วันจันทร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ข้อพิจารณาในการเลือกรูปแบบการประกอบธุรกิจ : บุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล ?

ปีที่แล้ว มีข่าวหนึ่งเป็นกรอบเล็กๆ แทรกอยู่ในหน้าข่าวเศรษฐกิจ เนื้อข่าวกล่าวถึงกรมสรรพากรจะขยายฐานภาษีให้กว้างออกไปมากขึ้น ซึ่งหมายความถึง การดึงคนเข้ามาอยู่ในระบบภาษี และแน่นอนว่า ไม่ได้หวังจะใช้วิธีการเชิญชวนเป็นหลัก

หลังจากนั้น ก็มีข่าวคราวในแวดวงการค้า โดยเริ่มจากธุรกิจใหญ่ๆว่า กรมสรรพากรได้ขอรายชื่อลูกค้าและยอดการสั่งซื้อสินค้าจากบริษัทใหญ่ๆ บริษัทยาหลายๆบริษัทเล่าให้ฟังว่า จะต้องบันทึกข้อมูลเลขประจำตัวสิบสามหลักของลูกค้าให้กับกรมสรรพากรด้วย

ข้อมูลที่ส่งให้กรมสรรพากรก็เช่น ชื่อผู้ซื้อ เลขที่บัตรประชาชน ยอดซื้อ เป็นต้น กรมสรรพากรจะนำข้อมูลเหล่านี้เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของกรมสรรพากรเพื่อประมวลผล ทำให้ทราบถึงการซื้อสินค้าของหน่วยภาษีแต่ละราย ซึ่งก็คือเราๆท่านๆทั้งหลายนี่แหละ ซึ่งหากกรองเอาเฉพาะข้อมูลที่เป็นการสั่งซื้อสินค้าออกมา ก็พอจะประมาณการรายรับของหน่วยภาษีนั้นๆได้ในระดับหนึ่ง

สมมุติเช่น ร้านของคุณ มียอดการสั่งซื้อยาจากบริษัทต่างๆ เป็นยอดรวมเดือนละสองแสนบาท มาตลอดปีที่ผ่านมา ย่อมเป็นเรื่องยากที่คุณจะทำให้กรมสรรพากรเชื่อว่า คุณมีรายรับเดือนละสี่ห้าหมื่นบาทในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ในเวลาสิ้นปี ซึ่งเป็นการเลี่ยงภาษีด้วยการหลบราบรับ แบบที่ธุรกิจส่วนใหญ่นิยมทำกัน

การขยายฐานภาษี โดยการเก็บข้อมูลการซื้อสินค้านี้ เมื่อขยายกว้างไปเรื่อยๆ จะทำให้ธุรกิจต่างๆ เลี่ยงภาษีด้วยการปิดบังยอดขายได้ยากขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งโทษตามกฎหมายภาษีนี้ ย้อนหลังกลับไปคำนวณภาษีและเบี้ยปรับเงินเพิ่มต่างๆได้มากจนคุณคาดไม่ถึงเลยทีเดียว จึงเริ่มไม่คุ้มค่าที่จะเลี่ยงภาษีแบบนี้

มาเตรียมตัวเองให้พร้อม เพื่อที่จะเข้าสู่ระบบภาษีอย่างมีการเตรียมตัวที่ดีกันดีกว่า



ในการเตรียมตัวเข้าสู่ระบบภาษีนั้น ผมเห็นว่า เราควรย้อนกลับมาพิจารณาถึงการเลือกรูปแบบในการประกอบธุรกิจกันใหม่ว่า ธุรกิจของเราควรจะเป็นแบบบุคคลธรรมดาต่อไป หรือว่า จะเป็นรูปแบบอื่น จึงจะเหมาะสมกับเราที่สุด

การเลือกรูปแบบการจัดองค์การของธุรกิจเรา (Business Entity)  หรือในภาษาที่สรรพากรใช้เรียกผู้เสียภาษีก็คือ หน่วยภาษี ผมเห็นว่า หัวข้อที่ควรคำนึงถึงในการเลือกรูปแบบการจัดตั้งองค์การ ประกอบด้วย 3 เรื่องใหญ่ๆเป็นอย่างน้อย คือ

