วันจันทร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2556

GPP กฎหมาย กับการพัฒนา


บูลด๊อก เป็นสุนัขของอังกฤษ เสน่ห์ของบูลด๊อกอยู่ที่จมูกสั้น ขากาง หนังย่น หน้าตามู่ทู่ ลักษณะประจำตัวเหล่านี้ เกิดจากการคัดเลือกผสมพันธุ์อย่างรอบคอบมานานกว่าหนึ่งศตวรรษ จนได้เป็นสุนัขที่จมูกสั้นที่สุด ขากางที่สุด แก้มย้อยหน้ายับที่สุด
                แต่บูลด๊อกมิได้ได้มาแค่เพียงจุดเด่น สิ่งที่ตามมาพร้อมกับการคัดสรรเพื่อให้ได้มาเป็นจุดเด่นเหล่านี้ สร้างปัญหาให้กับบูลด๊อกนานาประการ
                บูลด๊อกส่วนใหญ่ผสมพันธุ์เองไม่ได้ เพราะตัวผู้มีน้ำหนักมากเกินกว่าจะขึ้นขี่ตัวเมียได้เอง เจ้าของจึงต้องช่วยจับผสม หรือไม่ก็ใช้วิธีผสมเทียมไปเลย และเมื่อตัวเมียตั้งท้องแล้ว ก็ต้องใช้วิธีผ่าออกเมื่อถึงกำหนดคลอด เพราะลูกบูลด๊อกมีหัวโตกว่าช่องคลอดของแม่บูลด๊อก หากคลอดปกติมักจะไม่รอด
                บูลด๊อกไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิของร่างกายด้วยการทำลิ้นห้อยแล้วหายใจถี่ๆเพื่อระบายความร้อนแบบสุนัขทั่วไป บูลด๊อกจึงมีโอกาสเป็นลมแดดสูง
รอยย่นรอบตา เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคถุงน้ำตาอักเสบ
ทางเดินหายใจของบูลด๊อกตีบ จึงต้องหายใจผ่านกล่องเสียง ทำให้กล่องเสียงเสียหาย
เราได้บูลด๊อกเป็นสุนัขน่ารักแบบที่เราต้องการ แต่บูลด๊อกที่ได้มา กลับขาดคุณสมบัติพื้นฐานที่สำคัญบางอย่างของสุนัข เช่น ความสามารถในการดำรงเผ่าพันธุ์ด้วยตัวเอง หรือการดำรงชีวิตปกติ
นี่เป็นผลที่ไม่พึงปรารถนาจากวิวัฒนาการที่มนุษย์สร้างขึ้น ซึ่งหากเรามองไปรอบๆตัว ตั้งแต่ชิ้นเฟอร์นิเจอร์ทำเอง กฎหมาย ไปจนถึงแผนพัฒนาประเทศ เราจะพบว่า เรามีหลายๆสิ่งตามที่เราออกแบบไว้ เสียแต่ว่า มันเอาไปใช้ประโยชน์ตามที่ต้องการไม่ได้
ทุกครั้งที่เราด่วนสรุปว่าควรแก้ปัญหาอย่างไรล้วนแต่ทำให้เกิดบูลด๊อกตัวใหม่ขึ้นมา นั่นคือ เราได้สิ่งที่สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ แต่เอาไปใช้ประโยชน์ไม่ได้
การลอกเลียนมาตรฐานของสังคมอื่นที่ถือว่าเป็นสากล มาใช้กับอีกสังคมหนึ่งโดยไม่ได้พิเคราะห์ถึงบริบท หรือพื้นฐานอันเป็นที่ตั้งค้ำยันตัวมาตรฐานนั้น ก็จะเป็นอีกเหตุหนึ่งในการสร้างบูลด๊อกขึ้นมา
เรากำลังพูดถึงการคุ้มครองผู้บริโภค เราพูดถึงคุณภาพ มาตรฐาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นเรื่องดี หากแต่เนื้อในที่เป็นส่วนประกอบต่างหากที่จะชี้ชัดว่า เป็นการคุ้มครองที่”เข้าท่า” หรือคุณภาพที่”เข้าที”หรือไม่
ก่อนอื่น เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ทุกสิ่งทุกอย่างมีต้นทุนทั้งสิ้น ในเบื้องต้นอาจเป็นต้นทุนของใครหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เมื่อผ่านกระบวนการปรับตัวแล้ว ในที่สุดต้นทุนนั้นก็จะกลับมาสู่การเป็นต้นทุนของสังคมในที่สุด
