วันจันทร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2556

GPP กฎหมาย กับการพัฒนา


บูลด๊อก เป็นสุนัขของอังกฤษ เสน่ห์ของบูลด๊อกอยู่ที่จมูกสั้น ขากาง หนังย่น หน้าตามู่ทู่ ลักษณะประจำตัวเหล่านี้ เกิดจากการคัดเลือกผสมพันธุ์อย่างรอบคอบมานานกว่าหนึ่งศตวรรษ จนได้เป็นสุนัขที่จมูกสั้นที่สุด ขากางที่สุด แก้มย้อยหน้ายับที่สุด
                แต่บูลด๊อกมิได้ได้มาแค่เพียงจุดเด่น สิ่งที่ตามมาพร้อมกับการคัดสรรเพื่อให้ได้มาเป็นจุดเด่นเหล่านี้ สร้างปัญหาให้กับบูลด๊อกนานาประการ
                บูลด๊อกส่วนใหญ่ผสมพันธุ์เองไม่ได้ เพราะตัวผู้มีน้ำหนักมากเกินกว่าจะขึ้นขี่ตัวเมียได้เอง เจ้าของจึงต้องช่วยจับผสม หรือไม่ก็ใช้วิธีผสมเทียมไปเลย และเมื่อตัวเมียตั้งท้องแล้ว ก็ต้องใช้วิธีผ่าออกเมื่อถึงกำหนดคลอด เพราะลูกบูลด๊อกมีหัวโตกว่าช่องคลอดของแม่บูลด๊อก หากคลอดปกติมักจะไม่รอด
                บูลด๊อกไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิของร่างกายด้วยการทำลิ้นห้อยแล้วหายใจถี่ๆเพื่อระบายความร้อนแบบสุนัขทั่วไป บูลด๊อกจึงมีโอกาสเป็นลมแดดสูง
รอยย่นรอบตา เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคถุงน้ำตาอักเสบ
ทางเดินหายใจของบูลด๊อกตีบ จึงต้องหายใจผ่านกล่องเสียง ทำให้กล่องเสียงเสียหาย
เราได้บูลด๊อกเป็นสุนัขน่ารักแบบที่เราต้องการ แต่บูลด๊อกที่ได้มา กลับขาดคุณสมบัติพื้นฐานที่สำคัญบางอย่างของสุนัข เช่น ความสามารถในการดำรงเผ่าพันธุ์ด้วยตัวเอง หรือการดำรงชีวิตปกติ
นี่เป็นผลที่ไม่พึงปรารถนาจากวิวัฒนาการที่มนุษย์สร้างขึ้น ซึ่งหากเรามองไปรอบๆตัว ตั้งแต่ชิ้นเฟอร์นิเจอร์ทำเอง กฎหมาย ไปจนถึงแผนพัฒนาประเทศ เราจะพบว่า เรามีหลายๆสิ่งตามที่เราออกแบบไว้ เสียแต่ว่า มันเอาไปใช้ประโยชน์ตามที่ต้องการไม่ได้
ทุกครั้งที่เราด่วนสรุปว่าควรแก้ปัญหาอย่างไรล้วนแต่ทำให้เกิดบูลด๊อกตัวใหม่ขึ้นมา นั่นคือ เราได้สิ่งที่สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ แต่เอาไปใช้ประโยชน์ไม่ได้
การลอกเลียนมาตรฐานของสังคมอื่นที่ถือว่าเป็นสากล มาใช้กับอีกสังคมหนึ่งโดยไม่ได้พิเคราะห์ถึงบริบท หรือพื้นฐานอันเป็นที่ตั้งค้ำยันตัวมาตรฐานนั้น ก็จะเป็นอีกเหตุหนึ่งในการสร้างบูลด๊อกขึ้นมา
เรากำลังพูดถึงการคุ้มครองผู้บริโภค เราพูดถึงคุณภาพ มาตรฐาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นเรื่องดี หากแต่เนื้อในที่เป็นส่วนประกอบต่างหากที่จะชี้ชัดว่า เป็นการคุ้มครองที่”เข้าท่า” หรือคุณภาพที่”เข้าที”หรือไม่
ก่อนอื่น เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ทุกสิ่งทุกอย่างมีต้นทุนทั้งสิ้น ในเบื้องต้นอาจเป็นต้นทุนของใครหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เมื่อผ่านกระบวนการปรับตัวแล้ว ในที่สุดต้นทุนนั้นก็จะกลับมาสู่การเป็นต้นทุนของสังคมในที่สุด
ประเทศสหรัฐที่ถือว่า เป็นประเทศที่มีระบบการแพทย์ที่ทันสมัย คุณภาพดี มาตรฐานสูง ก่อนการมาถึงของ”โอบาม่าแคร์” ชาวอเมริกันเกือบ 50 ล้านคน หรือเกือบหนึ่งในเจ็ดของชาวอเมริกัน ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพเหล่านี้เพราะการรักษาพยาบาลมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก มีข้อมูลที่น่าตกใจอันหนึ่งบอกว่า ครึ่งหนึ่งของบุคคลล้มละลายของชาวอเมริกัน มีสาเหตุมาจากการที่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง
ประกันสุขภาพเป็นทางออกสำหรับคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่ต้องการควักกระเป๋าจ่ายค่ารักษาพยาบาลเองให้เสี่ยงกับการล้มละลาย ก็จะเลือกใช้วิธีซื้อประกันสุขภาพ เพื่อยกภาระการจ่ายค่ารักษาพยาบาลไปไว้ที่บริษัทประกันเป็นผู้รับความเสี่ยง โดยแลกกับการจ่ายเบี้ยประกันเป็นประจำในระดับมูลค่าสูงที่คนส่วนหนึ่งสามารถจ่ายได้
แต่คนที่มีรายได้ต่ำอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่มีสิทธิรับการรักษาพยาบาลที่ภาครัฐหรือหน่วยงานจัดไว้ให้ และไม่สามารถจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพเพื่อซื้อประกันความเสี่ยงในกรณีที่ต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล ก็เป็นกลุ่มคนที่หลุดไปจากระบบคิดของประเทศที่เน้นคุณภาพ มาตรฐานสูงแห่งนี้ คนกลุ่มนี้ถูกทอดทิ้งอยู่ในสังคมที่มีวิทยาการทางการแพทย์ที่ดี มีมาตรฐานสูง แต่ไม่สามารถเข้าถึงได้ เพราะประตูแห่งมาตรฐานนี้ปิดตายสำหรับคนจน
ค่ารักษาพยาบาลที่มีราคาสูง เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการมีมาตรฐานที่สูง มีคุณภาพสูง และสะท้อนไปสู่สังคมในรูปของคนจนที่ไร้หลักประกันด้านสุขภาพ การล้มละลาย และอาชญากรรมในที่สุด
ปัญหาด้านการดูแลสุขภาพของประเทศสหรัฐไม่ได้อยู่ที่วิทยาการ หากแต่ปัญหาอยู่ที่ระบบการเมืองของสหรัฐเอง ตลอดจนปรัชญาความเชื่อในแบบทุนนิยมเสรีในบางด้านที่มีลักษณะเกินเหตุ  ที่ทำให้บริการด้านสุขภาพในประเทศนี้ ไม่คำนึงถึงผู้ที่ไม่มีรายได้พอที่จะไปซื้อบริการประกันสุขภาพที่ราคาแพงลิบลิ่ว ก็ต้องยอมเสี่ยงมีชีวิตอยู่อย่างไม่มีหลักประกัน หากเจ็บป่วยขึ้นมาจริงๆในระดับที่ต้องพึ่งบริการสุขภาพ ก็ต้องยอมตกอยู่ในฐานะล้มละลาย
การเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์บางอย่างเข้าไปในแผนประกันสุขภาพที่อาจเป็นประโยชน์กับคนกลุ่มหนึ่ง เช่น การแจกตำราโภชนาการสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน แม้ว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ป่วยเบาหวานกลุ่มหนึ่งที่ไม่มีความรู้ แต่กลับไม่เป็นประโยชน์เท่าใดต่อผู้ที่สามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ฟรีจากอินเตอร์เน็ต แต่ทุกคนต้องร่วมรับภาระจากค่าใช้จ่ายนี้ ส่งผลให้เบี้ยประกันสุขภาพสูงขึ้น
การเพิ่มสิทธิประโยชน์ที่มีคำถามถึงความคุ้มค่าเช่นนี้ มีอยู่ในหลายๆกรณี ซึ่งช่วยกันดันราคาค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสุขภาพของชาวอเมริกันให้พุ่งสูงขึ้น
การฟ้องร้องบุคคลากรทางการแพทย์เกี่ยวกับการรักษาพยาบาลที่ผิดพลาดเพื่อเรียกค่าสินไหมทดแทนความเสียหายจำนวนมาก การค้าความหาผลประโยชน์จากคดีที่เกี่ยวกับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล ทำให้ระบบการรักษาพยายามมีความรอบคอบในการตรวจรักษามากขึ้น หมอไม่กล้าลงความเห็นทันที ต้องตรวจให้ละเอียดมากๆเสียก่อน การตรวจนั้นซับซ้อนขึ้น ทำให้มีขั้นมากขึ้น ใช้เครื่องมือมาก  และทำให้ค่ารักษาพยาบาลแพงขึ้น เบี้ยประกันสุขภาพแพงขึ้น
