วันจันทร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2553

สามเสาหลักของธุรกิจ

เมื่อมองหลักการประกอบธุรกิจจากภาพรวม ทุกธุรกิจจะมีสิ่งสำคัญสามเรื่อง ที่เป็นตัวตัดสินการโต หรือการตายก็คือ

1. รูปแบบธุรกิจที่มีศักยภาพ
2. ทุนที่เพียงพอ
3. ระบบบริหารจัดการที่เหมาะสม


1. รูปแบบธุรกิจที่มีศักยภาพ

ทุกธุรกิจที่ตั้งขึ้น ต่างก็หวังหวังกำไรจาการประกอบกิจการ กำไรนอกจากจะเป็นผลตอบแทนสำหรับผู้ประกอบธุรกิจแล้ว กำไรยังเป็นตัวหล่อเลี้ยงให้ธุรกิจเดินต่อไป และเติบโต หากธุรกิจใดที่ประกอบกิจการโดยไม่สามารถสร้างผลกำไรได้เพียงพอ ค่าใช้จ่ายต่างๆของธุรกิจ จะดูดซับเงินทุนของธุรกิจออกไป ธุรกิจจะประสบกับปัญหาสภาพคล่อง ไม่สามารถชำระหนี้สินหมุนเวียนต่างๆได้ และต้องเลิกกิจการในที่สุด ช้าเร็วเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับสายป่าน หรือเม็ดเงินที่เป็นทุนหมุนเวียนที่ธุรกิจนั้นๆมีอยู่

การที่ธุรกิจจะสร้างผลกำไรได้เพียงพอ นั่นขึ้นอยู่กับรูปแบบของธุรกิจว่าสามารถดึงดูด(เงิน)ลูกค้าได้มากน้อยเพียงใด นั่นก็คือศักยภาพของธุรกิจนั่นเอง

คุณสามารถวิเคราะห์ศักยภาพของธุรกิจได้จากตัวเลขทางบัญชีได้ เป็นต้นว่า ดูอัตราการโตของยอดขาย อัตราการโตของกำไร หากตัวเลขพวกนี้ยังเติบโตอยู่ ธุรกิจของคุณก็อาจจะยังไม่เป็นอะไร

แต่การวิเคราะห์ตัวเลขเหล่านี้ เป็นเพียงบอกอดีตที่ผ่านมาของกิจการ ซึ่งเราก็คาดหมายอย่างคาดหวังว่า อนาคตมันจะดีแบบนี้ต่อไป ซึ่งในโลกความเป็นจริงนั้นไม่ใช่ เพราะเมื่อเกินจากจุดสูงสุดไป มันก็คือความตกต่ำนั่นเอง เหมือนการเลื่อนชั้นจากพระเอก หรือนางเอกดังรุ่นก่อนไปสู่การเป็นพ่อแม่พระนางรุ่นใหม่ที่เราคงไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นจุดสูงสุดใหม่

มันจึงปลอดภัยกว่า หากว่าเราจะมีวิธีการตรวจสอบศักยภาพของธุรกิจที่มองปัจจุบัน ซึ่งเมื่อเราเน้นไปที่ความเหมาะสมของรูปแบบธุรกิจ จึงควรจะตรวจสอบลึกลงไปที่ทฤษฎีธุรกิจ (Business Theories)
ทุกหน่วยงานจะมีทฤษฎีธุรกิจของตัวเองทั้งที่อยู่ในรูปของแผน หรือความคิดในหัวของผู้ประกอบกิจการเอง ซึ่งทุกทฤษฎีธุรกิจจะประกอบด้วยเรื่องสามเรื่อง คือ

1. สมมุติฐานเกี่ยวกับสภาพแวดล้อม
2. พันธกิจ
3. ความสามารถหลักเพื่อที่จะบรรลุพันธกิจ