ประเทศสหรัฐที่ถือว่า เป็นประเทศที่มีระบบการแพทย์ที่ทันสมัย คุณภาพดี มาตรฐานสูง ก่อนการมาถึงของ”โอบาม่าแคร์” ชาวอเมริกันเกือบ 50 ล้านคน หรือเกือบหนึ่งในเจ็ดของชาวอเมริกัน ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพเหล่านี้เพราะการรักษาพยาบาลมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก มีข้อมูลที่น่าตกใจอันหนึ่งบอกว่า ครึ่งหนึ่งของบุคคลล้มละลายของชาวอเมริกัน มีสาเหตุมาจากการที่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง
ประกันสุขภาพเป็นทางออกสำหรับคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่ต้องการควักกระเป๋าจ่ายค่ารักษาพยาบาลเองให้เสี่ยงกับการล้มละลาย ก็จะเลือกใช้วิธีซื้อประกันสุขภาพ เพื่อยกภาระการจ่ายค่ารักษาพยาบาลไปไว้ที่บริษัทประกันเป็นผู้รับความเสี่ยง โดยแลกกับการจ่ายเบี้ยประกันเป็นประจำในระดับมูลค่าสูงที่คนส่วนหนึ่งสามารถจ่ายได้
แต่คนที่มีรายได้ต่ำอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่มีสิทธิรับการรักษาพยาบาลที่ภาครัฐหรือหน่วยงานจัดไว้ให้ และไม่สามารถจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพเพื่อซื้อประกันความเสี่ยงในกรณีที่ต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล ก็เป็นกลุ่มคนที่หลุดไปจากระบบคิดของประเทศที่เน้นคุณภาพ มาตรฐานสูงแห่งนี้ คนกลุ่มนี้ถูกทอดทิ้งอยู่ในสังคมที่มีวิทยาการทางการแพทย์ที่ดี มีมาตรฐานสูง แต่ไม่สามารถเข้าถึงได้ เพราะประตูแห่งมาตรฐานนี้ปิดตายสำหรับคนจน
ค่ารักษาพยาบาลที่มีราคาสูง เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการมีมาตรฐานที่สูง มีคุณภาพสูง และสะท้อนไปสู่สังคมในรูปของคนจนที่ไร้หลักประกันด้านสุขภาพ การล้มละลาย และอาชญากรรมในที่สุด
ปัญหาด้านการดูแลสุขภาพของประเทศสหรัฐไม่ได้อยู่ที่วิทยาการ หากแต่ปัญหาอยู่ที่ระบบการเมืองของสหรัฐเอง ตลอดจนปรัชญาความเชื่อในแบบทุนนิยมเสรีในบางด้านที่มีลักษณะเกินเหตุ  ที่ทำให้บริการด้านสุขภาพในประเทศนี้ ไม่คำนึงถึงผู้ที่ไม่มีรายได้พอที่จะไปซื้อบริการประกันสุขภาพที่ราคาแพงลิบลิ่ว ก็ต้องยอมเสี่ยงมีชีวิตอยู่อย่างไม่มีหลักประกัน หากเจ็บป่วยขึ้นมาจริงๆในระดับที่ต้องพึ่งบริการสุขภาพ ก็ต้องยอมตกอยู่ในฐานะล้มละลาย
การเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์บางอย่างเข้าไปในแผนประกันสุขภาพที่อาจเป็นประโยชน์กับคนกลุ่มหนึ่ง เช่น การแจกตำราโภชนาการสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน แม้ว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ป่วยเบาหวานกลุ่มหนึ่งที่ไม่มีความรู้ แต่กลับไม่เป็นประโยชน์เท่าใดต่อผู้ที่สามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ฟรีจากอินเตอร์เน็ต แต่ทุกคนต้องร่วมรับภาระจากค่าใช้จ่ายนี้ ส่งผลให้เบี้ยประกันสุขภาพสูงขึ้น
การเพิ่มสิทธิประโยชน์ที่มีคำถามถึงความคุ้มค่าเช่นนี้ มีอยู่ในหลายๆกรณี ซึ่งช่วยกันดันราคาค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสุขภาพของชาวอเมริกันให้พุ่งสูงขึ้น
การฟ้องร้องบุคคลากรทางการแพทย์เกี่ยวกับการรักษาพยาบาลที่ผิดพลาดเพื่อเรียกค่าสินไหมทดแทนความเสียหายจำนวนมาก การค้าความหาผลประโยชน์จากคดีที่เกี่ยวกับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล ทำให้ระบบการรักษาพยายามมีความรอบคอบในการตรวจรักษามากขึ้น หมอไม่กล้าลงความเห็นทันที ต้องตรวจให้ละเอียดมากๆเสียก่อน การตรวจนั้นซับซ้อนขึ้น ทำให้มีขั้นมากขึ้น ใช้เครื่องมือมาก  และทำให้ค่ารักษาพยาบาลแพงขึ้น เบี้ยประกันสุขภาพแพงขึ้น
