ช่วงที่ผ่านมา ได้มีกฎหมายออกใหม่ที่เกี่ยวข้องกับร้านขายยา แม้ว่าจะไม่เกี่ยวโดยตรง แต่ก็ได้รับผลกระทบ ทั้งในฐานะผู้ประกอบการร้านขายยา และในฐานะของประชาชนทั่วไปที่เป็นผู้บริโภคสินค้าอื่นๆ มีอยู่สองฉบับที่ผมอยากจะนำมาพูดถึงในที่นี้ก็คือ พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.๒๕๕๑ และพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดจากสินค้าไม่ปลอดภัย พ.ศ.๒๕๕๑
พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค
พระราชบัญญัตินี้ เป็นกฎหมายวิธีสบัญญัติ หรือกฎหมายที่ว่าด้วยวิธีปฏิบัติในศาล เกี่ยวกับการฟ้องคดี การนำพยานขึ้นสืบ อำนาจของศาล เป็นต้น ซึ่งสาระสำคัญบางส่วนที่เราควรจะรู้ไว้ก็คือ
มีบทยกเว้นเรื่องของหนังสือสัญญา หรือการทำตามแบบ ที่กฎหมายอื่นกำหนดไว้ว่าจะต้องมี หรือทำ มิฉะนั้นศาลจะไม่รับฟัง หากเป็นคดีผู้บริโภคฟ้องผู้ประกอบการแล้ว ถึงไม่มีสัญญาหรือทำตามแบบที่กำหนดในกฎหมายอื่น ศาลก็จะรับฟัง ทั้งนี้เพราะผู้ประกอบการที่ไม่สุจริตมักจะเตรียมการแต่แรกเพื่อให้ผู้บริโภคไม่สามารถฟ้องคดีได้ เป็นต้นว่า ไม่ทำหนังสือสัญญาไว้ให้ผู้บริโภคถือไว้เป็นหลักฐาน ซึ่งอาจมาฟ้องร้องตนเองได้ในภายหลัง
ประกาศหรือโฆษณาต่างๆที่ผู้ประกอบการแจ้งไว้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา ดังนั้น โฆษณาชวนเชื่อต่างๆที่ผู้ประกอบการได้ทำไว้ แต่มิได้ระบุไว้ในสัญญา ศาลก็จะรับฟังเหมือนกับเป็นสัญญา ผู้ประกอบการจึงต้องระมัดระวังในการจูงใจดึงดูดลูกค้า หากไม่ได้ต้องการให้เกิดผลจริง ก็อย่าพูดจะดีกว่า เพราะจะกลับมาพันคอตัวเองในภายหลัง
การเจรจาเกี่ยวกับค่าเสียหายระหว่างผู้ประกอบการและฝ่ายผู้เสียหาย ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง ในอดีต เคยมีผู้ประกอบการใช้กลยุทธ์ไม่ให้ผู้เสียหายฟ้องคดีด้วยการขอเจรจาชดใช้ค่าเสียหาย แล้วก็ดึงเกมการเจรจาไม่ให้สำเร็จ จนเมื่อพ้นอายุความก็ล้มโต๊ะเจรจา ฝ่ายผู้เสียหายก็ไม่สามารถทำอะไรได้เพราะว่าพ้นอายุความไปแล้ว
ภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริง หากข้อเท็จจริงนั้นเป็นข้อมูลที่ผู้ประกอบการเป็นผู้ครอบครอง ยากที่ผู้เสียหายจะรับรู้ พระราชบัญญัตินี้จึงกำหนดให้เป็นภาระของผู้ประกอบการเป็นผู้นำสืบ จากเดิมที่ถือหลักว่าผู้ใดกล่าวอ้างผู้นั้นมีหน้าที่พิสูจน์ เช่น กรณีที่ผู้ได้รับความเสียหายจากการใช้เครื่องเอทีเอ็ม ไม่จำเป็นต้องนำสืบให้ศาลเห็นว่าตู้เอทีเอ็มนั้นทำงานอย่างไร เพียงแต่นำสืบว่าไปกดเงินแล้วไม่ได้เงินแต่ถูกหักบัญชีก็เพียงพอแล้ว การนำสืบข้อเท็จจริงว่าตู้เอทีเอ็มนั้นทำงานอย่างไร หักบัญชีอย่างไรนั้นเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการตามพระราชบัญญัติฉบับนี้
ค่าเสียหายที่ศาลจะสั่งให้ผู้ประกอบการชดใช้นั้น มิใช่เป็นเพียงความเสียหายที่เห็นได้ชัดเจนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงค่าเสียหายทางจิตใจของผู้เสียหายอีกด้วย เช่นความทุกข์ทรมานก็นำมาตีเป็นค่าเสียหายได้ ซึ่งแต่เดิมจะเป็นค่าเสียหายที่เป็นรูปธรรมเท่านั้น
นอกจากนี้ หากผู้ประกอบการมีเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภค หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่นำพาต่อความเสียหาย ศาลยังอาจกำหนดค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากค่าเสียหายที่แท้จริงได้ เช่นผู้เสียหายฟ้องเรียกค่าเสียหายหนึ่งแสน ศาลพิจารณาแล้วเห็นด้วยกับค่าเสียหายนั้นเป็นค่าเสียหายที่แท้จริง แต่ศาลเห็นว่าผู้ประกอบการมีเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภค ศาลสามารถพิพากษากำหนดค่าเสียหายเพื่อการลงโทษผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งแสนบาทได้