เมื่อคุณเริ่มต้นธุรกิจ คุณจะมีชุดข้อมูลเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมในขณะนั้น ที่ทำให้คุณเห็นโอกาสที่จะประกอบธุรกิจ คุณจึงกำหนดพันธกิจของกิจการของคุณขึ้นมา เช่น เปิดร้านจำหน่ายยาแก่คนในชุมชนซึ่งเจ็บป่วยเล็กน้อยและไม่สะดวกที่จะไปใช้บริการจากโรงพยาบาล และคุณก็ต้องสร้างความสามารถหลักเพื่อที่จะทำให้พันธกิจของคุณเป็นจริง เช่น การหาสินค้า การหาบุคคลากร การหาทำเลเปิดร้าน เป็นต้น

แต่สภาพแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป คุณก็ไม่สามารถคงพันธกิจเดิมเอาไว้

เมื่อคนในชุมชนของร้านคุณ มีความรู้สึกสะดวกกายและสะดวกใจเป็นอย่างยิ่งที่จะไปใช้บริการสาธารณสุขอื่นที่ไม่ใช่ร้านของคุณอีกต่อไป เช่น โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โอกาสที่คุณจะขายสินค้าได้จึงลดลง ซึ่งหากคุณยังคงยึดถือพันธกิจแบบเดิมไว้ ร้านของคุณก็จะมีศักยภาพลดลงจากเมื่อครั้งเปิดร้าน ในไม่ช้า คุณอาจจะต้องจับยุงกินเป็นอาหาร เพราะลูกค้าจะที่เข้าร้านคุณ จะสร้างรายได้ให้คุณไม่คุ้มกับรายจ่ายที่มี นอกเสียจากว่าจะเกิดความสอดคล้องกันอีกครั้งหนึ่งระหว่างสภาพแวดล้อมกับพันธกิจของคุณ ซึ่งก็เกิดได้สองทางคือ ทางแรก คงพันธกิจเดิมเอาไว้ แล้วภาวนาให้สภาพแวดล้อมเปลี่ยนกลับมาเป็นแบบเดิม หรือทางที่สอง เปลี่ยนพันธกิจของร้านคุณเสียใหม่

ความสามารถหลักที่คุณเคยใช้ได้เป็นอย่างดี ก็อาจจะไม่ประสบความสำเร็จ ทำเลทองหน้าป้ายรถเมล์ เมื่อป้ายรถเมล์ย้าย ทำเลนั้นก็คลายเสน่ห์ลง

สมมุติฐาน พันธกิจ และความสามารถหลักที่ใช้ในการแข่งขัน จึงต้องสอดคล้องต้องกันอยู่เสมอคุณถึงจะรักษาศักยภาพของธุรกิจของคุณไว้ได้

ปัญหาของผู้ประกอบการร้านขายยาก็คือ สถานการณ์ที่เป็นจริงในวันนี้ มันเปลี่ยนจากวันที่เราเริ่มก่อตั้งกิจการไปมาก สมมุติฐานเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมมันเปลี่ยนไปมากจนแทบไม่เหลือเค้าเดิมอีกแล้ว นี่เป็นเหตุสำคัญที่ทำให้ศักภาพของธุรกิจร้านขายยาส่วนใหญ่ลดลง และก็จะเป็นเหตุที่ทำให้ร้านที่ยังมีศักยภาพในปัจจุบันนี้ เสื่อมศักยภาพลงในอนาคต หากมิได้ตระหนักถึงเรื่องนี้


2. ทุนที่เพียงพอ

ในช่วงเริ่มต้นธุรกิจ การบริหารธุรกิจจะให้ความสำคัญกับการรักษาสภาพคล่องมากกว่าการสร้างกำไร แต่เมื่อธุรกิจเริ่มอยู่ตัว ธุรกิจก็จะหันมาให้ความสำคัญกับกำไร แต่มิได้หมายความว่าจะเลิกใส่ใจกับเรื่องสภาพคล่อง ถ้าเปรียบกำไรเป็นเหมือนกับอาหารที่หล่อเลี้ยงให้ธุรกิจมีพลังที่จะขับเคลื่อนต่อไป สภาพคล่องก็เปรียบได้กับลมหายใจของธุรกิจ เราอาจขาดอาหารได้หลายวันโดยไม่ตาย แต่ถ้าขาดลมหายใจเมื่อไหร่ ก็ตายทันที