การตรวจที่เพิ่มมากขึ้นนี้ มีข้อดีคือช่วยแพทย์ในการทำความเข้าใจในอาการของผู้ป่วยได้ดีขึ้น พร้อมๆกับวัตถุประสงค์รองคือ สำหรับใช้อ้างอิงในศาลเพื่อแสดงถึงการใช้ความระมัดระวังอย่างเพียงพอแล้ว แต่ภาระกลับเป็นของผู้รับการรักษาพยาบาลที่ต้องรับภาระค่าใช้จ่าย
ในขณะที่ในบ้านเรา ขั้นตอนการตรวจก่อนการรักษาอาจไม่มากมายซับซ้อนเท่า แต่ผลการรักษาก็มิได้ด้อยกว่ากันเท่าใดในกรณีปกติ
เนื่องจากค่ารักษาพยาบาลของผู้ป่วยแบบไม่มีประกันสุขภาพในสหรัฐมีราคาแพง จึงมีหลายๆคนเลือกที่จะออกไปรักษาพยาบาลยังประเทศที่มีคุณภาพการรักษาพยาบาลสูงเพียงพอ แต่มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่ามาก จึงเป็นที่มาของ Medical Tourism ซึ่งประเทศที่มีชื่อเสียงเรื่องนี้ก็คือ ประเทศไทยและอินเดีย โรงพยาบาลที่ให้บริการผู้ป่วยนานาชาติในอินเดียจะมีค่าใช้จ่ายเพียง 1/10 ของค่าใช้จ่ายในสหรัฐ ส่วนในไทยจะมีค่าใช้จ่ายเพียง 1/7 ของสหรัฐ แต่ประเทศไทยได้รับความนิยมมากกว่า เพราะว่าเรามีสถานที่ท่องเที่ยวที่ดีจำนวนมากกว่า
จะเห็นได้ว่า คำตอบที่เราต้องการนั้น ไม่ใช่ดีที่สุด สูงที่สุด ทันสมัยที่สุด หากแต่เป็น”เหมาะสม” ที่สุดต่างหาก โดยคำนึงถึงบริบทเรื่องต่างๆ ทั้งสังคม เศรษฐกิจ ยุทธศาสตร์ ฯลฯ
อีกไม่นาน ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการอนุญาตขายยาและการต่ออายุใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบัน ก็คงจะได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ซึงขั้นตอนหลังจากนั้นก็ประกอบด้วยการร่างกฎหมายลูก ซึ่งกฎหมายลูกที่สำคัญฉบับหนึ่งก็คือ หลักเกณฑ์วิธีปฎิบัติที่ดีทางเภสัชกรรม หรือที่เรียกกันว่า GPP – Good Pharmacies Practice
เนื่องจากเกณฑ์ที่เป็นไปตามกฎหมายนี้ มีผลในการบังคับผู้ประกอบการร้านยาทั่วประเทศ อันมีผลเป็นการยกระดับมาตรฐานของร้านขายยาทั่วประเทศขึ้นไป ซึ่งเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค
แต่เราอย่าได้ลืมตัวอย่างจากประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ละทิ้งประชาชนของตัวเองให้เจ็บป่วยโดยเข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาล ด้วยการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานของกการรักษาพยาบาลขึ้นไปเรื่อยๆ พร้อมๆกับค่ารักษาพยาบาล ซึ่งเป็นการผลักผู้ยากไร้ให้เข้าไม่ถึงการรับบริการ
การคุ้มครองผู้บริโภค จึงมิได้มีเพียงมิติด้านคุณภาพเท่านั้น หากแต่ยังมีมิติในด้านความสามารถในการเข้าถึงด้วย การดำเนินการโดยคำนึงเพียงมิติเดียว จึงมิได้มีผลในการคุ้มครองผู้บริโภคในความเป็นจริง กลับจะเป็นการสร้างบูลด๊อกตัวใหม่ขึ้นมาให้สังคมต้องประคับประคองในทางใดทางหนึ่ง