การตรวจที่เพิ่มมากขึ้นนี้ มีข้อดีคือช่วยแพทย์ในการทำความเข้าใจในอาการของผู้ป่วยได้ดีขึ้น พร้อมๆกับวัตถุประสงค์รองคือ สำหรับใช้อ้างอิงในศาลเพื่อแสดงถึงการใช้ความระมัดระวังอย่างเพียงพอแล้ว แต่ภาระกลับเป็นของผู้รับการรักษาพยาบาลที่ต้องรับภาระค่าใช้จ่าย
ในขณะที่ในบ้านเรา ขั้นตอนการตรวจก่อนการรักษาอาจไม่มากมายซับซ้อนเท่า แต่ผลการรักษาก็มิได้ด้อยกว่ากันเท่าใดในกรณีปกติ
เนื่องจากค่ารักษาพยาบาลของผู้ป่วยแบบไม่มีประกันสุขภาพในสหรัฐมีราคาแพง จึงมีหลายๆคนเลือกที่จะออกไปรักษาพยาบาลยังประเทศที่มีคุณภาพการรักษาพยาบาลสูงเพียงพอ แต่มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่ามาก จึงเป็นที่มาของ Medical Tourism ซึ่งประเทศที่มีชื่อเสียงเรื่องนี้ก็คือ ประเทศไทยและอินเดีย โรงพยาบาลที่ให้บริการผู้ป่วยนานาชาติในอินเดียจะมีค่าใช้จ่ายเพียง 1/10 ของค่าใช้จ่ายในสหรัฐ ส่วนในไทยจะมีค่าใช้จ่ายเพียง 1/7 ของสหรัฐ แต่ประเทศไทยได้รับความนิยมมากกว่า เพราะว่าเรามีสถานที่ท่องเที่ยวที่ดีจำนวนมากกว่า
จะเห็นได้ว่า คำตอบที่เราต้องการนั้น ไม่ใช่ดีที่สุด สูงที่สุด ทันสมัยที่สุด หากแต่เป็น”เหมาะสม” ที่สุดต่างหาก โดยคำนึงถึงบริบทเรื่องต่างๆ ทั้งสังคม เศรษฐกิจ ยุทธศาสตร์ ฯลฯ
อีกไม่นาน ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการอนุญาตขายยาและการต่ออายุใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบัน ก็คงจะได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ซึงขั้นตอนหลังจากนั้นก็ประกอบด้วยการร่างกฎหมายลูก ซึ่งกฎหมายลูกที่สำคัญฉบับหนึ่งก็คือ หลักเกณฑ์วิธีปฎิบัติที่ดีทางเภสัชกรรม หรือที่เรียกกันว่า GPP – Good Pharmacies Practice
เนื่องจากเกณฑ์ที่เป็นไปตามกฎหมายนี้ มีผลในการบังคับผู้ประกอบการร้านยาทั่วประเทศ อันมีผลเป็นการยกระดับมาตรฐานของร้านขายยาทั่วประเทศขึ้นไป ซึ่งเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค
แต่เราอย่าได้ลืมตัวอย่างจากประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ละทิ้งประชาชนของตัวเองให้เจ็บป่วยโดยเข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาล ด้วยการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานของกการรักษาพยาบาลขึ้นไปเรื่อยๆ พร้อมๆกับค่ารักษาพยาบาล ซึ่งเป็นการผลักผู้ยากไร้ให้เข้าไม่ถึงการรับบริการ
การคุ้มครองผู้บริโภค จึงมิได้มีเพียงมิติด้านคุณภาพเท่านั้น หากแต่ยังมีมิติในด้านความสามารถในการเข้าถึงด้วย การดำเนินการโดยคำนึงเพียงมิติเดียว จึงมิได้มีผลในการคุ้มครองผู้บริโภคในความเป็นจริง กลับจะเป็นการสร้างบูลด๊อกตัวใหม่ขึ้นมาให้สังคมต้องประคับประคองในทางใดทางหนึ่ง
เราสามารถสร้างเกณฑ์ของ GPP ที่เป็นภาคบังคับตามกฎหมายอย่างระมัดระวัง ด้วยการใช้เกณฑ์ขั้นต่ำที่หากต่ำกว่าเกณฑ์นี้แล้ว ก็จะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค และอาจบวกเผื่อนิดนึง สำหรับระยะเวลาที่ต้องใช้ในการผลักดันกฎหมาย อย่างไรก็ตาม กฎหมายลูกในระดับประกาศกระทรวงอันเป็นอำนาจของรัฐมนตรีสาธารณสุขนั้น ไม่น่าจะต้องใช้เวลามากนักในการผลักดันกฎหมาย เพราะตัดขั้นตอนเกี่ยวกับพิธีการในการออกกฎหมายใหญ่ๆออกไปจนเกือบหมด
อย่าลืมว่า ทุกสิ่งที่เราใส่ลงในเกณฑ์นี้ ล้วนมีต้นทุนที่จะส่งผลสะท้อนกลับมาที่สังคมเสมอ การวางหลักเกณฑ์จึงเหมือนกับการเลือกซื้อของที่ต้องคำนึงถึงเงินในกระเป๋าที่มีจำกัด มิใช่วางบนความต้องการที่ไม่จำกัด
อย่างไรก็ตาม การผลักภาระให้กับกฎหมายทั้งหมดในการคุ้มครองผู้บริโภคนั้นก็อาจจะเกินกำลังของกฎหมาย บ่อยครั้งที่เราจะเห็นช่องโหว่ของกฎหมาย หรือบางทีก็อาจจะเป็นบูลด๊อกที่เกิดจากกฎหมาย คือเราได้กฎหมายที่มีเนื้อหาตามที่เราต้องการ แต่เรากลับไม่ได้สิ่งที่เราต้องการอันเป็นเจตนารมณ์ในการร่างกฎมายนั้น แบบเดียวกับที่เราได้ป้ายเภสัชกร แทนที่จะได้ตัวเภสัชกรในร้านยา
การเข้าใจว่ากระบวนการต่างๆจบลงเพียงแค่การได้กฎหมายมานั้น ทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างสภาพความเป็นจริงกับผลตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ร่างออกมา กฎหมายเป็นเพียงแค่วิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่งผลตามเจตนารมณ์
ในอดีตเราใช้กระบวนการบังคับใช้กฎหมาย ใครฝ่าฝืนก็ลงโทษ จึงเป็นหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่จะต้องไล่จับผู้ฝ่าฝืนมาลงโทษตามกฎหมาย หากจับไม่ได้ ผู้ฝ่าฝืนก็รอดตัว ซึ่งเป็นภาระหนักของผู้รักษากฎหมายที่มีกำลังและงบประมาณที่จำกัด แต่ภาระกิจกลับขยายกว้างอย่างไม่จำกัด ตามแต่จินตนาการของผู้ถูกบังคับโดยกฎหมาย
ในอนาคตวิธีที่จะใช้ควรเป็นมาตรการ”นำ” และมาตรการ”ช่วย” ต่างหาก
เราไม่รู้หรอกว่า ฝูงควายป่าจะวิ่งไปทางไหนเมื่อเจอภยันตรายไล่หลังมา แต่เรารู้อย่างหนึ่งว่า ทั้งฝูงจะวิ่งตามจ่าฝูง
เช่นเดียวกัน เราไม่มีทางรู้ได้ว่า เมื่อผู้ประกอบการร้านยาประสบกับสภาพบังคับของกฎหมาย จะเลือกทางออกโดยวิธีใด อาจใช้วิธีการเลิกกิจการ หรืออาจจะนำธุรกิจลงสู่ใต้ดินก็ได้
การใช้มาตรการ”นำ” ก็เพื่อจะแน่ใจได้ว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะเลือกใช้วิธีการที่เหมาะสมเมื่อต้องเผชิญกับสภาพบังคับของกฎหมาย ในขณะที่มาตรการ”ช่วย” จะทำให้การปฏิบัติตามกฎหมายเป็นเรื่องง่ายกว่าการฝ่าฝืน ทำให้ตัดสินใจง่ายขึ้น
หากผู้รักษากฎหมาย ต้องการให้กฎหมายบรรลุวัตถุประสงค์ การเลือกใช้มาตรการจึงเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้เนื้อหาสาระของกฎหมาย
อาจารย์ผมเคยให้ข้อคิดไว้ในการปฐมนิเทศน์นักศึกษากฎหมายไว้ว่า สังคมที่สุขสงบโดยไม่มีกฎหมาย เหนือกว่าสังคมที่สุขสงบเพราะกฎหมาย
สังคมที่สุขสงบโดยไม่ต้องมีกฎหมายนั้น กฎของการอยู่ร่วมกันนั้นไหลเวียนในจิตสำนึก แต่สังคมภายใต้กฎหมายนั้น กฎของการอยู่ร่มกันเป็นเหมือนกำแพงกั้น เมื่อใดที่กำแพงเตี้ย กำแพงล้ม กำแพงไม่แข็งแรง หรือไม่มีแนวกำแพง การฝ่าฝืนจะเกิดขึ้นได้เสมอ

