก ทุกแห่งล้วนแต่มีบุคลากรหลักเป็นหมอทั้งนั้น ในขณะที่ร้านขายยามีเพียงอย่างมากที่สุดก็เภสัชกรเท่านั้น ซึ่งระดับความเชื่อถือในความคิดของชาวบ้านก็สู้หมอไม่ได้

กลุ่มลูกค้า

จากการประมาณการข้างต้น ลูกค้า 60% เข้าร้านขายยาเพราะว่าค่าใช้จ่ายถูก นั่นหมายถึงลูกค้า 60% ของร้านขายยาเป็นกลุ่มที่อ่อนไหวต่อเรื่องราคา หมายถึงที่ไหนราคาถูกกว่าก็จะเอนไปหา

ถ้าหากว่าเขาเป็นคนควักกระเป๋าจ่ายเองเหมือนเมื่อสิบกว่าปีก่อนก็คงไม่มีปัญหาอะไร เขาต้องเลือกร้านขายยาเป็นทางเลือกแรกอยู่แล้ว

แต่เดี๋ยวนี้ รัฐเป็นผู้ควักกระเป๋าจ่ายให้เป็นการซื้อประกันสุขภาพให้กับชาวบ้านส่วนใหญ่ ถ้าใช้บริการตามสิทธิที่รัฐจัดไว้ให้ คนนั้นก็เสียค่าบริการน้อย หรือไม่เสียเลย แต่ถ้าไม่ใช้สิทธิ ก็จะเสียสิทธิไปเปล่าๆ ไม่ได้อะไรตอบแทนกลับมา

ทุกวันนี้เราจึงพอจะสังเกตได้ว่า ลูกค้า 60% นี้ จะไม่ค่อยเข้าร้านของพวกเรา เว้นแต่มาซื้อยาหม่อง หรือผงเกลือแร่ ที่โรงพยาบาล หรือคลินิกอบอุ่นไม่ยอมจ่ายให้

เราจะดึงลูกค้ากลุ่มนี้กลับมาด้วยกลยุทธ์ราคาที่ต่ำกว่าไหวหรือ?

ผู้เขียนว่าอย่าพยายามเลยดีกว่า นั่นคงคล้ายๆกับการพยายามวิ่งเอาหัวพุ่งชนกำแพง โดยหวังว่ากำแพงจะยอมแพ้แล้วล้มลง แต่ถ้ากำแพงไม่ยอมแพ้ เรานั่นแหละที่จะต้องล้มลงพร้อมกับอาการปวดหัวไปอีกหลายวัน

มันต้องใช้หัวในการสู้แน่ๆ แต่ไม่ใช่โดยการพุ่งชนเหมือนวัวกระทิง

ขายสินค้า หรือบริการ

ในบรรดากลุ่มคู่แข่งทั้งสี่ มีแต่ที่ร้านขายยาเท่านั้นที่ขายสินค้าเป็นหลัก ส่วนกลุ่มอื่นๆ ล้วนแต่ขายบริการเป็นหลัก และเวลาขายก็ต้องกระมิดกระเมี้ยน ไม่เหมือนร้านขายยาที่ขายสินค้าได้อย่างผ่าเผยและเปิดเผย นี่ถือว่าเป็นจุดเด่นของร้านขายยาที่สามารถขายสินค้าได้เต็มที่ และก็ไม่ผิดแปลกแต่ประการใด หากร้านขายยาจะหันมาขายบริการบ้าง

รักษา หรือป้องกัน
ทุกกลุ่มผู้ขาย(หรือให้บริการ) ล้วนแต่เน้นไปที่การรักษาการเจ็บไข้ได้ป่วยมากกว่าการป้องกัน
การป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ ในคลินิกเราอาจเห็นได้ไม่ชัดเจน แต่ในโรงพยาบาล นั่นก็คือการตรวจสุขภาพต่างๆเพื่อการพยากรณ์โรคภัยไข้เจ็บก่อนที่โรคจะเกิด