ธุรกิจก็เช่นกัน คุณสามารถขายของขาดทุนได้นานเท่าที่เงินในกระเป๋าคุณยังมีจ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณไม่สามารถหาเงินมาจ่ายค่าใช้จ่ายของธุรกิจ แม้ว่าธุรกิจของคุณจะกำไรดีแค่ไหนก็ตาม คุณก็ต้องล้ม

คุณอาจรู้สึกสงสัยว่า เป็นไปได้อย่างไรที่ธุรกิจมีกำไร แต่กลับขาดสภาพคล่อง

นี่เป็นเรื่องที่เจ้าของกิจการหลายๆคมอาจไม่ทันคิดถึง ในบางครั้งที่มีการขยายตัวของยอดขายขนานใหญ่ การขยายตัวนี้อาจหมายถึงรายได้และกำไรก้อนโต แต่ถ้าเงินก้อนนี้จะเข้ากระเป๋าคุณตามหลังรายจ่ายที่เป็นต้นทุนของยอดขาย เช่น คุณขายของโดยมีกำหนดรับชำระเงินที่สี่สิบห้าวันหลังส่งสินค้า แต่กำหนดชำระเงินค่าสินค้าที่คุณซื้อมานั้น อยู่ที่สามสิบวันหลังรับสินค้า นั่นคือ รายจ่ายก้อนโตของคุณถึงกำหนดก่อนที่คุณจะได้จะรับชำระค่าสินค้า ส่วนต่างสิบห้าวันนี้ คือช่วงเวลาที่คุณจะต้องบริหารการเงินให้ดี และจะต้องยิ่งระวังมากขึ้น หากสภาพคล่องของคุณเริ่มตึงตัว

ปกติ แต่ละธุรกิจก็จะเตรียมสำรองทุนหมุนเวียนไว้ระดับหนึ่งเพื่อให้เกิดสภาพคล่องที่เหมาะสมกับธุรกิจ แต่เมื่อธุรกิจเริ่มขยายตัวเพราะธุรกิจมีศักยภาพมากขึ้น ก็จะมีปัญหาในเรื่องความพอเพียงของเงินทุน เพื่อป้องกันปัญหาเงินทุนหมุนเวียนไม่หมุนอย่างคล่องตัวเหมือนเดิม คุณก็ต้องตัดสินใจแก้ปัญหาในเรื่องทุนโดยการเติมเงินลงไปในกิจการของคุณ ซึ่งก็มีหลายวิธีให้คุณตัดสินใจ


3. ระบบการบริหารจัดการที่เหมาะสม

เมื่อคุณเริ่มต้นธุรกิจ ระบบต่างๆยังไม่เข้าที่เข้าทาง นั่นจำเป็นต้องอาศัยความสามารถของตัวบุคคลเป็นอย่างมากในการผลักดันให้งานไหลลื่น แต่เมื่องานเริ่มอยู่ตัวแล้ว คุณควรจะคิดถึงการสร้างระบบการบริหารจัดการที่ดีไว้เป็นหลัก เพื่อลดการพึ่งพาตัวบุคคล แม้ว่าตัวบุคคลที่พึ่งพานั้นจะเป็นตัวคุณเองก็ตาม

ระบบบริหารจัดการที่ดี ทำให้งานในร้านของคุณไหลลื่น ทุกงานมีผู้รับผิดชอบ งานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และมีระบบการตรวจสอบเพื่อป้องกันการรั่วไหลหรือความผิดพลาด นั่นเป็นประโยชน์ที่รับรู้กันทั่วไป

การที่ร้านคุณหันมาพึ่งพาระบบบริหารจัดการ เป็นการแกะตัวคุณเองออกจากงานประจำ คุณจะมีเวลาพักผ่อนมากขึ้นในขณะที่งานของร้านคุณยังเดินต่อไปได้ อีกทั้งคุณอาจใช้เวลาที่ว่างจากงานประจำนี้มาคิดถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านต่างๆของร้าน หรือการขยายธุรกิจก็ได้