                จูงที่ใจ ดีกว่าต้องมาวิ่งไล่จับนะ ว่ามั้ย

วันจันทร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2556

คาปูชิโน กับเงินเฟ้อ



ถ้าคุณสั่งคาปูชิโนมานั่งดื่มที่ร้านกาแฟ จู่ๆมีคนเอาหลอดมาปักแล้วดูดคาปูของคุณไปครึ่งแก้ว แล้วสั่งบาริสต้าให้เติมน้ำในแก้วของคุณจนเต็มเหมือนเดิม คุณยังรู้สึกว่าคุณมีกาแฟเต็มแก้วเหมือนเดิมหรือเปล่า ?


ถ้าคุณถือหุ้นสามร้อยหุ้น คิดเป็นสามสิบเปอร์เซนต์ของหุ้นทั้งบริษัท จู่บริษัทก็เพิ่มทุนเท่าตัวให้คนอื่นเข้ามาถือหุ้นเพิ่มทุนโดยคิดค่าหุ้นแบบแทบจะให้เปล่า คุณยังถือหุ้นสามร้อยหุ้นเท่าเดิม คุณยังรู้สึกถึงสิทธิของความเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทเท่าเดิมหรือเปล่า ?

กรณีแรกเห็นได้ชัดเจนว่า ขณะนี้คุณมีของเหลวเต็มแก้ว แต่มันไม่เหมือนเดิม จากที่เคยเป็นคาปูชิโนเข้มข้น ก็แทบจะกลายเป็นน้ำล้างแก้วหนึ่งแก้ว เพราะมันถูกเจือจางรสชาติของคาปูชิโนไปด้วยน้ำเปล่า

ในกรณีที่สองก็เช่นกัน แม้ว่าคุณจะถือหุ้นสามร้อยหุ้นในบริษัทเดิมของคุณ แต่สิทธิของคุณที่จะได้รับเงินปันผลสามสิบเปอร์เซนต์ ก็ถูกลดลงจากจำนวนหุ้นทั้งหมดของบริษัทที่เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว ทำให้คุณจะได้รับเงินปันผลลดลงเหลือเพียงสิบห้าเปอร์เซนต์เท่านั้น

นี่คือผลจากการถูกเจือจางลง Dilute effect โดยอะไรบางอย่างที่ไม่มีค่าทัดเทียมกันในกรณีเช่นนั้น ถ้าเปรียบกับคณิตศาสตร์ ก็คือการเพิ่ม”ส่วน”ที่เป็นตัวหาร โดยไม่เพิ่ม”เศษ” ที่เป็นตัวตั้งด้วย มีแต่จะทำใ้ห้ค่าที่ได้ ลดลง

ในสังคมใดสังคมหนึ่งเช่นสังคมระดับประเทศ การที่คุณมีเงินจำนวนหนึ่ง ก็คล้ายๆกับการที่คุณถือหุ้นของประเทศ โดยมีสิทธิ์ใช้เงินนั้นในการเลือกซื้อสินค้าและบริการที่มีอยู่ในขณะนั้น ปริมาณเงินที่มีในประเทศ และปริมาณสินค้าและบริการในขณะนั้น จึงมีส่วนกำหนดราคาที่คุณต้องจ่ายสำหรับก๋วยเตี๋ยวหนึ่งชาม กาแฟหนึ่งแก้ว ฯลฯ

การเพิ่มปริมาณเงินเข้ามาในระบบก็เหมือนกับการเพิ่มตัวหาร

การเพิ่มขึ้นของ”เศษ” หรือตัวตั้ง คือการเพิ่มขึ้นของปริมาณสินค้าและบริการ ซึ่งโดยปกติจะเพิ่มขึ้นอยู่แล้วจากการเติบโตขึ้นของการบริโภค การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆออกมาให้คนบริโภคกันเพิ่มขึ้น

หากการเพิ่มขึ้นของปริมาณเงินในระบบ ไม่ได้สัดส่วนกับการเพิ่มขึ้นของการบริโภคหรือปริมาณสินค้าและบริการในประเทศ จะทำให้ค่าของเงินแต่ละหน่วยเจือจางลง แบบเดียวกับการที่คุณถูกลดสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทลงด้วยการเพิ่มทุนให้คนอื่นมาถือหุ้น โดยจ่ายค่าหุ้นนิดเดียว

รูปแบบการเพิ่มปริมาณเงิน ก็เช่น การให้เครดิต การกู้ยืมเงินของภาครัฐ และแบบที่เห็ดชัดที่สุดในปัจจุบันก็คือ การพิมพ์แบงค์ออกมาดื้อๆของสหรัฐอเมริกา ในโครงการคิวอี Quantitative Easing ที่เป็นการเทเม็ดเงินปริมาณมหาศาลไปทั่วโลก

นี่คือเงินเฟ้อ นั่นเอง

การเพิ่มเม็ดเงินในประเทศที่เรากำลังจะได้เห็นก็คือ โครงการเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ที่จะเป็นการเพิ่มเม็ดเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจของประเทศอีก 2 ล้านล้านบาท จากปัจจุบันตามข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย ปีพ.ศ.2556 เรามีเงินบาทในระบบอยู่ 1.45 ล้านล้านบาท


แน่นอนที่ว่า มันจะเป็นการเพิ่มเศษด้วยจากผลลัพธ์ของโครงการ แต่ปัญหาคือ
1) เศษที่ได้นี้ จะได้เห็นในอนาคตแต่ส่วนหรือตัวหารจะเพิ่มในปัจจุบัน และ
2) ผลลัพธ์ที่ได้จะได้สัดส่วนกับตัวหารที่เพิ่มเข้ามาหรือไม่ ซึ่งประสบการณ์ที่ผ่านมา เราทราบดีว่าหากการใช้เงินของภาครัฐผ่านนักการเมือง มักจะไม่มีประสิทธิภาพ และต้องผ่านการกินประชาธิปไตยอีกสองชั้น เราคงหวังผลลัพธ์ได้แค่เศษที่เหลือจากการกินของนักการเมือง

คุณรู้สึกยังไงกับการที่คาปูชิโนของคุณหายไปครึ่งแก้ว แล้วได้น้ำเปล่ามาแทน และคุณยังต้องเป็นผู้จ่ายค่าน้ำเปล่าที่เติมใหม่นี้ด้วย ?