แต่การป้องกันโรค หรือการทำให้ร่างกายแข็งแรงนั้น มีอะไรมากกว่านั้นมาก นั่นหมายถึงตลาดสินค้าและบริการที่เกี่ยวกับการป้องกันการเจ็บไข้ได้ป่วยยังเปิดกว้างรอผู้เข้าไปบุกเบิก

คุณพร้อมหรือยัง เตรียมจอบเสียมพร้าเอาไว้ แล้วเราจะไปขุดทองกัน

แผนปัจจุบัน หรือแผนทางเลือก

การแพทย์แผนปัจจุบัน เป็นการแพทย์กระแสหลักในการดูแลสุขภาพของชาวไทยในยุคนี้ แต่มิใช่เป็นทางเลือกเดียวในการดูแลสุขภาพอีกต่อไป

ย้อนหลังกลับไปสักห้าสิบปี ชาวบ้านในชนบทต่างก็ฝากชีวิตไว้กับหมอพื้นบ้านต่างๆ ผ่านไปห้าสิบปี ความนิยมนี้ได้เลือนไปจากชนบท แต่กลับมาปรากฏในเมืองแทน

ทุกวันนี้เรามิได้ปฏิเสธการแพทย์แผนไทยเหมือนเดิมอีกแล้ว ตรงกันข้าม เรากลับยอมรับว่า นั่นอาจเป็นทางเลือกหนึ่งซึ่งสามารถทดแทนการแพทย์แผนปัจจุบันได้ในบางส่วน อีกทั้งภาครัฐได้หันมาส่งเสริมการแพทย์แผนไทย โดยหวังว่าเราจะสามารถใช้ภูมิปัญญาไทยในการดูแลสุขภาพของชาวไทย ทดแทนการนำเข้ายาแผนปัจจุบัน

การส่งเสริมภูมิปัญญาแพทย์พื้นบ้านของไทยสามารถเห็นได้จากการตั้งกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยขึ้นเป็นหน่วยราชการระดับกรม ในกระทรวงสาธารณสุข และในเจตนาการร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. .... ก็ปรากฏเหตุผลหนึ่งว่า ...เพื่อส่งเสริมการแพทย์แผนไทย ...

นี่ยังไม่รวมถึงการแพทย์แผนทางเลือกอื่นๆ เช่น การแพทย์แผนจีน, วารีบำบัด, สุคนธบำบัด

คุณพอจะมองเห็นอะไรลางๆบ้างหรือยัง


ยุทธศาสตร์ใหม่

ทีนี้ เราลองมาดูว่า จากสิ่งที่เราเห็น และที่เราสังเคราะห์ออกมานี้ เราจะใช้ทำอะไรได้บ้าง

เน้นกลุ่มลูกค้าระดับรายได้ปานกลาง-สูงมากกว่าระดับรายได้ต่ำ

เมื่อเราไม่ต้องการช่วงชิงกลุ่มลูกค้าที่อ่อนไหวต่อราคากลับมาด้วยราคาที่ต่ำกว่า เราก็ต้องย้ายไปที่กลุ่มลูกค้ากลุ่มอื่นแทน ซึ่งก็คือกลุ่มที่มีรายได้ระดับปานกลาง-สูงแทน

เพิ่มน้ำหนักสินค้าที่เป็นการป้องกันและดูแลสุขภาพในร้าน

สินค้าในร้านของเรา เมื่อจัดกลุ่มดีๆแล้ว มีหลายรายการที่เพื่อการป้องกันโรค เช่นวิตามินต่างๆ, อาหารเสริม ฯลฯ

ลองแยกกลุ่มสินค้าเหล่านี้ออกมาให้ชัดเจน เพิ่มน้ำหนักของสินค้ากลุ่มนี้ในร้าน ช่วยชักนำแนวความคิดของลูกค้าให้คำนึงถึงการป้องกันและดูแลสุขภาพ เป็นการเพิ่มโอกาสการขายให้ร้านของคุณ