1) ภาษี
2) ความเสี่ยง
3) ความเหมาะสมในการบริหาร


1) ภาษี  

แม้ว่า เราจะเริ่มต้นคิดมากจากแรงผลักดันด้านภาษี ทำให้เรากลับมาคิดใหม่ถึงรูปแบบองค์การธุรกิจของเรา แต่ภาษีก็เป็นเพียงหัวข้อพิจารณาหัวข้อหนึ่งในหลายๆหัวข้อที่ควรจะพิจารณา
ซึ่งในเรื่องภาษี มีประเด็นที่เป็นข้อพึงตัดสินใจอยู่หลายประเด็น

ประเด็นแรก เรื่องอัตราภาษี หากว่าธุรกิจใดประกอบธุรกิจแบบบุคคลธรรมดา จะต้องนำรายได้จากธุรกิจนั้นมารวมคำนวณภาษีกับรายได้อื่นๆ เช่น ค่าเช่า ดอกเบี้ย เงินปันผล เมื่อหักรายจ่าย และค่าลดหย่อนแล้ว ก็นำไปคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งอัตราภาษี เป็นอัตราก้าวหน้า คือเงินได้บาทแรกๆ คุณอาจเสียภาษีน้อย แต่บาทหลังๆ เช่นที่เกิน สี่ล้านบาทขึ้นไป คุณจะถูกเก็บภาษีไป 35 %  เหลือเป็นของคุณแค่หกสิบห้าเปอร์เซนต์

ในขณะที่อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล มีอัตราภาษีสูงสุดแค่ 20% เท่านั้น

เมื่อเปรียบเทียบอัตราภาษีของหน่วยภาษีทั้งสองแบบแล้ว จะเห็นว่า หน่วยธุรกิจประเภทบุคคลธรรมดาจะเสียเปรียบในระยะยาว คือ หากมีเงินได้มากขึ้น ฐานเงินได้สูงขึ้น จะต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงกว่าหน่วยภาษีที่เป็นนิติบุคคล หากคุณเป็นธุรกิจที่มีเงินได้พึงประเมินน้อยกว่า หนึ่งล้านบาท คุณอาจจะเลือกประกอบธุรกิจแบบบุคคลธรรมดาได้ แต่เมื่อใดที่เกิน ขอให้คุณเริ่มคิดเผื่อไว้ถึงการเปลี่ยนรูปแบบการประกอบธุรกิจเป็นแบบนิติบุคคล

อีกประเด็นหนึ่งของภาษีเงินได้ คือ การหักค่าใช้จ่าย เราได้ทราบอยู่แล้วว่า เงินได้พึงประเมินที่จะนำมาคำนวณภาษี คือรายได้หลังหักค่าลดหย่อน และค่าใช้จ่าย หมายความว่า ถ้าหักค่าใช้จ่ายแล้ว เหลือเท่าไหร่ค่อยเอาไปประเมินภาษี เป็นเช่นนี้ทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล

ถ้าไม่เหลือเงินได้พึงประเมิน คุณก็ไม่ต้องเสียภาษี

ธุรกิจที่เป็นหน่วยภาษีแบบบุคคลธรรมดา กรมสรรพากรเปิดช่องให้เลือกหักค่าใช้จ่ายได้สองวิธีคือ หักแบบเหมา กับหักตามที่จ่ายจริง

ธุรกิจค้าขายเล็กๆน้อยๆมักจะชอบใช้วิธีการหักแบบเหมา เพราะง่ายและ ไม่ต้องเก็บข้อมูล ไม่ต้องทำบัญชี  และหลบเรื่องรายรับได้ง่าย  ซึ่งอัตราการหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาของธุรกิจร้านขายยาอยู่ที่ 80 เปอร์เซนต์ หมายความว่า กรมสรรพากรอนุมานเอาว่า ในหนึ่งร้อยบาทที่เราขายยาไป เราจะมีกำไรยี่สิบบาท

