วันจันทร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ทิศทางธุรกิจร้านขายยา 2556



ร้านขายยาเป็นธุรกิจค้าปลีกประเภทหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ หากพิจารณาตัวอย่างจากร้านขายยาในต่างประเทศ จะเห็นได้ชัดถึงความเป็นธุรกิจค้าปลีก ที่มีสินค้าอย่างอื่นที่ไม่ใช่เพียงแค่ยาให้ลูกค้าได้หยิบได้เลือกซื้อ

ทิศทางความเจริญเติบโตของธุรกิจค้าปลีกต่างๆ ขึ้นอยู่กับกำลังซื้อของผู้บริโภคเป็นสำคัญ หากในช่วงใดที่เศรษฐกิจโดยรวมไม่ดี ผู้บริโภคจะรัดเข็มขัดลดการใช้จ่ายในสินค้าสิ้นเปลืองลงก่อน แต่ถ้าเศรษฐกิจเฟื่องฟู การคาดการณ์อนาคตของผู้บริโภคเป็นไปในทิศทางบวก ผู้บริโภคจะกล้าจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น สินค้าสิ้นเปลือง รวมไปถึงสินค้าปัจจัยสี่ที่เน้นคุณภาพมากขึ้นจะเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตขึ้นไปตามระดับฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น

ในปี 2556  เศรษฐกิจของสหรัฐ และกลุ่มยูโรโซน ยังประสบวิกฤติอยู่ การส่งออกจากไทยไปยังประเทศเหล่านี้ซึ่งเคยมีกำลังซื้อสูง จึงไม่สามารถเพิ่มมูลค่าการค้าได้มากนัก รัฐบาลจึงต้องหวังพึ่งการใช้จ่ายในประเทศเป็นตัวกระตุ้น GDP โดยใช้โครงการประชานิยมต่างๆ เป็นต้นว่า โครงการรับจำนำข้าว โครงการค่าแรงสามร้อยบาททั่วประเทศ

โครงการประชานิยมเหล่านี้ เป็นการยัดเงินใส่มือประชาชน ซึ่งก็คือลูกค้าของธุรกิจร้านขายยาด้วย ทำให้ลูกค้ามีกำลังซื้อมากขึ้น

นอกจากนี้ ภาครัฐยังจะต้องหวังพึ่งการท่องเที่ยว โดยดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้จ่ายเงินภายในประเทศไทย จะทำให้มีปริมาณเงินหมุนเวียนภายในประเทศมากขึ้น ยิ่งเป็นการเพิ่มกำลังซื้อของผู้บริโภคภายในประเทศ

การที่ประชาชนมีเงินมากขึ้น ทำให้การใช้จ่ายเงินง่ายขึ้น จะให้ความสำคัญกับสิ่งที่จะซื้อในเชิงคุณภาพที่สูงขึ้น กินอาหารที่ดีขึ้น ซื้อสินค้าที่คุณภาพดีขึ้น จากที่ให้ความสำคัญเพียงแค่อยู่รอด ก็จะยกระดับคุณภาพชีวิตขึ้นมาถึงความสุขสบาย ต้องการคุณภาพที่ดีของการใช้ชีวิต

การเติบโตทางเศรษฐกิจมีทิศทางการขยายตัวออกสู่ต่างจังหวัดมากขึ้น เมืองจะโตมากขึ้น โดยเฉพาะหัวเมืองใหญ่และเมืองชายแดนที่จะโตตามการเกิดขึ้นของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่ประชาชนจะผ่านข้ามแดนเพื่อซื้อหาสินค้า

แม้ว่าเมืองในต่างจังหวัดจะมีการเติบโตตามระดับเศรษฐกิจ แต่ระดับเศรษฐกิจและการเติบโตในแต่ละเมืองไม่เท่ากัน ระดับของความต้องการของคนส่วนใหญ่ในเมืองนั้นๆจึงไม่เหมือนกันด้วย เมืองใหญ่ของภูมิภาคเช่นนครราชสีมา พิษณุโลก ประชาชนมีกำลังซื้อสูง มีความต้องการใกล้เคียงกับกรุงเทพ ต้องการสิ่งที่มีความเป็นพิเศษมากขึ้น ราคาเป็นปัจจัยในการเลือกลดลง ส่งผลต่อแนวความคิดในการบริหารธุรกิจค้าปลีกทั้งในเรื่องการเลือกสินค้าขึ้นชั้นวางเพื่อขาย และการจัดกิจกิจกรรมส่งเสริมการตลาด