เพิ่มน้ำหนักของสินค้าประเภทแพทย์แผนไทยให้มากขึ้น

เชื่อว่าในร้านของคุณคงจะมีสินค้าประเภทนี้อยู่บ้างสำหรับตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่มาถามหา
คุณลองถามตัวเองดูสิว่า คุณมีความรู้ทางด้านยาแผนไทยเหล่านี้เพียงใด

คุณรู้หรือไม่ว่า เรามียาสามัญประจำบ้านที่เป็นยาแผนไทย ในฐานะเดียวกับยาสามัญประจำบ้านแผนปัจจุบัน
เราสามารถใช้ยาจันทลีลา หรือประสะจันท์แดง สำหรับแก้ไข้ แทนที่จะใช้แต่พาราเซตตามอล เป็นต้น
หากว่าเราต้องการให้น้ำหนักกับการขายยาแผนไทย เราควรจะเพิ่มความรู้ให้กับตัวเองในเรื่องนี้ เพื่อให้บริการกับลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ และน่าเชื่อถือ

คุณรู้หรือไม่ว่า การศึกษาทางด้านเภสัชกรแผนไทยนั้นใช้เวลาเพียงสองปีเท่านั้น อีกทั้งมิได้จำกัดวุฒิ หรืออายุผู้เข้าศึกษา

หลังจากสองปีนี้ คุณสามารถสมัครเข้าสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรแผนไทย เมื่อคุณผ่านการสอบความรู้แล้ว คุณก็สามารถเป็นผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการในร้านขายยาแผนไทยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
นี่มิใช่การให้คุณเลิกขายยาแผนปัจจุบันแล้วมาขายยาแผนไทยแทน หากแต่เป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้า ซึ่งก็เท่ากับเพิ่มโอกาสในการขายให้คุณด้วย

เปลี่ยนนิยามธุรกิจใหม่

เราเรียกธุรกิจของเราว่า “ร้านขายยา” ดังนั้นกรอบความคิดของเราจึงหนีไปจากคำว่ายาไปได้ไม่ไกล สินค้าในร้านจึงวนเวียนอยู่แถวๆยาชนิดต่างๆ

แต่ถ้าเรานิยามธุรกิจของเราใหม่ว่า “ศูนย์สุขภาพ” นั่นหมายถึง สินค้าอะไรก็ได้ที่เกี่ยวกับสุขภาพ สามารถเข้ามาในร้านของเราได้ทั้งหมด อยู่ที่ว่า เราสนใจอะไร และขณะนั้นแนวโน้มสินค้ากลุ่มไหนมาแรง กลุ่มไหนกำลังจะตกกระป๋อง

หากว่าเศรษฐกิจตกต่ำอีกรอบ ประชาชนก็จะลดการใช้จ่ายในรายการที่ไม่จำเป็น ซึ่งสินค้าเกี่ยวกับสุขภาพในเชิงป้องกันอาจได้รับผลกระทบ เราก็สามารถเลี่ยงผลกระทบได้โดยการหันมาให้น้ำหนักกับการขายสินค้าเชิงบำบัดรักษาให้มากขึ้นแทน ซึ่งจะไม่ได้รับผลกระทบแม้ว่าเศรษฐกิจตกต่ำ

การที่เรามีสินค้าจำหน่ายที่หลากหลายเช่นนี้ เป็นการกระจายความเสี่ยง เมื่อสินค้ากลุ่มหนึ่งได้รับผลกระทบ ก็จะไม่ถึงกับทำให้ธุรกิจซวดเซ เพราะมีสินค้ากลุ่มอื่นคอยพยุงไว้ เรียกได้ว่ามีภูมิคุ้มกันตามหลักการหนึ่งในแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง สิ่งที่เราควรทำก็คือ คอยเบิ่งตาดู เงี่ยหูฟังว่า อะไรกำลังจะมา อะไรกำลังจะไป แล้วก็ปรับน้ำหนักสินค้าในร้านให้เหมาะสม แค่นั้นเอง

การปรับเปลี่ยนคำนิยามธุรกิจของเรา เป็นส่วนสำคัญที่สุดในกลยุทธ์ใหม่

มาถึงตรงนี้ คุณพร้อมที่จะปรับตัวหรือยัง