เราสามารถสร้างเกณฑ์ของ GPP ที่เป็นภาคบังคับตามกฎหมายอย่างระมัดระวัง ด้วยการใช้เกณฑ์ขั้นต่ำที่หากต่ำกว่าเกณฑ์นี้แล้ว ก็จะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค และอาจบวกเผื่อนิดนึง สำหรับระยะเวลาที่ต้องใช้ในการผลักดันกฎหมาย อย่างไรก็ตาม กฎหมายลูกในระดับประกาศกระทรวงอันเป็นอำนาจของรัฐมนตรีสาธารณสุขนั้น ไม่น่าจะต้องใช้เวลามากนักในการผลักดันกฎหมาย เพราะตัดขั้นตอนเกี่ยวกับพิธีการในการออกกฎหมายใหญ่ๆออกไปจนเกือบหมด
อย่าลืมว่า ทุกสิ่งที่เราใส่ลงในเกณฑ์นี้ ล้วนมีต้นทุนที่จะส่งผลสะท้อนกลับมาที่สังคมเสมอ การวางหลักเกณฑ์จึงเหมือนกับการเลือกซื้อของที่ต้องคำนึงถึงเงินในกระเป๋าที่มีจำกัด มิใช่วางบนความต้องการที่ไม่จำกัด
อย่างไรก็ตาม การผลักภาระให้กับกฎหมายทั้งหมดในการคุ้มครองผู้บริโภคนั้นก็อาจจะเกินกำลังของกฎหมาย บ่อยครั้งที่เราจะเห็นช่องโหว่ของกฎหมาย หรือบางทีก็อาจจะเป็นบูลด๊อกที่เกิดจากกฎหมาย คือเราได้กฎหมายที่มีเนื้อหาตามที่เราต้องการ แต่เรากลับไม่ได้สิ่งที่เราต้องการอันเป็นเจตนารมณ์ในการร่างกฎมายนั้น แบบเดียวกับที่เราได้ป้ายเภสัชกร แทนที่จะได้ตัวเภสัชกรในร้านยา
การเข้าใจว่ากระบวนการต่างๆจบลงเพียงแค่การได้กฎหมายมานั้น ทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างสภาพความเป็นจริงกับผลตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ร่างออกมา กฎหมายเป็นเพียงแค่วิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่งผลตามเจตนารมณ์
ในอดีตเราใช้กระบวนการบังคับใช้กฎหมาย ใครฝ่าฝืนก็ลงโทษ จึงเป็นหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่จะต้องไล่จับผู้ฝ่าฝืนมาลงโทษตามกฎหมาย หากจับไม่ได้ ผู้ฝ่าฝืนก็รอดตัว ซึ่งเป็นภาระหนักของผู้รักษากฎหมายที่มีกำลังและงบประมาณที่จำกัด แต่ภาระกิจกลับขยายกว้างอย่างไม่จำกัด ตามแต่จินตนาการของผู้ถูกบังคับโดยกฎหมาย
ในอนาคตวิธีที่จะใช้ควรเป็นมาตรการ”นำ” และมาตรการ”ช่วย” ต่างหาก
เราไม่รู้หรอกว่า ฝูงควายป่าจะวิ่งไปทางไหนเมื่อเจอภยันตรายไล่หลังมา แต่เรารู้อย่างหนึ่งว่า ทั้งฝูงจะวิ่งตามจ่าฝูง
เช่นเดียวกัน เราไม่มีทางรู้ได้ว่า เมื่อผู้ประกอบการร้านยาประสบกับสภาพบังคับของกฎหมาย จะเลือกทางออกโดยวิธีใด อาจใช้วิธีการเลิกกิจการ หรืออาจจะนำธุรกิจลงสู่ใต้ดินก็ได้
การใช้มาตรการ”นำ” ก็เพื่อจะแน่ใจได้ว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะเลือกใช้วิธีการที่เหมาะสมเมื่อต้องเผชิญกับสภาพบังคับของกฎหมาย ในขณะที่มาตรการ”ช่วย” จะทำให้การปฏิบัติตามกฎหมายเป็นเรื่องง่ายกว่าการฝ่าฝืน ทำให้ตัดสินใจง่ายขึ้น
หากผู้รักษากฎหมาย ต้องการให้กฎหมายบรรลุวัตถุประสงค์ การเลือกใช้มาตรการจึงเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้เนื้อหาสาระของกฎหมาย
อาจารย์ผมเคยให้ข้อคิดไว้ในการปฐมนิเทศน์นักศึกษากฎหมายไว้ว่า สังคมที่สุขสงบโดยไม่มีกฎหมาย เหนือกว่าสังคมที่สุขสงบเพราะกฎหมาย
สังคมที่สุขสงบโดยไม่ต้องมีกฎหมายนั้น กฎของการอยู่ร่วมกันนั้นไหลเวียนในจิตสำนึก แต่สังคมภายใต้กฎหมายนั้น กฎของการอยู่ร่มกันเป็นเหมือนกำแพงกั้น เมื่อใดที่กำแพงเตี้ย กำแพงล้ม กำแพงไม่แข็งแรง หรือไม่มีแนวกำแพง การฝ่าฝืนจะเกิดขึ้นได้เสมอ

                จูงที่ใจ ดีกว่าต้องมาวิ่งไล่จับนะ ว่ามั้ย