วันจันทร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2561

สภาพแวดล้อม พันธกิจ และความสามารถหลัก

สมัยก่อนคนไทยใช้เรือในการเดินทาง ร้านรวงที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำลำคลอง จึงมีความเป็นปากซอย ที่การสัญจรผ่านไปมามาก คนจะต้องขึ้นท่าที่หน้าร้าน เพื่อเดินทะลุซอยลึกเข้าไปในผืนดิน

วันเวลาที่เปลี่ยนไป พร้อมกับเทคโนโลยีที่ผก้าวหน้า พฤติกรรมของคนก็เปลี่ยนไป เราใช้รถแทนเรือ ร้านรวงที่อยู่ริมนคลอง กลายเป็นทำเลก้นซอย ส่วนก้นซอยเดิมที่ถนนตัดผ่าน กลายเป็นร้านติดถนนใหญ่ ฮวงจุ้ยเปลี่ยนหมด

ทุกวันนี้ คนไม่ค่อยขยับตัวเดินไปซื้อของแล้ว จะใช้การคมนาคมเสมือน จากการมาถึงของอินเตอร์เน็ต การซื้อของ พูดคุย ทำผ่านระบบออนไลน์ ร้านที่เคยอยู่ริมถนนใหญ่ ที่ตามเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภคไม่ทัน จะถูกเตะเข้าไปอยู่ก้นซอยบ้าง

นี่เป็นความเปลี่ยนแปลงเฉพาะมิติด้านทำเลเท่านั้น ที่ได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลง อันที่จริง โลกของการประกอบการ ยังมีมิติอื่นๆที่ต้องคำนึงมากมาย

ลองคิดถึงว่า ถ้าคุณเปิดร้านขายข้าวสารริมคลองเมื่อแปดสิบปีที่แล้ว นั่นหรูเริ่ดเหมาะสมดี แต่เมื่อถนนมา รถมา คนก็ยังกินข้าวเหมือนเดิม การขายข้าวสาร ยังเป็นเรื่องเหมาะสม

ที่ไม่เหมาะสมคือ การเปิดร้านอยู่ก้นซอยที่ริมคลองที่ไม่มีคนสัญจรแล้วต่างหาก เครื่องมือที่คุณมี วิธีที่คุณใช้ มันไม่เหมาะสมกับสิ่งที่คุณกำลังทำ เพราะสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป

สภาพแวดล้อม, พันธกิจ และความสามารถหลักของคุณต้องสอดคล้องกัน

พันธกิจก็คือสิ่งที่คุณกำลังทำ มันสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมหรือเปล่า ถ้าคุณเป็นโรงงานผลิตโทรทัศน์จอแก้ว แบบที่เคยนิยมกันทุกบ้านในยุคกึ่งพุทธกาล สิ่งที่คุณกำลังทำมันก็ไม่เข้ากับสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน ที่คนสามารถเสพสาระและบันเทิงเหล่านี้ จากแอลอีดีทีวี หรือจากมือถือกันแล้ว

ถ้าคุณจะเปลี่ยนสิ่งที่คุณทำ มาเป็นการผลิตทีวีแบบที่นิยมกันทุกวันนี้ คุณก็ต้องสร้างความสามารถหลักของการเป็นผู้ผลิตทีวีนั้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นองค์ความรู้ เครื่องมือเครื่องจักร หรือคุณอาจมีวิธีการบริหารอย่างอื่นที่ทดแทนการมีองค์ความรู้ หรือโรงงาน เป็นของตนเอง

โตโยต้าเองไม่ได้เป็นผู้ผลิตน๊อตทุกตัวที่ใช้ในการผลิตรถยนต์ แต่โตโยต้ารู้ว่าจะเอาน๊อตจากไหนมาใช้ ในเงื่อนไขที่โตโยต้ายอมรับได้ รวมไปถึงเบาะที่นั่ง, ยางรถยนต์, แบตเตอรี่, เครื่องปรับอากาศ ฯลฯ

เคยมีคนพยายามสร้างเครื่องปิ้งขนมปังที่มีเทคโนโลยีพื้นๆมาก แต่เงื่อนไขคือ อุปกรณ์ทุกชิ้นต้องทำด้วยตัวเอง ผลหรือครับ ผ่านไปเป็นสิบปี ยังไม่ได้กินขนมปังปิ้งเลย