ในความเป็นจริง เราก็รู้อยู่ว่ามาร์จิ้น หรืออัตรากำไรที่ร้านจะได้จากการขายยา ไม่ค่อยจะถึงยี่สิบเปอร์เซนต์หรอก เพราะการแข่งขันกันตัดราคา ไหนจะมีค่าใช้จ่าเรื่องค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าสถานที่ขาย ค่าแรงตัวคุณเอง ค่าจ้างเภสัชกร เรียกได้ว่า อัตราค่าใช้จ่ายแบบเหมา เหมาะสำหรับการใช้เพื่อหลบรายได้ แต่เมื่อคุณจะต้องเข้าสู่ระบบภาษี การหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาจะทำให้คุณเสียเปรียบมหาศาล

อย่าลืมหลักการคำนวณภาษีที่ว่า จะคำนวณภาษีจากเงินได้พึงประเมิน คือรายได้หักค่าใช้จ่าย และหักค่าลดหย่อนตามที่กฎหมายกำหนด

ถ้าเรามีค่าใช้จ่ายเยอะ เราก็มีเหลือเป็นเงินได้พึงประเมินน้อยทำให้เสียภาษีน้อยลง

ธุรกิจบางแห่งใช้แนวทางนี้ในการวางแผนภาษี โดยการทำให้ค่าใช้จ่ายเยอะๆ แต่ต้องไม่เป็นรายจ่ายต้องห้ามตามประกาศของกรมสรรพากรนะ

คุณอาจสงสัยว่า ธุรกิจมีแต่ต้องการลดรายจ่าย เพื่อให้ได้กำไรสุทธิมากๆ ถ้าเราไปเพิ่มรายจ่ายให้มาก ธุรกิจมิเจ๊งเหรอ

รายจ่ายบางอย่าง ยิ่งมาก ผู้ถือหุ้นยิ่งมั่งคั่งมากขึ้น ในระยะสั้นอาจดูเหมือนขาดทุน แต่เป็นการขาดทุนแบบมั่งคั่งขึ้นเรื่อยๆ นั่นก็คือรายจ่ายเพื่อการลงทุน

สมมุติว่า คุณเปิดร้านขายยา คุณมีกำไรเมื่อหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนแล้ว เป็นเงินได้พึงประเมินถึงสองล้านบาทต่อปี ถ้าคุณเป็นหน่วยภาษีแบบบุคคลธรรมดา คุณจะต้องเสียภาษีเป็นเงิน 365,000 บาท แต่ถ้าคุณเป็นหน่วยภาษีประเภทนิติบุคคล คุณจะเสียภาษี 350,000 บาท

แต่ถ้าคุณคาดการรายรับของคุณได้ล่วงหน้าก่อนสิ้นปี แล้วคุณก็เลยไปเปิดสาขาที่สอง โดยเสียค่าเซ้งตึกระยะเวลาสิบปีเป็นเงินสามล้านบาท(ทยอยหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ปีละสามแสนบาท) ค่าตกแต่งอีกห้าแสน ค่าใช้จ่ายอื่นๆเกี่ยวกับการสร้างสาขาที่สอง รายจ่ายที่เพิ่มมานี้ ทำให้คุณมีกำไรลดลง เหลือเป็นเงินได้พึงประเมินแค่ล้านกว่าๆ คำนวณภาษีออกมาเหลือเพียงแสนกว่าบาททั้งนิติบุคคล และบุคคลธรรมดา