วันพุธที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2556

เงินเฟ้อกับการประเมินผลการประกอบการ


คุณกับผมต่างก็เกิดมาใยยุคที่เห็นเงินเฟ้อเป็นเรื่องปกติ การเพิ่มขึ้นของปริมาณเงินในกระเป๋า หากไม่พิจารณาให้ดี ว่าส่วนไหนคือเนื้อเงินจริงๆ เราจะคิดว่าตัวเราร่ำรวยยขึ้น มั่งคั่งขึ้น โดยลืมนึกไปว่า ปริมาณเงินที่เพิ่มขึ้นนั้น มาจากการฟ่ามพองขึ้นของเงินเฟ้อไปเท่าไหร่

หากทรัพย์สินทั้งหมดของคุณเมื่อห้าปีที่แล้ว สามารถซื้อก๋วยเตี๋ยวได้หนึ่งพันชาม และในวันนี้ตัวเลขในบัญชีของคุณบอกว่า คุณมีเงินมากกว่าห้าปี่ที่แล้วสามสิบเปอร์เซนต์ แต่เมื่อนำมาคำนวณแล้ว สามารถซื้อก๋วยเตี๋ยวแบบเดิมในราคาปัจจุบันได้เพียง แปดร้อยชาม นั่นหมายความว่า ในความเป็นจริงแล้ว คุณจนลงตะหาก แต่ภาพลวงตาจากเงินเฟ้อ ทำให้คุณเห็นว่าคุณรวยขึ้น แม้ว่าคุณจะมีปริมาณเงินเพิ่มขึ้น แต่เงินแต่ละบาทของคุณกลับมีค่าเจือจางลง

เมื่อคุณประเมินผลการประกอบการ อย่าลืมหักความฟ่ามของเงินเฟ้อนี้ออกไปด้วย เพื่อที่จะไม่โดนเงินเฟ้อ สร้างภาพลวงตาให้ดีใจเก้อว่าผลประกอบการดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ภาครัฐมักจะถือว่าเป็นความล้มเหลวที่จะปล่อยให้มีอัตราเงินเฟ้อสูงๆในขณะที่เขาบริหาร ดังนั้น ภาครัฐจึงมักแก้ไขความล้มเหลวด้วยการเปลี่ยนสูตรการคำนวณเงินเฟ้ออย่างเป็นทางการ โดยตัดค่าใช้จ่ายหมวดต่างๆที่ทำให้ตัวเลขเงินเฟ้อไม่สวย อกกไปจากสูตรการคำนวณ แต่ชาวบ้านไม่สามารถตัดรายจ่ายอันนั้นออกไปจากการดำรงชีวิตปกติ เว้นแต่จะอพยพไปอยู่หลังเขา ไม่ยุ่งเกี่ยวกับใคร ดังนั้น เมื่อคุณนำตัวเลขเงินเฟ้อที่เป็นทางการมาใช้ คุณจึงควรปรับตัวเลขเงินเฟ้อนั้นกลับให้ใกล้เคียงกับเงินเฟ้อที่แท้จริง

ในบ้านเราไม่มีหน่วยงานที่ช่วยคำนวณหาอัตรางินเฟ้อที่แท้จริง แต่ที่สหรัฐมีกลุ่มคนที่ข้องใจกับตัวเลขเงินเฟ้อของภาครัฐ ได้คำนวณหาอัตราเงินเฟ้อที่แท้จริง และเผยแพร่ตัวเลขนี้ ซึ่งอยู่ที่ประมาณสองเท่าของอัตราที่ทางการประกาศ หากคุณจะใช้อัตรานี้มาประมาณอัตราเงินเฟ้อที่แท้จริง เพื่อประมาณการความสามารถในการประกอบการของคุณ คุณจะต้องใช้ตัวคูณสองกับอัตราเงินเฟ้อที่ภาครัฐประกาศ เช่น หากว่ารัฐบาลประกาศว่าปีนี้อัตราเงินเฟ้อสี่เปอร์เซนต์ ก็เป็นไปได้ว่า เงินเฟ้อจริงๆอาจจะอยู่ที่แปดเปอเซนต์ หากธุรกิจของคุณมีผลประกอบการโตขึ้นแปดเปอร์เซนต์ นั่นก็หมายความว่าที่จริงแล้วคุณขายได้เท่าเดิม ตัวเลขที่สูงขึ้นมาจากเงินเฟ้อตะหาก เช่นราคาขายแพงขึ้น

อ่านผลการประกอบการครั้งหน้า อย่าลืมเผื่อใจกับเงินเฟ้อด้วยนะครับ

วันจันทร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ข้อพิจารณาในการเลือกรูปแบบการประกอบธุรกิจ : บุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล ?

ปีที่แล้ว มีข่าวหนึ่งเป็นกรอบเล็กๆ แทรกอยู่ในหน้าข่าวเศรษฐกิจ เนื้อข่าวกล่าวถึงกรมสรรพากรจะขยายฐานภาษีให้กว้างออกไปมากขึ้น ซึ่งหมายความถึง การดึงคนเข้ามาอยู่ในระบบภาษี และแน่นอนว่า ไม่ได้หวังจะใช้วิธีการเชิญชวนเป็นหลัก

หลังจากนั้น ก็มีข่าวคราวในแวดวงการค้า โดยเริ่มจากธุรกิจใหญ่ๆว่า กรมสรรพากรได้ขอรายชื่อลูกค้าและยอดการสั่งซื้อสินค้าจากบริษัทใหญ่ๆ บริษัทยาหลายๆบริษัทเล่าให้ฟังว่า จะต้องบันทึกข้อมูลเลขประจำตัวสิบสามหลักของลูกค้าให้กับกรมสรรพากรด้วย

ข้อมูลที่ส่งให้กรมสรรพากรก็เช่น ชื่อผู้ซื้อ เลขที่บัตรประชาชน ยอดซื้อ เป็นต้น กรมสรรพากรจะนำข้อมูลเหล่านี้เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของกรมสรรพากรเพื่อประมวลผล ทำให้ทราบถึงการซื้อสินค้าของหน่วยภาษีแต่ละราย ซึ่งก็คือเราๆท่านๆทั้งหลายนี่แหละ ซึ่งหากกรองเอาเฉพาะข้อมูลที่เป็นการสั่งซื้อสินค้าออกมา ก็พอจะประมาณการรายรับของหน่วยภาษีนั้นๆได้ในระดับหนึ่ง

สมมุติเช่น ร้านของคุณ มียอดการสั่งซื้อยาจากบริษัทต่างๆ เป็นยอดรวมเดือนละสองแสนบาท มาตลอดปีที่ผ่านมา ย่อมเป็นเรื่องยากที่คุณจะทำให้กรมสรรพากรเชื่อว่า คุณมีรายรับเดือนละสี่ห้าหมื่นบาทในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ในเวลาสิ้นปี ซึ่งเป็นการเลี่ยงภาษีด้วยการหลบราบรับ แบบที่ธุรกิจส่วนใหญ่นิยมทำกัน

การขยายฐานภาษี โดยการเก็บข้อมูลการซื้อสินค้านี้ เมื่อขยายกว้างไปเรื่อยๆ จะทำให้ธุรกิจต่างๆ เลี่ยงภาษีด้วยการปิดบังยอดขายได้ยากขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งโทษตามกฎหมายภาษีนี้ ย้อนหลังกลับไปคำนวณภาษีและเบี้ยปรับเงินเพิ่มต่างๆได้มากจนคุณคาดไม่ถึงเลยทีเดียว จึงเริ่มไม่คุ้มค่าที่จะเลี่ยงภาษีแบบนี้

มาเตรียมตัวเองให้พร้อม เพื่อที่จะเข้าสู่ระบบภาษีอย่างมีการเตรียมตัวที่ดีกันดีกว่า



ในการเตรียมตัวเข้าสู่ระบบภาษีนั้น ผมเห็นว่า เราควรย้อนกลับมาพิจารณาถึงการเลือกรูปแบบในการประกอบธุรกิจกันใหม่ว่า ธุรกิจของเราควรจะเป็นแบบบุคคลธรรมดาต่อไป หรือว่า จะเป็นรูปแบบอื่น จึงจะเหมาะสมกับเราที่สุด

การเลือกรูปแบบการจัดองค์การของธุรกิจเรา (Business Entity)  หรือในภาษาที่สรรพากรใช้เรียกผู้เสียภาษีก็คือ หน่วยภาษี ผมเห็นว่า หัวข้อที่ควรคำนึงถึงในการเลือกรูปแบบการจัดตั้งองค์การ ประกอบด้วย 3 เรื่องใหญ่ๆเป็นอย่างน้อย คือ