การส่งเสริมการตลาดด้วยการส่งเสริมการขาย ไม่ได้ผลดีเท่ากับการการทำ Layalty Program ที่สร้างความจงรักภักดีต่อร้าน ทำให้ลูกค้าอยู่กับร้านเราให้นานที่สุดและมากที่สุด ในทางการค้าปลีก จะให้ความสำคัญกับราคาน้อยลง แต่จะเพิ่มความสะดวก และความตรงกับความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้นเรื่อยๆ

ในด้านสุขภาพ ปริมาณเงินในมือผู้บริโภคที่มากขึ้น ทำให้ความต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตของแต่ละบุคคล เกิดการยกระดับความต้องการจากเพียงแค่ยาในฐานะที่เป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ เพื่อให้หายจากการเจ็บป่วย ไปสู่ความต้องการที่จะป้องกันการเจ็บป่วย มีอายุยืนยาว สมองดี ไปจนถึงให้ความสนใจกับความสวยความงาม หน้าตาดี

โอกาสของร้านขายยาในปี 2556 จึงขึ้นอยู่กับการจัด Assortment ให้เข้ากับปัจจัยทางเศรษฐกิจของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปจากปีที่ผ่านมา ซึ่งก็มีความแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ด้วย

จากที่กล่าวมาแล้วว่า ผู้บริโภคไม่ได้ต้องการเพียงแค่ยา และจะมีกำลังซื้อมากขึ้นด้วย การจัดส่วนผสมของสินค้าบนชั้นวางให้เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้า โดยมองถึงความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงไปในปีหน้าประกอบด้วย เพื่อรองรับความต้องการใช้จ่ายเงินของลูกค้าที่จะเข้าร้าน

การเลือกสินค้าเข้าร้าน จึงต้องมีเหตุผล โดยวางความต้องการของกลุ่มเป้าหมายของร้านเป็นหลัก หากเป็นร้านขายยาในเมืองใหญ่ ก็ควรมีกลุ่มสินค้าที่เป็นสุขภาพเชิงป้องกันมากขึ้น อาจเน้นในเรื่องความงาม หรืออาจจะไปถึงขั้นการเป็น Specialty Store หรือการเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งหากทำได้สำเร็จ จะเป็นการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้กับร้านของตัวเองให้แตกต่างจากร้านขายยาทั่วไป

การเลือกเป็น Specialty Store เป็นร้านขายยาที่มีความชำนาญเฉพาะด้าน ที่เจาะกลุ่มลูกค้าขนาดเล็กลง  แต่ใหญ่พอที่จะอยู่รอดได้ นอกจากจะเป็นการใช้กลยุทธ์สร้างความแตกต่างเพื่อเสริมความได้เปรียบในการแข่งขันของร้านแล้ว ยังเป็นการกีดกันผู้ประกอบการรายใหญ่ในการเข้าสู่ธุรกิจอีกด้วย เพราะขนาดของกลุ่มลูกค้า จะไม่ใหญ่มากพอให้ผู้ประกอบการรายใหญ่เข้ามาหาประโยชน์ได้เพียงพอ หรือเรียกได้ว่า เค้กก้อนเล็กเกินกว่าที่รายใหญ่จะกินได้อิ่ม

มีปรากฎการณ์อีกสองสามอย่างที่ร้านขายยาควรให้ความสนใจติดตาม เพราะจะส่งผลต่อพฤติกรรมของลูกค้าที่จะเปลี่ยนแปลงไป

อย่างแรกก็คือความเฟื่องฟูของโลกอินเตอร์เน็ต เมื่อผนวกเข้ากับความสามารถของโทรศัพท์มือถือยุคใหม่ที่เรียกว่าสมาร์ทโฟน Smart phone ซึ่งมีความสามารถมากขึ้นจนคล้ายๆกับคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กที่สามารถพกติดตัวได้แบบโทรศัพท์มือถือ และมีจำนวนผู้ใช้มากขึ้นเรื่อยๆ