แต่ในความเป็นจริงก็คือ คุณเป็นเจ้าของร้านขายยาสองร้าน คุณมั่งคั่งขึ้น แม้ว่า สาขาที่สองยังไม่ได้สร้างรายได้ให้คุณ แต่ถ้าการบริหารจัดการของคุณดีพอ เมื่อเริ่มอยู่ตัว คุณจะมีรายได้เพิ่มเป็นสองเท่า กำไรเพิ่มขึ้นมากกว่าการมีร้านขายยาร้านเดียว และเมื่อตัวเลขเงินได้พึงประเมินเป็นบวกมากๆ คุณก็อาจจะคิดถึงการเพิ่มค่าใช้จ่ายด้วยการลงทุนในสาขาที่สาม ผ่านไประยะหนึ่ง คุณจะเปิดสาขาใหม่ได้เร็วขึ้น และในเวลาไม่นาน คุณก็จะมีอำนาจต่อรองเหนือผู้ขายสินค้าให้คุณ จนคุณสามารถยื่นเงื่อนไขเพื่อให้ผู้ขายยอมรับ

วิธีนี้ เป็วิธีที่ห้างค้าปลีกนิยมทำ เมื่อมีจำนวนสาขามากๆ ห้างก็จะขอเงื่อนไขเรื่องระยะเวลาชำระเงิน ซึ่งบางครั้งอาจยืดได้นานถึง 180 วัน หรือครึ่งปีเลยทีเดียว

สมมุติว่า ห้าง A ซื้อสินค้าจาก บริษัท B เดือนละหนึ่งแสนบาท ซื้อเป็นเงินเชื่อ แต่ขายเป็นเงินสด สมมุติว่าขายไปในราคาเท่าทุนด้วยซ้ำ เท่ากับว่าห้าง A ได้เงินจากบริษัท B มาหมุนเดือนละหนึ่งแสน หกเดือนก็หกแสน ถ้าซื้อของจากสิบบริษัท ห้าง A ก็จะมีเงินมาหมุนฟรีๆ หกล้านบาท เงินนี้สามารถนำไปขยายสาขาถัดไปได้เลย เป็นการขอยืมเงินจากคู่ค้ามาขยายสาขาโดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ย ยิ่งขยายสาขามาก ยอดขายยิ่งมาก เงินหมุนเวียนก็ยิ่งมาก ความมั่งคั่งก็มากขึ้น โดยที่ตัวเลขทางบัญชีของคุณยังอาจแสดงเป็นตัวแดงว่าขาดทุนอยู่ก็ได้  แต่จะกลัวอะไร เพียงแค่หยุดขยายสาขา หยุดเพิมรายจ่าย แต่ละสาขาของจะกลับมาช่วยกันสร้างกำไรอย่างเร็วจี๋ไม่ใช่เหรอ

ร้านคุณก็อาจใช้วิธีการนี้ในการวางแผนภาษีก็ได้ แต่คุณต้องเริ่มจากการเปลี่ยนวิธีการหักค่าใช้จ่าย เป็นแบบหักค่าใช้จ่ายตามจริงเสียก่อน


2)
ความเสี่ยง

การทำธุรกิจ ย่อมมีความเสี่ยงที่จะผิดพลาด การขาดทุนจนธุรกิจล้มละลายเป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่ถ้าการที่ธุรกิจล้มละลาย ทำให้เจ้าของธุรกิจต้องสิ้นเนื้อประดาตัวไป แล้วต่อไปจะมีใครกล้าทำธุรกิจล่ะ หากไม่มีใครกล้าทำธุรกิจ รัฐจะเก็บภาษีจากไหน เพราะลำพังเก็บภาษีเงินได้จากคนทั่วไป ก็เหมือนกับการรีดเลืดจากปู นโยบายของเกือบทุกรัฐบาลในโลกนี้ จึงต้องการส่งเสริมธุรกิจ เพื่อจะได้เก็บภาษีมาใช้ในการบริหารประเทศ

ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาของการมี “นิติบุคคล” ซึ่งความหมายตามชื่อก็คือบุคคลตามกฎหมาย เป็นบุคคลที่กฎหมายสมมุติขึ้น มีสิทธิและหน้าที่บางอย่างคล้ายบุคคลธรรมดา คือ มีสิทธิครอบครองสินทรัพย์ได้ มีสิทธิเป็นหนี้ได้ สามารถประกอบธุรกิจได้ และก็ล้มละลายได้