1) ภาษี
2) ความเสี่ยง
3) ความเหมาะสมในการบริหาร


1) ภาษี  

แม้ว่า เราจะเริ่มต้นคิดมากจากแรงผลักดันด้านภาษี ทำให้เรากลับมาคิดใหม่ถึงรูปแบบองค์การธุรกิจของเรา แต่ภาษีก็เป็นเพียงหัวข้อพิจารณาหัวข้อหนึ่งในหลายๆหัวข้อที่ควรจะพิจารณา
ซึ่งในเรื่องภาษี มีประเด็นที่เป็นข้อพึงตัดสินใจอยู่หลายประเด็น

ประเด็นแรก เรื่องอัตราภาษี หากว่าธุรกิจใดประกอบธุรกิจแบบบุคคลธรรมดา จะต้องนำรายได้จากธุรกิจนั้นมารวมคำนวณภาษีกับรายได้อื่นๆ เช่น ค่าเช่า ดอกเบี้ย เงินปันผล เมื่อหักรายจ่าย และค่าลดหย่อนแล้ว ก็นำไปคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งอัตราภาษี เป็นอัตราก้าวหน้า คือเงินได้บาทแรกๆ คุณอาจเสียภาษีน้อย แต่บาทหลังๆ เช่นที่เกิน สี่ล้านบาทขึ้นไป คุณจะถูกเก็บภาษีไป 35 %  เหลือเป็นของคุณแค่หกสิบห้าเปอร์เซนต์

ในขณะที่อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล มีอัตราภาษีสูงสุดแค่ 20% เท่านั้น

เมื่อเปรียบเทียบอัตราภาษีของหน่วยภาษีทั้งสองแบบแล้ว จะเห็นว่า หน่วยธุรกิจประเภทบุคคลธรรมดาจะเสียเปรียบในระยะยาว คือ หากมีเงินได้มากขึ้น ฐานเงินได้สูงขึ้น จะต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงกว่าหน่วยภาษีที่เป็นนิติบุคคล หากคุณเป็นธุรกิจที่มีเงินได้พึงประเมินน้อยกว่า หนึ่งล้านบาท คุณอาจจะเลือกประกอบธุรกิจแบบบุคคลธรรมดาได้ แต่เมื่อใดที่เกิน ขอให้คุณเริ่มคิดเผื่อไว้ถึงการเปลี่ยนรูปแบบการประกอบธุรกิจเป็นแบบนิติบุคคล

อีกประเด็นหนึ่งของภาษีเงินได้ คือ การหักค่าใช้จ่าย เราได้ทราบอยู่แล้วว่า เงินได้พึงประเมินที่จะนำมาคำนวณภาษี คือรายได้หลังหักค่าลดหย่อน และค่าใช้จ่าย หมายความว่า ถ้าหักค่าใช้จ่ายแล้ว เหลือเท่าไหร่ค่อยเอาไปประเมินภาษี เป็นเช่นนี้ทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล

ถ้าไม่เหลือเงินได้พึงประเมิน คุณก็ไม่ต้องเสียภาษี

ธุรกิจที่เป็นหน่วยภาษีแบบบุคคลธรรมดา กรมสรรพากรเปิดช่องให้เลือกหักค่าใช้จ่ายได้สองวิธีคือ หักแบบเหมา กับหักตามที่จ่ายจริง

ธุรกิจค้าขายเล็กๆน้อยๆมักจะชอบใช้วิธีการหักแบบเหมา เพราะง่ายและ ไม่ต้องเก็บข้อมูล ไม่ต้องทำบัญชี  และหลบเรื่องรายรับได้ง่าย  ซึ่งอัตราการหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาของธุรกิจร้านขายยาอยู่ที่ 80 เปอร์เซนต์ หมายความว่า กรมสรรพากรอนุมานเอาว่า ในหนึ่งร้อยบาทที่เราขายยาไป เราจะมีกำไรยี่สิบบาท

ในความเป็นจริง เราก็รู้อยู่ว่ามาร์จิ้น หรืออัตรากำไรที่ร้านจะได้จากการขายยา ไม่ค่อยจะถึงยี่สิบเปอร์เซนต์หรอก เพราะการแข่งขันกันตัดราคา ไหนจะมีค่าใช้จ่าเรื่องค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าสถานที่ขาย ค่าแรงตัวคุณเอง ค่าจ้างเภสัชกร เรียกได้ว่า อัตราค่าใช้จ่ายแบบเหมา เหมาะสำหรับการใช้เพื่อหลบรายได้ แต่เมื่อคุณจะต้องเข้าสู่ระบบภาษี การหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาจะทำให้คุณเสียเปรียบมหาศาล

อย่าลืมหลักการคำนวณภาษีที่ว่า จะคำนวณภาษีจากเงินได้พึงประเมิน คือรายได้หักค่าใช้จ่าย และหักค่าลดหย่อนตามที่กฎหมายกำหนด

ถ้าเรามีค่าใช้จ่ายเยอะ เราก็มีเหลือเป็นเงินได้พึงประเมินน้อยทำให้เสียภาษีน้อยลง

ธุรกิจบางแห่งใช้แนวทางนี้ในการวางแผนภาษี โดยการทำให้ค่าใช้จ่ายเยอะๆ แต่ต้องไม่เป็นรายจ่ายต้องห้ามตามประกาศของกรมสรรพากรนะ

คุณอาจสงสัยว่า ธุรกิจมีแต่ต้องการลดรายจ่าย เพื่อให้ได้กำไรสุทธิมากๆ ถ้าเราไปเพิ่มรายจ่ายให้มาก ธุรกิจมิเจ๊งเหรอ

รายจ่ายบางอย่าง ยิ่งมาก ผู้ถือหุ้นยิ่งมั่งคั่งมากขึ้น ในระยะสั้นอาจดูเหมือนขาดทุน แต่เป็นการขาดทุนแบบมั่งคั่งขึ้นเรื่อยๆ นั่นก็คือรายจ่ายเพื่อการลงทุน

สมมุติว่า คุณเปิดร้านขายยา คุณมีกำไรเมื่อหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนแล้ว เป็นเงินได้พึงประเมินถึงสองล้านบาทต่อปี ถ้าคุณเป็นหน่วยภาษีแบบบุคคลธรรมดา คุณจะต้องเสียภาษีเป็นเงิน 365,000 บาท แต่ถ้าคุณเป็นหน่วยภาษีประเภทนิติบุคคล คุณจะเสียภาษี 350,000 บาท

แต่ถ้าคุณคาดการรายรับของคุณได้ล่วงหน้าก่อนสิ้นปี แล้วคุณก็เลยไปเปิดสาขาที่สอง โดยเสียค่าเซ้งตึกระยะเวลาสิบปีเป็นเงินสามล้านบาท(ทยอยหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ปีละสามแสนบาท) ค่าตกแต่งอีกห้าแสน ค่าใช้จ่ายอื่นๆเกี่ยวกับการสร้างสาขาที่สอง รายจ่ายที่เพิ่มมานี้ ทำให้คุณมีกำไรลดลง เหลือเป็นเงินได้พึงประเมินแค่ล้านกว่าๆ คำนวณภาษีออกมาเหลือเพียงแสนกว่าบาททั้งนิติบุคคล และบุคคลธรรมดา

แต่ในความเป็นจริงก็คือ คุณเป็นเจ้าของร้านขายยาสองร้าน คุณมั่งคั่งขึ้น แม้ว่า สาขาที่สองยังไม่ได้สร้างรายได้ให้คุณ แต่ถ้าการบริหารจัดการของคุณดีพอ เมื่อเริ่มอยู่ตัว คุณจะมีรายได้เพิ่มเป็นสองเท่า กำไรเพิ่มขึ้นมากกว่าการมีร้านขายยาร้านเดียว และเมื่อตัวเลขเงินได้พึงประเมินเป็นบวกมากๆ คุณก็อาจจะคิดถึงการเพิ่มค่าใช้จ่ายด้วยการลงทุนในสาขาที่สาม ผ่านไประยะหนึ่ง คุณจะเปิดสาขาใหม่ได้เร็วขึ้น และในเวลาไม่นาน คุณก็จะมีอำนาจต่อรองเหนือผู้ขายสินค้าให้คุณ จนคุณสามารถยื่นเงื่อนไขเพื่อให้ผู้ขายยอมรับ