ผู้บริโภคยุคใหม่ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญของร้านค้าปลีกต่างๆ ไม่ใช่คนรุ่นคุณปู่คุณย่า ที่เป็นเจ้าของเงินก้อนมหาศาล หากแต่ เป็นคนรุ่นหลานๆที่อยู่ในวัยเรียน และมีอีกส่วนหนึ่งที่เพิ่งเริ่มชีวิตทำงาน แม้ว่าคนกลุ่มนี้จะหาเงินได้น้อย แต่มีกำลังซื้อสูงจากการเป็นหลานปู่หลานย่า คุณปู่คุณย่าแม้จะมีเงินมากจากการอดออมเพราะเคยผ่านยุคของความยากลำบากมาก่อน แม้จะไม่ยอมตามใจตัวเองในการใช้จ่ายเงิน แต่คนรุ่นนี้มักจะตามใจหลาน

การเลือกกลุ่มเป้าหมายอาจต้องคำนึงถึงเรื่องของความยากง่ายในการตัดสินใจซื้อสินค้าด้วย นอกเหนือไปจากเหตุผลเรื่องความสามารถในการหาเงิน

ชีวิตออนไลน์ เป็นชีวิตที่สองของคนกลุ่มนี้ หากร้านของคุณต้องการคนกลุ่มนี้เป็นลูกค้า ก็ต้องคิดถึงการนำธุรกิจเข้าสู่โลกออนไลน์ด้วย ไม่ว่าจะวางตัวเองเป็นแหล่งข้อมูล หรือไปถึงการเป็นร้านค้าออนไลน์ก็ตาม

ในปี 2556 ประเทศไทยน่าจะมี 3G ที่ทำให้การใช้งานอินเตอร์เนตรวดเร็วขึ้น น่าจะส่งผลให้ความนิยมในการค้าออนไลน์โตมากขึ้น เพราะสีสันจากลูกเล่นที่มากขึ้นของ application ออนไลน์ต่างๆ จะช่วยดึงดูดทั้งลูกค้าและธุรกิจเข้ามาในโลกออนไลน์

อีกปรากฎการณ์ก็คือ การมีรถยนต์ส่วนตัวของชนชั้นกลางเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ธุรกิจจึงต้องสามารถรองรับการเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวของลูกค้าได้ การหาทำเลเปิดร้าน จากเดิมที่อิงจำนวนคนในละแวกใกล้เคียง ก็จะหันมาอิงกับที่จอดรถ หากไม่สามารถสร้างที่จอดรถของธุรกิจเอง ก็ต้องเปิดร้านใกล้ที่จอดรถ

นี่เป็นการคาดการแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นกับร้านขายยาในปี 2556 หรือ สองปีก่อนการเข้าสู่การเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งจะเป็นการพลิกโฉมเศรษฐกิจโลกให้ย้ายศูนย์มาสู่ซีกโลกตะวันออก

วันอังคารที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ทำเป็นทุกอย่าง ทำได้ แต่อย่าได้ทำเองทุกอย่าง



นานมาแล้ว ผมเคยทำธุรกิจรับจ้างผลิตสินค้าหัตถกรรม ให้กับผู้ส่งออก ตอนนั้น เรามีแผนที่จะขายตรงไปถึงผู้ซื้อปลีกที่อยู่ต่างประเทศ เพราะสินค้านี้ต้นทุนผลิตของเราแค่ไม่กี่บาท แต่ราคาขายปลีกที่สหรัฐอยู่ที่หลายยูเอสดอลล่าร์  ถ้าเราสามารถตัดตัวกลาง คือผู้ส่งออกที่จ้างเราผลิตและห้างค้าปลีกที่เป็นผู้นำเข้าในประเทศสหรัฐออกไป เราก็จะเป็นผู้เก็บกำไรส่วนนั้นไว้เอง

แผนก็คือ เราต้องมีเวบสำหรับขายสินค้า และโปรโมทเวบเราไปถึงผู้ซื้อ

ด้วยความที่คิดว่าเราทำเองได้ ผมจึงเขียนเวบเอง ใช้เวลาทำเกือบสามเดือน แล้วจึงมาเริ่มทำการตลาด  ซึ่งก็ต้องมาศึกษาการตลาดบนอินเตอร์เน็ต เพราะการตลาดบนอินเตอร์เน็ตนั้น จะไม่เหมือนกับการตลาดบนโลกแห่งความเป็นจริงเลยเสียทีเดียว เครื่องมือต่างๆ ไม่เหมือนกัน แม้ว่าหลักการจะคล้ายกัน ก็ต้องมาศึกษาทำความเข้าใจกับมันใหม่ อะไรที่เราทำได้ ผมจะพยายามทำเองทั้งหมด