นิติบุคคล เป็นบุคคลตามกฎหมายที่แยกออกมาจากเจ้าของกิจการ มีสิทธิและหน้าที่ที่แยกออกมาต่างหาก เมื่อธุรกิจไม่เป็นไปตามคาด เกิดเจ๊งขึ้นมา ก็เสียหายเฉพาะทรัพย์สินที่นิติบุคคลนั้นเป็นเจ้าของอย่างชัดเจน ส่วนทรัพย์สินที่เป็นของเจ้าของนิติบุคคลนั้น เป็นคนละส่วนกัน หากบริษัทไปกู้เงินมาใช้ในกิจการ แล้วไม่มีปัญญาจ่าย เจ้าหนี้สามารถบังคับชำระหนี้ได้เพียงจากทรัพย์สินของบริษัท จะเลยเถิดไปยึดทรัพย์เจ้าของบริษัทมาชำระหนี้ด้วยไม่ได้ เว้นแต่ค่าหุ้นที่เจ้าของยังจ่ายไม่ครบเท่านั้น

เจ้าของธุรกิจที่เจ๊ง จึงยังรักษาทรัพย์สินไว้ได้ส่วนหนึ่ง ไม่ถึงกับสิ้นเนื้อประดาตัวไปแบบการประกอบธุรกิจในรูปบุคคลธรรมดา จึงเป็นการลดความเสี่ยงจากการสิ้นเนื้อประดาตัวหากมีเหตุผิดคาดในธุรกิจ

นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงของบางธุรกิจที่อาจเฉียด หรือเสี่ยงในการละเมิดกฎหมายบางอย่าง หากประกอบธุรกิจในรูปนิติบุคคล ก็จะกลายเป็นนิติบุคคลนั้นเป็นผู้รับความเสี่ยงในการละเมิดกฎหมายไป แทนที่จะเป็นตัวเจ้าของร้าน แม้ว่าจะมีบางบทบัญญัติกล่าวว่า ผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลต้องรับผิดทางอาญาในการกระทำของนิติบุคคล แต่ก็มีผลในทางจิตใจของเจ้าของธุรกิจมากทีเดียว เพราะชื่อที่โดนกาหัว ไม่ใช่ชื่อเจ้าของกิจการ แต่เป็นชื่อนิติบุคคล  

เรียกว่า เป็นการตัดความเสี่ยงส่วนหนึ่งไปไว้กับนิติบุคคลแทน

การจัดตั้งเป็นนิติบุคคล  โดยเฉพาะในรูปแบบริษัท จึงเป็นวิธีบริหารความเสี่ยงอย่างหนึ่งสำหรับคนที่ชอบปลอดภัยไว้ก่อน


3) ความเหมาะสมในการบริหาร

สมมุติว่าคุณเปิดร้านขายยาริมถนนหรือในซอย คุณมองแนวโน้มแล้วว่า ในอนาคต ธุรกิจจะอิงกับที่จอดรถตามไลฟ์สไตล์ของคนเมืองยุคนี้ ที่มีรถเป็นปัจจัยที่ห้า

คุณมีแผนจะเปิดร้านในห้างบ้าง แต่จะทำอย่างไรเมื่อเงินทุนไม่พอ โดยไม่ต้องรบกวนเพื่อนฝูงพี่น้อง?

คุณอาจใช้วิธีกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน หรือไม่ก็ชวนเพื่อนมาร่วทุน

ถ้าคุณขอกู้เงินในนามของบุคคลธรรมดา ธนาคารกลับจะให้ความเชื่อถือต่ำกว่าการขอกู้ในนามบริษัท ทั้งที่ในความเป็นจริง เรารู้แล้วว่า หากบริษัทไม่จ่ายหนี้ ธนาคารจะเข้ามาบังคับชำระหนี้ได้เพียงทรัพย์สินของบริษัท ซึ่งเป็นทรัพย์สินส่วนเดียวของเจ้าของ ผิดกับบุคคลธรรมดาเป็นหนี้ ที่ธนาคารสามารถบังคับชำระหนี้ได้จนคนๆนั้นหมดเนื้อหมดตัวได้เลยทีเดียว แต่นี่คือแนวทางพิจารณาของสถาบันการเงินทั้งหลาย