โลกเรามีความเกี่ยวพันเชื่อมโยงกันอย่างซับซ้อน ธุรกิจที่ไม่ต้องพึ่งพาภายนอก ไม่รู้ว่าจะหาได้มั้ยในปัจจุบัน

เราสามารถสร้างความสามารถหลักของเราได้จากสิ่งที่คนอื่นมี แบบที่สหรัฐใช้บ่อน้ำมันของตะวันออกกลาง ค้ำกระดาษพิมพ์หมึกรูปนกอินทรี ให้กลายเป็นยูเอสดอลล่าร์ที่ผงาดขึ้นเป็นเงินสกุลหลักของโลกอยู่มาได้หลายสิบปี ทั้งที่บ่อน้ำมันก็ไม่ใช่ของตัวเอง

แค่คิดให้ละเอียดขึ้นอีกนิด Business Model ไม่ได้มีแค่ซื้อมาขายไป โมเดลแบบที่ คนใช้บริการไม่ต้องจ่ายตังค์ คนจ่ายตังค์ไม่ได้ใช้ แต่ทุกคนยินดี ก็มีให้เห็นในระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือแบบที่ทุกคนจ่ายตังค์เท่ากันไม่ว่าจะใช้บริการหรือไม่ คนที่ควักจ่ายอย่างเดียวก็ไม่คิดอิจฉาคนที่มาขอใช้บริการ อย่างการประกันภัย

พวกนี้เป็นโมเดลธุรกิจที่เราเห็นจนชินตา แต่ไม่ได้คิดถึงความพิศดารของมัน ซึ่งเป็นตัวแบบของการใช้สมองในการสร้างความสามารถหลักของตัวเอง บนทรัพย์สินของคนอื่น

แนวทางการตัดสินใจในการเข้าสู่ GPP

สิ้นปีนี้ ร้านขายยาจะต้องผ่านตรวจตามมาตรฐาน GPP เพื่อใช้ประกอบการต่ออายุใบอนุญาตขายยาเป็นปีแรก สิ่งที่สมาชิกผู้ประกอบการที่ยังไม่พร้อมจำนวนมากกังวลใจคือ ควรจะตัดสินใจอย่างไร ? มีทางเลือกอย่างไรบ้างสำหรับปู้ที่ไม่พร้อม ?

ในบทความนี้ เราจะไม่ก้าวล่วงไปถึงวิธีปฏิบัติตามเกณฑ์ GPP แต่จะพูดถึงแนวทางการตัดสินใจโดยใช้เหตุผลทางธุรกิจเท่านั้น
จากการที่ได้คุยกับสมาชิกจำนวนมาก พอจะประมวลภด้ว่า ปัจจัยในการตัดสินใจ หรือสิ่งที่สมาชิกกังวลก็คือ ค่าจ้างเภสัชกรประจำ, ยอดขาย, การหาและเก็บรักษาเภสัชกรไว้กับร้าน

ตัดในเรื่องวิธีการหาและเก็บรักษาเภสัชกร ซึ่งเป็นเรื่องวิธีการจัดการที่สามารถนำเครื่องมือด้านทรัพยากรมนุษย์มาช่วยลดปัญหาได้ เราจึงใช้ตัวแปรแค่ค่าใช้จ่าย กำไร และโอกาสทางการตลาด เป็นปัจจัยในการตัดสินใจดังนี้

เริ่มต้นจากการประเมินว่า กำไรพอจ่ายค่าจ้างเภสัช และค่าใช้จ่ายอื่นๆหรือไม่ ?

ไม่ว่าร้านคุณจะมีตัวคุณ หรือลูกหลานเป็นเภสัชกร ที่คุณอาจบังคับจ่ายค่าจ้างเดือนละหมื่นห้า หรือจะต้องจ้างเภสัชจากภายนอกมาเป็นผู้ปฏิบัติการในราคาห้าหมื่น ให้นำค่าจ้างเภสัชกรที่คุณต้องจ่ายจริง มารวมคำนวณกับค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าเช่า ค่าน้ำ-ไฟ-เน็ต-โทรศัพท์ ค่าจ้างบุคลากรอื่น ฯลฯ

หากกำไรจากการขาย มีเพียงพอกับค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่กล่าวมาแล้ว คุณก็สามารถเลือกทาง “สู้” เป็น ขย 1 ต่อไป