วิธีนี้ เป็วิธีที่ห้างค้าปลีกนิยมทำ เมื่อมีจำนวนสาขามากๆ ห้างก็จะขอเงื่อนไขเรื่องระยะเวลาชำระเงิน ซึ่งบางครั้งอาจยืดได้นานถึง 180 วัน หรือครึ่งปีเลยทีเดียว

สมมุติว่า ห้าง A ซื้อสินค้าจาก บริษัท B เดือนละหนึ่งแสนบาท ซื้อเป็นเงินเชื่อ แต่ขายเป็นเงินสด สมมุติว่าขายไปในราคาเท่าทุนด้วยซ้ำ เท่ากับว่าห้าง A ได้เงินจากบริษัท B มาหมุนเดือนละหนึ่งแสน หกเดือนก็หกแสน ถ้าซื้อของจากสิบบริษัท ห้าง A ก็จะมีเงินมาหมุนฟรีๆ หกล้านบาท เงินนี้สามารถนำไปขยายสาขาถัดไปได้เลย เป็นการขอยืมเงินจากคู่ค้ามาขยายสาขาโดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ย ยิ่งขยายสาขามาก ยอดขายยิ่งมาก เงินหมุนเวียนก็ยิ่งมาก ความมั่งคั่งก็มากขึ้น โดยที่ตัวเลขทางบัญชีของคุณยังอาจแสดงเป็นตัวแดงว่าขาดทุนอยู่ก็ได้  แต่จะกลัวอะไร เพียงแค่หยุดขยายสาขา หยุดเพิมรายจ่าย แต่ละสาขาของจะกลับมาช่วยกันสร้างกำไรอย่างเร็วจี๋ไม่ใช่เหรอ

ร้านคุณก็อาจใช้วิธีการนี้ในการวางแผนภาษีก็ได้ แต่คุณต้องเริ่มจากการเปลี่ยนวิธีการหักค่าใช้จ่าย เป็นแบบหักค่าใช้จ่ายตามจริงเสียก่อน


2)
ความเสี่ยง

การทำธุรกิจ ย่อมมีความเสี่ยงที่จะผิดพลาด การขาดทุนจนธุรกิจล้มละลายเป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่ถ้าการที่ธุรกิจล้มละลาย ทำให้เจ้าของธุรกิจต้องสิ้นเนื้อประดาตัวไป แล้วต่อไปจะมีใครกล้าทำธุรกิจล่ะ หากไม่มีใครกล้าทำธุรกิจ รัฐจะเก็บภาษีจากไหน เพราะลำพังเก็บภาษีเงินได้จากคนทั่วไป ก็เหมือนกับการรีดเลืดจากปู นโยบายของเกือบทุกรัฐบาลในโลกนี้ จึงต้องการส่งเสริมธุรกิจ เพื่อจะได้เก็บภาษีมาใช้ในการบริหารประเทศ

ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาของการมี “นิติบุคคล” ซึ่งความหมายตามชื่อก็คือบุคคลตามกฎหมาย เป็นบุคคลที่กฎหมายสมมุติขึ้น มีสิทธิและหน้าที่บางอย่างคล้ายบุคคลธรรมดา คือ มีสิทธิครอบครองสินทรัพย์ได้ มีสิทธิเป็นหนี้ได้ สามารถประกอบธุรกิจได้ และก็ล้มละลายได้

นิติบุคคล เป็นบุคคลตามกฎหมายที่แยกออกมาจากเจ้าของกิจการ มีสิทธิและหน้าที่ที่แยกออกมาต่างหาก เมื่อธุรกิจไม่เป็นไปตามคาด เกิดเจ๊งขึ้นมา ก็เสียหายเฉพาะทรัพย์สินที่นิติบุคคลนั้นเป็นเจ้าของอย่างชัดเจน ส่วนทรัพย์สินที่เป็นของเจ้าของนิติบุคคลนั้น เป็นคนละส่วนกัน หากบริษัทไปกู้เงินมาใช้ในกิจการ แล้วไม่มีปัญญาจ่าย เจ้าหนี้สามารถบังคับชำระหนี้ได้เพียงจากทรัพย์สินของบริษัท จะเลยเถิดไปยึดทรัพย์เจ้าของบริษัทมาชำระหนี้ด้วยไม่ได้ เว้นแต่ค่าหุ้นที่เจ้าของยังจ่ายไม่ครบเท่านั้น

เจ้าของธุรกิจที่เจ๊ง จึงยังรักษาทรัพย์สินไว้ได้ส่วนหนึ่ง ไม่ถึงกับสิ้นเนื้อประดาตัวไปแบบการประกอบธุรกิจในรูปบุคคลธรรมดา จึงเป็นการลดความเสี่ยงจากการสิ้นเนื้อประดาตัวหากมีเหตุผิดคาดในธุรกิจ

นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงของบางธุรกิจที่อาจเฉียด หรือเสี่ยงในการละเมิดกฎหมายบางอย่าง หากประกอบธุรกิจในรูปนิติบุคคล ก็จะกลายเป็นนิติบุคคลนั้นเป็นผู้รับความเสี่ยงในการละเมิดกฎหมายไป แทนที่จะเป็นตัวเจ้าของร้าน แม้ว่าจะมีบางบทบัญญัติกล่าวว่า ผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลต้องรับผิดทางอาญาในการกระทำของนิติบุคคล แต่ก็มีผลในทางจิตใจของเจ้าของธุรกิจมากทีเดียว เพราะชื่อที่โดนกาหัว ไม่ใช่ชื่อเจ้าของกิจการ แต่เป็นชื่อนิติบุคคล  

เรียกว่า เป็นการตัดความเสี่ยงส่วนหนึ่งไปไว้กับนิติบุคคลแทน

การจัดตั้งเป็นนิติบุคคล  โดยเฉพาะในรูปแบบริษัท จึงเป็นวิธีบริหารความเสี่ยงอย่างหนึ่งสำหรับคนที่ชอบปลอดภัยไว้ก่อน


3) ความเหมาะสมในการบริหาร

สมมุติว่าคุณเปิดร้านขายยาริมถนนหรือในซอย คุณมองแนวโน้มแล้วว่า ในอนาคต ธุรกิจจะอิงกับที่จอดรถตามไลฟ์สไตล์ของคนเมืองยุคนี้ ที่มีรถเป็นปัจจัยที่ห้า

คุณมีแผนจะเปิดร้านในห้างบ้าง แต่จะทำอย่างไรเมื่อเงินทุนไม่พอ โดยไม่ต้องรบกวนเพื่อนฝูงพี่น้อง?

คุณอาจใช้วิธีกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน หรือไม่ก็ชวนเพื่อนมาร่วทุน

ถ้าคุณขอกู้เงินในนามของบุคคลธรรมดา ธนาคารกลับจะให้ความเชื่อถือต่ำกว่าการขอกู้ในนามบริษัท ทั้งที่ในความเป็นจริง เรารู้แล้วว่า หากบริษัทไม่จ่ายหนี้ ธนาคารจะเข้ามาบังคับชำระหนี้ได้เพียงทรัพย์สินของบริษัท ซึ่งเป็นทรัพย์สินส่วนเดียวของเจ้าของ ผิดกับบุคคลธรรมดาเป็นหนี้ ที่ธนาคารสามารถบังคับชำระหนี้ได้จนคนๆนั้นหมดเนื้อหมดตัวได้เลยทีเดียว แต่นี่คือแนวทางพิจารณาของสถาบันการเงินทั้งหลาย

หรือหากคุณจะชักชวนเพื่อนฝูงมาเข้าหุ้น การเป็นนิติบุคคลอย่างบริษัทจำกัด จะเป็นการแยกทรัพย์สินตัวเจ้าของกิจการ และทรัพย์สินของธุรกิจให้ชัดเจน ทำให้รู้กำไรขาดทุนที่แน่นอนของธุรกิจ การแบ่งผลกำไรในรูปปันผลจากหุ้นจึงทำได้ชัดเจน ช่วยลดเหตุแห่งความหมางใจกันจากความไม่ชัดเจนของเงิน