หรือหากคุณจะชักชวนเพื่อนฝูงมาเข้าหุ้น การเป็นนิติบุคคลอย่างบริษัทจำกัด จะเป็นการแยกทรัพย์สินตัวเจ้าของกิจการ และทรัพย์สินของธุรกิจให้ชัดเจน ทำให้รู้กำไรขาดทุนที่แน่นอนของธุรกิจ การแบ่งผลกำไรในรูปปันผลจากหุ้นจึงทำได้ชัดเจน ช่วยลดเหตุแห่งความหมางใจกันจากความไม่ชัดเจนของเงิน

การจัดตั้งธุรกิจให้เป็นนิติบุคคล เป็นการเปิดโอกาสให้เป็นเจ้าของธุรกิจร่วมกัน ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าของร้านร่วมกันทุกคน จึงเป็นการเปิดทางให้คุณใช้กลยุทธ์ทางการบริหารที่หลากหลายมากขึ้น

เป็นต้นว่า การชักชวนการชักชวนคู่แข่งให้นำร้านมาเข้าร่วมกันเป็นนิติบุคคลใหม่ หรือการรวมร่างร้านขายยาสองร้านให้เป็นร้านเดียวสองสาขา ลดการแข่งขันกันเอง เอาสองหัวที่คอยแต่จะคิดเข่นกันเอง เป็นการร่วมกันวางแผนเดินไปข้างหน้า ลดค่าใช้จ่ายจากการสต๊อกยาที่ซ้ำซ้อน  ลดพื้นที่ในการวางจำหน่าสินค้าที่มีการขายน้อยให้เป็นหน้าที่ของสาขาใดสาขาหนึ่ง ทำให้มีพื้นที่เหลือที่จะนำสินค้าใหม่เข้ามาวางขายในร้าน   โดยที่เจ้าของร้านเดิม ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าของร้านสองสาขาทั้งสองคน เพียงแต่ต้องกำหนดอำนาจในการบริหารให้ชัดเจน

บริษัทหลายแห่ง ยังนิยมให้สิทธิบุคคลากรสำคัญของธุรกิจในการถือหุ้นของบริษัท  ซึ่งวิธีนี้จะช่วยสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของให้กับบุคคลากรคนนั้น เป็นการผูกบุคคลากรคนนั้นให้อยู่กับธุรกิจนานๆ ไม่ให้หนีไปไหน การให้ถือหุ้น นอกจากจะได้ชื่อว่าเป็นเจ้าของแล้ว ยังมีสิทธิได้รับเงินปันผลจากการประกอบกิจการได้กำไรของบริษัทอีกด้วย จึงเป็นกลยุทธ์ที่ระยะหลังนิยมนำมาใช้ในการบริหารงานบุคคลด้วย

คุณอาจนำวิธีนี้มาใช้ในการดึงเภสัชกรให้อยู่เป็นผู้มีหน้าที่ปฎิบัติการในร้านก็ได้ ซึ่งก็เป็นรูปแบบหนึ่งในการสร้างความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการและเภสัชกรประจำร้านได้ แน่นอนว่า คุณต้องผนวกไว้เป็นเงื่อนไขลงท้ายที่ว่า หากเภสัชกรท่านนั้นจะลาออกจากร้านท่าน ต้องขายหุ้นคืนท่านในอัตราที่กำหนดไว้ เพื่อที่คุณจะได้นำหุ้นนั้นไปเภสัชกรผู้มีหน้าที่ปฎิบัติการในร้านท่านคนใหม่


นี่เป็นส่วนหนึ่งของข้อพิจารณาในการเลือกรูปแบบในการจัดตั้งองค์การของธุรกิจ ไหนๆคุณก็ต้องคิดถึงการวางแผนภาษีทั้งที ก็ย้อนคิดลึกลงไปถึงการวางรูปแบบการจัดตั้งธุรกิจที่เหมาะสมกับตัวคุณเลยแล้วกัน