เรียกว่า ตอนนั้นโอกาสที่ใครจะได้เงินจากผมนั้นยากเต็มที

แต่แล้ว ก่อนที่งานจะเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง ผู้ว่าจ้างให้เราผลิตสินค้าให้ ก็ได้ยกเลิกแผนการจ้างคนนอกผลิต เราถูกเขาตัดออกจากแผนของเขา ก่อนที่เราจะได้มีโอกาสตัดเขาไปตามแผนของเรา

สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ รายรับทั้งหมด หายไปเฉยๆ 
ก็เจ๊งสิครับ

บทเรียนครั้งนั้น มันสอนว่า ถึงเราจะทำงานหลายๆอย่างได้ แต่เราก็ไม่ควรทำงานเหล่านั้นทุกๆอย่างด้วยตัวเอง เราควรเลือกทำเพียงบางอย่างที่ส่งผลต่อยุทธศาสตร์ของเรามาก

มีสาเหตุหลายอย่างที่เราไม่ควรทำอย่างนั้น

อย่างแรกก็คือ ในโลกการแข่งขันทางธุรกิจทุกวันนี้ แข่งกันที่ความเร็ว โดยเฉพาะความเร็วในการสร้างความเชื่อมั่น (speed of trust)

ถ้าคุณสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้ามีต่อร้านของคุณได้เร็วกว่า ร้านคู่แข่งก็จะหมดโอกาสได้เงินจากลูกค้ารายนั้น แต่ถ้าคู่แข่งเร็วกว่า คุณก็จะเป็นฝ่ายอดเสียเอง

อย่างที่สองก็คือ ในยุคที่ความรู้ท่วมโลกเช่นนี้ คุณจะพบว่า มีความรู้ใหม่ๆในสาขาหนึ่งๆเกิดขึ้นเยอะ และเร็วมาก ความรู้ที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ จะถูกนำไปต่อยอด ขยายความ หรือแม้กระทั่งหักล้าง อีกไม่กี่ชั่วโมงถัดไป พอถึงวันพรุ่งนี้ มันก็จะกลายเป็นความรู้เก่า ที่รับรู้และถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายแล้ว

หากคุณติดตามไม่ทันคุณก็เอ๊าท์ out ถ้าคุณจะ out ในเรื่องไม่สำคัญ หรือนานๆที ก็พอทน แต่ถ้าเป็นเรื่องที่คุณควรจะเป็นผู้เชี่ยวชาญ คุณจะสูญเสียความน่าเชื่อถือไป

การที่เราจะเก่งในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จึงต้องอาศัยการทุ่มเทเวลาให้กับสิ่งนั้นอย่างเพียงพอ

การแบ่งงานออกเป็นส่วนๆ แล้วกระจายให้หลายๆคนช่วยกันทำ ย่อมเสร็จได้เร็วกว่า และได้ผลงานที่ดีกว่าทำด้วยตัวคนเดียว การมุ่งเพียงความประหยัดด้วยการทำเอง อาจหมายถึงความสูญเสียที่มากกว่า

ต้นทุนต่ำ ไม่สำคัญเท่ากับศักยภาพ การลดต้นทุนกี่แสนกี่ล้าน ก็ไม่สำคัญเท่ากับการเพิ่มผลลัพทธ์ที่ได้ของเงินแต่ละบาทที่ต้องเสียไป ให้สูงที่สุด 

สิ่งนี้มักเป็นความเข้าใจผิดของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการหัวอนุรักษ์นิยม แบบที่ผมเคยเป็น

วันพุธที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2555

รูปแบบการจัดตั้งกิจการของธุรกิจ Business Entity


          ในการประกอบกิจการนั้น ธุรกิจสามารถเลือกวิธีจัดตั้งธุรกิจได้หลายแบบ คือ
1.      เจ้าของคนเดียว
2.      ห้างหุ้นส่วน
3.      บริษัทจำกัด
(อ่านรายละเอียด แต่ละประเภทที่นี่