การจัดตั้งธุรกิจให้เป็นนิติบุคคล เป็นการเปิดโอกาสให้เป็นเจ้าของธุรกิจร่วมกัน ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าของร้านร่วมกันทุกคน จึงเป็นการเปิดทางให้คุณใช้กลยุทธ์ทางการบริหารที่หลากหลายมากขึ้น

เป็นต้นว่า การชักชวนการชักชวนคู่แข่งให้นำร้านมาเข้าร่วมกันเป็นนิติบุคคลใหม่ หรือการรวมร่างร้านขายยาสองร้านให้เป็นร้านเดียวสองสาขา ลดการแข่งขันกันเอง เอาสองหัวที่คอยแต่จะคิดเข่นกันเอง เป็นการร่วมกันวางแผนเดินไปข้างหน้า ลดค่าใช้จ่ายจากการสต๊อกยาที่ซ้ำซ้อน  ลดพื้นที่ในการวางจำหน่าสินค้าที่มีการขายน้อยให้เป็นหน้าที่ของสาขาใดสาขาหนึ่ง ทำให้มีพื้นที่เหลือที่จะนำสินค้าใหม่เข้ามาวางขายในร้าน   โดยที่เจ้าของร้านเดิม ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าของร้านสองสาขาทั้งสองคน เพียงแต่ต้องกำหนดอำนาจในการบริหารให้ชัดเจน

บริษัทหลายแห่ง ยังนิยมให้สิทธิบุคคลากรสำคัญของธุรกิจในการถือหุ้นของบริษัท  ซึ่งวิธีนี้จะช่วยสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของให้กับบุคคลากรคนนั้น เป็นการผูกบุคคลากรคนนั้นให้อยู่กับธุรกิจนานๆ ไม่ให้หนีไปไหน การให้ถือหุ้น นอกจากจะได้ชื่อว่าเป็นเจ้าของแล้ว ยังมีสิทธิได้รับเงินปันผลจากการประกอบกิจการได้กำไรของบริษัทอีกด้วย จึงเป็นกลยุทธ์ที่ระยะหลังนิยมนำมาใช้ในการบริหารงานบุคคลด้วย

คุณอาจนำวิธีนี้มาใช้ในการดึงเภสัชกรให้อยู่เป็นผู้มีหน้าที่ปฎิบัติการในร้านก็ได้ ซึ่งก็เป็นรูปแบบหนึ่งในการสร้างความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการและเภสัชกรประจำร้านได้ แน่นอนว่า คุณต้องผนวกไว้เป็นเงื่อนไขลงท้ายที่ว่า หากเภสัชกรท่านนั้นจะลาออกจากร้านท่าน ต้องขายหุ้นคืนท่านในอัตราที่กำหนดไว้ เพื่อที่คุณจะได้นำหุ้นนั้นไปเภสัชกรผู้มีหน้าที่ปฎิบัติการในร้านท่านคนใหม่


นี่เป็นส่วนหนึ่งของข้อพิจารณาในการเลือกรูปแบบในการจัดตั้งองค์การของธุรกิจ ไหนๆคุณก็ต้องคิดถึงการวางแผนภาษีทั้งที ก็ย้อนคิดลึกลงไปถึงการวางรูปแบบการจัดตั้งธุรกิจที่เหมาะสมกับตัวคุณเลยแล้วกัน

วันศุกร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ร้านยาไทยในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน



ในการนำเสนอผลการวิจัยเรื่องผลกระทบของประชาคมเศณษฐกิจอาเซียนต่อร้านขายยา ของท่านอาจารย์ ดร.ภก.นิลสุวรรณ ลีลารัศมีนั้น ได้นำเสนอความสามารถที่ร้านขายยาจะต้องมี 7 สาขา คือ
1)    ระบบการสั่งซื้อรวม เพื่อให้ได้สินค้ามาในต้นทุนที่แข่งขันได้กับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่จะเข้ามาพร้อมกับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
2)    มีระบบการขนส่งเป็นของตัวเอง เพื่อสนับสนุนระบบการสั่งซื้อรวม
3)    มีทักษะทางด้านการบริหารจัดการ
4)    มีบริการทางวิชาชีพที่มีคุณภาพ
5)    มีการสร้างโอกาสก้าวหน้าของบุคคลากร
6)    มีเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพ สามารถสนับสนุนงานในข้ออื่นๆ
7)    มีเงินลงทุนที่เพียงพอ

นี่เป็นความสามารถที่ร้านยาจะต้องมี หากจะอยู่ในตลาดเดียวกันกับรายใหญ่ มุ่งหมายจะกินเค้กก้อนเดียวกันกับยักษ์

อย่างไรก็ตาม หากไม่สามารถต่อสู้ได้ Michel E Porter ปรมาจารย์ด้านกลยุทธ์การแข่งขัน ได้แนะนำว่า ความได้เปรียบในการแข่งขัน มี 2 อย่างคือ ต้นทุนต่ำ หรือไม่ก็ ทำให้ต่าง 

หากเราไม่สามารถขายพาราเซ็ตตามอลในราคาต่ำเท่ากับที่ชาวบ้านเขาขาย เราก็ต้องไปขายอย่างอื่นซึ่งในสายตาของผู้ซื้อมองว่าไม่เหมือนกันแทน เป็นต้นว่า ยาจันทลีลา ที่เป็นยาสามัญประจำบ้านตำรับไทยแก้ไข้ หรือ เครื่องหอมกลิ่นมะลิ เพื่อให้ผ่อนคลาย หรือกลิ่นยูคาลิปตัส แก้ไข้ แก้ปวดหัว ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาของลูกค้าได้เหมือนกันบนวิถีทางที่แตกต่างกันของผู้ขาย หรือเสียงดนตรีที่ช่วยให้ผ่อนคลาย

แน่นอนว่าลูกค้ากลุ่มใหญ่ย่อมมองว่าพาราเซ็ตตามอลต่างหากที่เป็นคำตอบสำหรับเขา นั่นคือกลุ่มลูกค้าที่ใครๆก็หมายปอง ซึ่งรวมถึงยักษ์เจ้าตลาดด้วย แต่ถ้าเราไม่สามารถแข่งขันได้ในสิ่งที่เสนอให้เหมือนกัน เราก็ขายไม่ได้ เราจำเป็นต้องเบนเข็มออกไปหาสิ่งที่แตกต่างกัน การสร้างกลุ่มลูกค้าใหม่สำหรับสิ่งที่เรามี แม้จะเป็นกลุ่มลูกค้ากลุ่มเล็ก แต่ตราบเท่าที่เราไม่ต้องแข่งกับเจ้าตลาด และกลุ่มลูกค้านั้นใหญ่พอที่จะพยุงธุรกิจของเราได้ มันย่อมหายใจได้ทั่วท้องกว่าการอยู่ตลาดเดียวกับยักษ์ใหญ่ที่จ้องจะฮุบทั้งตลาด นั่นคือการแบ่งส่วนการตลาดใหม่โดยเล็มๆชายขอบการตลาดที่เจ้าตลาดสยายกำลังไปครอบคลุมได้ไม่ทั่วถึงออกมาสร้างเป็นกลุ่มความต้องการใหม่ หรือส่วนการตลาดส่วนใหม่

พาราเซ็ตตามอลแม้ว่าจะดี แต่ก็มีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ชอบสารสังเคราะห์ ไม่ชอบกินยา ชอบผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ หรือแพ้พาราเซ็ตตามอล กลุ่มลูกค้าเหล่านี้คือชายขอบการตลาดของพาราเซ็ตตามอล หากว่าเราหาพบลักษณะร่วมของกลุ่มที่มีขนาดใหญ่เพียงพอ และเราสามารถตอบสนองความต้องการได้ นั่นจะเป็นการหั่นเค้กจากก้อนใหญ่ออกมาเป็นก้อนย่อย สร้างเป็นตลาดใหม่ของเราเองที่ยักษ์ใหญ่ยังเอื้อมมือมาไม่ถึง