แต่ถ้ากำไรจากการขาย ไม่เพียงพอที่จะจ่ายค่าใช้จ่าย คุณต้องถามตัวเองแล้วว่า จะสู้ต่อหรือไม่

การประกอบการวันนี้จะไม่เหมือนเมื่อก่อน สมัยก่อนหากเริ่มต้นธุรกิจได้ ก็นั่งกินนอนกินยาว แต่สมัยนี้วิธีทำมาหากินแบบของคุณมันจะอยู่ได้ไม่นาน ไม่นานจริงๆ ก็จะมีคนเลียนแบบ แล้วทำให้ดีกว่าคุณ หรือแม้แต่เสนออะไรบางอย่างที่แย่งลูกค้าไปจากมือคุณได้โดยที่ไม่ต้องเลียนแบบ เพราะคนสมัยนี้ชอบลองของใหม่ ลูกค้าพร้อมจะตีจากคุณไปได้ง่ายๆ ถ้าคุณไม่พยายามสุดแรงที่จะรักษาไว้

หากคำตอบของคุณคือไม่สู้ ทางเลือกที่เหมาะคือ “หนี” ออกจากธุรกิจนี้ สิ่งที่คุณต้องทำคือ การหาทางออกจากธุรกิจนี้แบบสวยๆ

แต่ถ้าคำตอบคือ คุณพร้อมจะสู้ต่อ เพราะไม่ว่าจะอยู่ในธุรกิจนี้หรือธุรกิจไหน ทุกวันนี้ก็ต้องดิ้นรนทั้งนั้น ข้อดีของการทำธุรกิจทุกวันนี้คือ เครื่องมือเยอะ มีอะไรมากมายให้คุณหยิบใช้ตามความต้องการ เครื่องมือหลายๆอย่างก็ใช้ฟรีด้วยซ้ำ โอกาสจึงเปิดกว้างสำหรับคุณ และทุกๆคน ซึ่งเมื่อมองในอีกด้านหนึ่ง โอกาสที่เอื้อให้คนเข้าสู่ธุรกิจได้ง่าย จึงเป็นวิกฤติสำหรับธุรกิจที่ประตูเปิดกว้างสำหรับทุกคน

ถ้าคุณพร้อมที่จะสู้ พร้อมจะเคลื่อนไหวมองหาโอกาสเพื่อติดอาวุธให้กับตัวเองตลอดเวลา ให้ลองเปรียบเทียบกำไรจากการขายยาที่ต้องขายโดยเภสัชกร เทียบกับกำไรที่ได้จากการขายสินค้าอื่นว่า มากเพียงใด คุณพร้อมที่จะตัดกำไรส่วนนี้ทิ้งไปหรือไม่

ถ้ากำไรส่วนนี้ เป็นสัดส่วนที่มากเกินกว่าที่คุณจะตัดใจทิ้งไป ก็ให้คุณมุ่งหน้าเลือกทาง “สู้” เป็นร้าน ขย 1 ต่อไป

ถ้ากำไรส่วนนี้น้อย คุณสามารถตัดทิ้งได้โดยที่ผลกระทบไม่มากนัก ทางเลือกที่เหมาะสมคือ “ถอย” ลดระดับใบอนุญาตลงเป็น ขย บ แล้วหารายได้จากอย่างอื่นมาทดแทน

แต่ถ้าก้ำกึ่ง แบ่งรับแบ่งสู้ ให้คุณประเมินโอกาสทางการตลาดของร้านคุณ ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพทำเล ระดับการแข่งขัน จำนวนลูกค้า ฯลฯ ดูว่า คุณมีโอกาสทากเพียงใด

ถ้ามีโอกาสมาก คุณสามารถเลือกทาง “สู้” เพื่อเป็น ขย 1 ต่อไป
แต่ถ้าโอกาสทาวการตลาดของคุณมีน้อย ทางเลือก “ถอย” ลดระดับใบอนุญาตลงเป็น ขย บ จะปลอดภัยสำหรับคุณ

แต่ไม่ว่าคุณจะ “สู้” หรือ “ถอย” สิ่งที่คุณต้องทำคือ คุณต้องมี “ของ” หรือ “ความสามารถหลัก” ให้พร้อมสำหรับเส้นทางที่คุณจะไป ซึ่งเราจะมาคุยกันในฉบับหน้า