ในกรณีที่ผู้ประกอบการเป็นนิติบุคคล ศาลสามารถสั่งให้ผู้ถือหุ้น หรือหุ้นส่วน หรือผู้มีอำนาจควบคุมการดำเนินงานของนิติบุคคล หรือผู้รับมอบทรัพย์สินจากนิติบุคคลมาเป็นจำเลยร่วมรับผิดในค่าเสียหายที่จะต้องชดใช้ให้แก่ผู้เสียหายได้ เป็นการป้องกันการตั้งนิติบุคคลขึ้นมาโดยไม่สุจริต หวังให้นิติบุคคลเป็นหนังหน้าไฟดำเนินธุรกิจที่คดโกงแล้วถ่ายเททรัพย์สินไปสู่บุคคลอื่น เพื่อหลบเลี่ยงความผิด ซึ่งกฎหมายที่มีอยู่เดิมตามไปเอาผิดได้ลำบาก แต่พระราชบัญญัตินี้ บัญญัติให้ต้องร่วมรับผิดแต่แรก
พระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. ๒๕๕๑
พระราชบัญญัตินี้ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว แต่จะมีผลใช้บังคับในวันที่ ๒๐ ก.พ. ๒๕๕๒ สาระสำคัญในกฎหมายนี้ จำเป็นที่เราจะต้องรู้ไว้ เพราะบังคับเราในฐานะผู้ประกอบการ และคุ้มครองเราในฐานะผู้บริโภค แม้ว่าจะยังไม่มีคดีขึ้นสู่ศาลก็ตาม ซึ่งต่างจากพระราชบัญญัติฉบับแรกที่กล่าวมาแล้ว ที่จะมีผลต่อเราเมื่อเป็นคดีขึ้นสู่ศาลแล้วเท่านั้น
ผู้ประกอบการทุกคนต้องร่วมกันรับผิดต่อผู้เสียหายในความเสียหายที่เกิดจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย หมายความว่าถ้าผู้บริโภคเกิดความเสียหายจากการใช้สินค้า ก็สามารถฟ้องผู้ประกอบการทุกคนตลอดสายที่เกี่ยวข้องให้มาร่วมกันรับผิดชอบ ดังนั้น ผู้ประกอบการไม่ใครก็ใครคนใดคนหนึ่ง จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบจ่ายค่าเสียหายให้แก่ผู้ได้รับความเสียหายนั้น
ในพระราชบัญญัตินี้ได้ให้คำนิยามของผู้ผลิต หมายความรวมถึงผู้แบ่งบรรจุ ซึ่งถือว่าเป็นผู้ประกอบการที่ต้องร่วมรับผิดชอบด้วย ดังนั้น เพียงการแบ่งขายยาจากขวดใหญ่ จึงต้องรับผิดในฐานะผู้ผลิตด้วย แต่ถ้ามิได้แบ่งบรรจุ แต่เป็นการขายตามขนาดบรรจุที่ทำมาจากโรงงาน ก็ไม่ใช่ผู้ผลิตที่ต้องร่วมรับผิด
ผู้เสียหายเพียงพิสูจน์ได้ว่า (๑) ได้รับความเสียหายจากสินค้าของผู้ประกอบการ และ (๒) การใช้หรือเก็บรักษาสินค้านั้นเป็นไปตามปกติธรรมดา ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ว่าความเสียหายเกิดจากการกระทำของผู้ประกอบการผู้ใด เพียงพิสูจน์ให้ศาลเห็นสองเรื่องนี้เท่านั้น ก็จะได้รับค่าชดเชยความเสียหายแน่นอน ปัญหาอยู่ที่ ใครจะเป็นผู้ที่ต้องควักกระเป๋าจ่าย
สินไหมทดแทนก็เหมือนกับพระราชบัญญัติฉบับแรกที่มีทั้งค่าทดแทนความเสียหายทางจิตใจ และสินไหมทดแทนเพื่อการลงโทษ ดังนั้น เราอาจจะได้เห็นคำพิพากษาให้จ่ายค่าทดแทนความเสียหายเป็นจำนวนเงินที่สูงมากขนาดที่ทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กอย่างร้านขายยานี้ ต้องซวดเซ หากพลาดพลั้งกระทำความเสียหายตามพระราชบัญญัตินี้
อายุความการเรียกร้องค่าเสียหายมีกำหนดสามปีนับตั้งแต่รู้ความเสียหายและรู้ตัวผู้ประกอบการ หรือสิบปีนับตั้งแต่ขายสินค้า
แต่ถ้าความเสียหายเกิดต่อชีวิต ร่างกาย สุขภาพ หรืออนามัย โดยผลของสารสะสมในร่างกาย หรือต้องใช้เวลาในการแสดงอาการ อายุความสามปีนับตั้งแต่รู้ความเสียหาย และรู้ตัวผู้ประกอบการ หรือ สิบปีนับตั้งแต่รู้ถึงความเสียหาย สังเกตว่า อายุความสิบปีนี้ เริ่มนับเมื่อรู้ถึงความเสียหาย ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นหลังจากใช้สินค้านั้นยี่สิบปีให้หลังก็ได้ ซึ่งก็คืออายุความแทบจะไม่จำกัดนั่นเอง และกรณีการบริโภคยาก็เข้าตามกรณีนี้
เพื่อนสมาชิกคงจะเห็นแล้วว่า พระราชบัญญัตินี้จะให้ความคุ้มครองผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี แต่เมื่อเพื่อนสมาชิกสวมหมวกของผู้ประกอบการ ก็จะถูกกฎหมายนี้บังคับให้ระมัดระวังในการประกอบการ ให้มีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค
วันพุธที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น