แต่เมื่อใดก็ตามที่ตลาดที่เราสร้างใหม่นี้ มันใหญ่เพียงพอที่รายใหญ่จะเคี้ยวได้เต็มคำ เราย่อมต้องรับการรุกเข้ามา แต่ก็อีกนั่นแหละ ไม่มีใครบอกว่า การแบ่งส่วนการตลาดสามารถทำได้แค่ครั้งเดียว เราสามารถและเล็มชายขอบการตลาดของรายใหญ่ไปได้เรื่อยๆเท่าที่เราจะมีจินตนาการ และมองเห็นโอกาสก่อน จากการแบ่งส่วนการตลาดในด้านผลิตภัณฑ์ เราอาจย้ายไปขอแชร์ตลาดในด้านพื้นที่ตั้งร้าน แบบชิดรั้วบ้านลูกค้า ถ้าไม่ซื้อก็ให้รู้ไปอะไรประมาณนั้น หรือจะไปเฉือนด้วยบริการทางวิชาชีพที่เข้าถึงใจลูกค้ามากกว่าการตะโกนต้อนรับจากหลังเคาน์เตอร์แบบแห้งแล้งตามหน้าที่ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง

ความได้เปรียบของเราก็คือ การที่เป็นรายเล็ก มีความคล่องตัวกว่า ไม่ต้องอาศัยการตัดสินในตามลำดับขั้นอันยืดยาว เพียงแค่เถ้าแก่เห็นโอกาสก็สั่งลุยได้แล้ว อีกทั้งด้วยความเป็นธุรกิจขนาดเล็ก ไม่ต้องอาศัยทรัพยากรในการหล่อเลี้ยงหน่วยงานมากนัก จึงสามารถเบียดแทรกเข้าไปในตลาดที่เล็กๆได้ ซึ่งผิดกับธุรกิจขนาดใหญ่ ที่ต้องมองหาแต่ตลาดที่มีขนาดใหญ่เพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงปากท้องของทั้งหน่วยงาน

แต่ข้อเสียของรายเล็กคือ ไม่มีโอกาสให้ทำผิดพลาดมากนัก ด้วยทรัพยากรที่น้อยกว่าในเชิงเปรียบเทียบ หากต้องติดแหง็กอยู่ในตลาดใดตลาดหนึ่ง หรือการบริหารผิดพลาดที่เกิดการสูญเสียใหญ่ เพียงไม่นานก็จะหมดทุน และหมดความสามารถในการแข่งขันในที่สุด ไม่สามารถยืนระยะได้นาน เปรียบได้กับทีมฟุตบอลสองทีมในลีก ที่มีทีมตัวจริงสิบเอ็ดคนแรกที่เก่งพอๆกัน แต่ทีมที่จะไปได้ดีกว่า คือทีมใหญ่ที่มีนักฟุตบอลตัวสำรองที่ฝีเท้าดีไว้คอยสลับเปลี่ยน แม้ว่าจะยังไม่ได้ลงเล่น ก็ส่งผลต่อทีมด้วยการทำให้ทีมกล้าเสี่ยงที่จะเล่น ที่จะบาดเจ็บเพราะมีกำลังทดแทนที่มีความสามารถใกล้เคียงกัน ซึ่งต่างจากทีมเล็ก

ในความคิดของผม ทักษะที่จำเป็นในการทำธุรกิจร้านยานั้น มี 2 อย่าง คือทักษะทางด้านวิชาชีพ และทักษะทางด้านการบริหารจัดการ

ทักษะทางด้านวิชาชีพสำหรับร้านขายยา ก็คือทักษะในศาสตร์ทั้งหลายที่เกี่ยวกับสุขภาพตั้งแต่เภสัชศาสตร์ โภชนาการ วิทยาศาสตร์การกีฬา แพทย์แผนไทย แพทย์แผนทางเลือกต่างๆ เป็นต้น ยิ่งมีทักษะมากเท่าไหร่ ก็เหมือนกับมีอาวุธมากเท่านั้นที่เราสามารถเอามาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับสินค้าและบริการในร้านของเรา ตราบเท่าที่ใบอนุญาตขายยาของเรายังครอบคลุมถึง

อย่างไรก็ตาม การมีอาวุธดี และหลากหลาย ไม่ได้รับประกันถึงผลสำเร็จเสมอไป ร้านที่เก่งที่สุดในศาสตร์ด้านนั้นๆ ไม่แน่ว่าจะอยู่รอดในธุรกิจ แบบเดียวกับสินค้าที่ดีที่สุดในตลาดต้องปิดกิจการก่อนเพื่อน มีให้เห็นถมเถไป

ความสามารถในการนำทักษะทางด้านวิชาชีพเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจต่างหากที่จะช่วยส่งเสริมให้ความรู้ที่มีอยู่ส่งประกายยิ่งขึ้น เปรียบได้กับดาบวิเศษในมือเด็กน้อย ย่อมไม่เกิดอันตรายกับคู่ต่อสู้เท่ากับลูกเบสบอลธรรมดาในมือของพิทเชอร์ นักขว้างลูกเบสบอล

การนำทักษะทางด้านวิชาชีพไปประยุกต์ใช้ในธุรกิจ ก็คือทักษะในการบริหารจัดการธุรกิจนี่เอง หากในร้านใดที่มีผู้ชำนาญการทั้งสองด้าน ก็เหมือนกับจอมยุทธ์ถือดาบวิเศษ แม้จะไม่สามารถรับประกันได้ว่า ร้านนั้นจะเก่งกาจที่สุด แต่สามารถบอกได้ว่า ตราบใดที่ร้านนั้นไม่ยอมแพ้ไปเอง ร้านนั้นจะเป็นร้านที่ล้มหายตายจากไปช้าที่สุด

ทักษะในด้านบริหารจัดการมีหลายด้าน ตั้งแต่การบริหารทั่วไป การตลาด การเงิน บริหารงานบุคคล การวางแผนกลยุทธ์ ฯลฯ เยอะแยะไปหมด

เราไม่จำเป็นต้องรู้ให้ครบ ท่องจำทุกทฤษฎีการบริหารให้เข้ามาอยู่ในหัว เพราะการมีความรู้ไม่สำคัญเท่ากับความสามารถในการนำไปใช้ รู้แค่พอรู้ แล้วนำไปใช้จริง ทำไปหาความรู้เพิ่มเติมไป แค่รับรู้ว่าเรามีเครื่องมือในการนำพาธุรกิจร้านขายยาของเราไม่น้อยกว่าสองอย่างนี้ แล้วใช้ให้สอดคล้องประสานกัน เหมือนกับขาสองข้างที่ต้องช่วยกันค้ำยันร่างกายไปข้างหน้า ไม่ว่าจะเดินหรือวิ่ง ไม่ใช่ด้วยขาข้างใดข้างหนึ่งเพียงข้างเดียว

ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาของโครงการพัฒนศักยภาพผู้ประกอบการร้านยา NANO MBA ที่สมาคมร้านขายยาจัดขึ้นมาแล้ว 3 รุ่น และกำลังจะเปิดรับสมัครรุ่นที่สี่ในเดือนกรกฎาคม

หลักสูตรพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการร้านยาที่สมาคมร้านขายยาจัดขึ้น เป็นหลักสูตร 36 ชั่วโมง ใน 6 สัปดาห์ เพื่อให้ความรู้ด้านบริหารจัดการแก่ผู้ประกอบการ เมื่อเทียบความรู้ 36 ชั่วโมงกับความรู้ด้านบริหารจัดการทั้งโลกแล้ว ถือว่าความรู้ในหลักสูตรนี้เล็กน้อยมาก

แต่อย่างที่กล่าวมาแล้วว่า เราไม่จำเป็นต้องรู้ให้มากที่สุด เพียงแค่รู้เท่าที่จำเป็น รู้ว่ามีขาอยู่สองข้าง รู้ว่าจะใช้งานมันได้อย่างไร ที่เหลือก็ไปฝึกไปค้นหาเองในระหว่างที่ทดลองเดิน ถึงเราจะไม่รู้ว่าขาแต่ละข้างมีกล้ามเนื้อกี่มัด มีเส้นเลือดกี่เส้นเราก็สามารถเดินได้ไม่ใช่หรือ

หลักสูตรพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการร้านยาของสมาคมร้านขายยาจัดขึ้น มิได้มุ่งหวังเพียงให้ผู้เข้ารับการอบรมได้ความรู้ด้านบริหารจัดการเท่านั้น หากแต่ยังได้ออกแบบหลักสูตรให้ผู้เข้รับการอบรมได้เพื่อนได้สังคมของกลุ่มผู้ประกอบการด้วยกันเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างกัน


ติดต่อเพื่อขอข้อมูลหลักสูตรพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการร้านยา รุ่น 4 ได้ที่สมาคมร้านขายยา