และเมื่อถึงเวลาเหมาะสม คุณก็สามารถส่งต่อกิจการของคุณให้กับทายาทได้

ร้านที่อยู่ด้วยความสามารถส่วนบุคคล ถ้าในร้านมีคุณเก่งอยู่คนเดียว หากไม่มีคุณแล้ว ทายาทของคุณจะสืบทอดร้านไปได้อย่างไร เทียบกับร้านที่อยู่ได้ด้วยระบบ การเปลี่ยนรุ่น ก็คือการเปลี่ยนผู้ควบคุมระบบ ส่วนระบบก็เดินไปตามปกติอยู่แล้วแม้ไม่มีผู้ควบคุมระบบ การสืบทอดกิจการจากรุ่นสู่รุ่นจึงเป็นไปได้อย่างไม่ยุ่งยาก

แต่ระบบการบริหารจัดการที่ดี คงหนีการใช้ไอทีเป็นเครื่องมือไปไม่พ้น

ในการบริหารธุรกิจใดๆ คุณหนีไม่พ้นที่จะต้องจัดการงานทั้งสามด้านนี้ให้สมดุล เมื่อใดที่เกิดคอขวดขึ้นที่งานใด คุณก็ต้องจัดการขยายคอขวดนั้นก่อนที่จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ ซึ่งคอขวดของธุรกิจมันจะเกิดขึ้นเสมอ เมื่อแก้ปัญหาด้านหนึ่งเสร็จ ก็จะเกิดปัญหากับอีกด้านหนึ่งแทน

เมื่อธุรกิจคุณขยายตัว คุณจะมีปัญหาเรื่องความต้องการเงินทุนที่เพิ่มขึ้น เมื่อแก้ปัญหาเรื่องเงินทุนเสร็จ ปัญหาก็จะมาปูดขึ้นตรงระบบริหารจัดการ เพราะระบบที่คุณวางไว้ก่อนที่ธุรกิจของคุณจะขยายตัว มันจะเริ่มไม่เหมาะสม อาจเป็นเพราะฝ่ายขายของคุณมีอำนาจมากเกินไปจากการผ่อนคลายกฎต่างๆเพื่อให้รองรับกับลูกค้าที่มากขึ้น หรือหน่วยงานสนับสนุนเริ่มไม่เพียงพอ เป็นต้น

เมื่อคุณแก้ปัญหาเรื่องระบบบริหารจัดการเสร็จ สภาพแวดล้อมก็จะเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งในปัจจุบัน เราไม่นิยมวางแผนไว้ระยะยาวเกินห้าปี เพราะสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น และไม่เหมือนเดิมอีก แผนที่วางไว้เกินกว่านั้นส่วนใหญ่จึงไร้ประโยชน์ คุณจึงต้องมาใส่ใจกับเรื่องการปรับศักยภาพของธุรกิจ และทุน และระบบบริหาร วนอยู่อย่างนี้ไม่รู้จบ ตราบเท่าที่คุณยังหวังจะให้ธุรกิจของคุณคงอยู่

ร้านขายยาก็เช่นกัน โดยเฉพาะร้านที่เปิดมานานเกินกว่ายี่สิบปี มักจะมีปัญหาใหญ่ในเรื่องของศักยภาพธุรกิจ รองลงมาก็คือระบบบริหาร

ปัญหาของร้านขายยาในเรื่องศักยภาพของธุรกิจนั้น เกิดเพราะผู้บริหารร้านขายยาไม่เคยทบทวนทฤษฎีธุรกิจของตัวเองว่ายังมีความเหมาะสมอยู่หรือไม่ ทั้งๆที่เงื่อนไขเรื่องสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปไกลสุดกู่แล้ว

ส่วนร้านอื่นๆนั้น ปัญหายังไม่เกิดขึ้นจนกว่าทฤษฎีธุรกิจของร้านนั้นๆ (ซึ่งเป็นทฤษฎีที่ใหม่กว่า สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมมากกว่าร้านที่เปิดมานานแล้ว) จะเริ่มล้าสมัย ซึ่งจะต้องเกิดขึ้นแน่นอนหากมิได้มีการทบทวนทฤษฎีธุรกิจของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ เพราะสภาพแวดล้อมต่างๆ จะเปลี่ยนแปลงหนีไปจากปัจจุบันอยู่ตลอดเวลา

หากคุณต้องการให้ธุรกิจของตัวเองเดินต่อไปได้ ต้องให้ความสนใจกับงานทั้งสามด้านอยู่เสมอ