โดยที่เหตุผลในการตัดสินใจในการเลือกรูปแบบที่ต่างกัน คือ
·        ขนาดของเงินลงทุนที่ต้องใช้ในธุรกิจนั้น
หากเป็นธุรกิจขายข้าวแกงในตลาด ใช้เงินลงทุนไม่มาก ย่อมไม่มีปัญหาที่พ่อค้าแม่ค้าทั่วไปจะหาเงินมาลงเป็นทุนเพื่อจัดตั้งธุรกิจ แต่ถ้าเป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนมาก มากกว่าที่คนหนึ่งคนจะลงเงินได้ด้วยตัวคนเดียว เช่นธุรกิจการให้บริการสัญญาณโทรศัพท์มือถือ
กฎหมายก็เปิดโอกาสให้มีการสร้างความร่วมมือระหว่างคนตั้งแต่สองคนขึ้นไป ในรูปแบบของห้างหุ้นส่วน และบริษัท โดยกำหนดสิทธิหน้าที่ระหว่างกันของเจ้าของร่วม และระหว่างเจ้าของร่วมกับบุคคลภายนอก
อย่างไรก็ตาม กฎหมายก็มิได้บังคับว่า หากใช้เงินลงทุนน้อยแล้ว จะไม่สามารถประกอบกิจการในรูปแบบของเจ้าของหลายคนแบบห้างหุ้นส่วน หรือบริษัท เจ้าของร้านขายยาใดๆ ก็สามารถเลือกประกอบธุรกิจในรูปแบบห้างหุ้นส่วน หรือบริษัท แม้ว่าจะมีเงินทุนเพียงพอที่จะทำได้ด้วยลำพังตัวคนเดียวก็ตาม

·        การจำกัดความเสี่ยง
ในการประกอบธุรกิจใดๆ ล้วนมีความเสี่ยง แต่ถ้าคนในสังคมล้วนแต่กลัวความเสี่ยงจนไม่คิดที่จะประกอบกิจการ การซื้อขายจะเกิดขึ้นน้อย อาจเป็นเพียงแค่การอุ้มไก่ไปแลกกับผัก การจ้างงานก็จะไม่เกิดขึ้น กระแสเงินก็จะไม่หมุนเวียน ไม่ก่อให้เกิดการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ หรือบริการใหม่ๆที่จะช่วยให้คนในสังคมมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และไปสุดท้ายที่รัฐบาลไม่สามารถเก็บภาษีมาพัฒนาประเทศได้
ด้วยเหตุผลต่างๆดังนี้ รัฐบาลของแต่ละประเทศจึงเห็นความสำคัญของการช่วยจำกัดความเสี่ยง เพื่อให้ผู้ประกอบการมีความมั่นใจมากขึ้นในการประกอบธุรกิจ ให้มีการลงทุนมากขึ้น และมาตรการหนึ่งที่ใช้ก็คือ การแยกทรัพย์สินและหนี้สินของกิจการออกมาจากทรัพย์สินของตัวบุคคลที่เป็นเจ้าของกิจการ อย่างน้อยก็ให้ผู้ลงทุนมั่นใจว่า หากการลงทุนไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ ผลเสียหายจะเกิดขึ้น จะจำกัดวงเพียงแค่ในธุรกิจนั้น ไม่ลามต่อถึงทรัพย์สินทั้งหมดของผู้ลงทุน โดยให้ธุรกิจนั้น เป็นเสมือนคนอีกคนหนึ่งที่กฎหมายยอมรับ และให้มีสิทธิบางอย่างเหมือนกับคนคนหนึ่ง เช่น เป็นหนี้ได้ รับเงินได้ เรียกว่าเป็น “นิติบุคคล” ซึ่งนิติบุคคลตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น มีสองรูปแบบคือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด และบริษัทจำกัด

·        ประโยชน์ทางด้านภาษี
คนทุกคนในประเทศ เมื่อมีรายได้ ต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษี ธุรกิจที่มีรูปแบบการจัดตั้งต่างกัน ก็มีวิธีการคำนวณภาษีที่ต่างกัน
o   อัตราภาษี
หากเป็นเจ้าของคนเดียว ประกอบธุรกิจในนามเจ้าของคนนั้นๆ อัตราภาษีที่เสียก็คืออัตราภาษีเงินได้ของบุคคลธรรมดาที่เป็นแบบขั้นบันไดตั้งแต่ 10% ไปจนถึง 37% หากว่าคุณมีเงินได้หลังหักลดหย่อนและค่าใช้จ่ายมากกว่าสี่ล้านบาทขึ้นไป
แต่ถ้าเป็นนิติบุคคล อัตราภาษีหลังหักค่าใช้จ่ายต่างๆแล้ว จะอยู่ที่ 30% ซึ่งต่ำกว่าอัตราภาษีของบุคคลธรรมดา อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้ออกโปรโมชั่นมากระตุ้นให้เกิดการประกอบธุรกิจมากขึ้น โดยลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล ในรอบปีภาษี 2555 เหลือเพียง 23% และรอบบัญชีปี 2556 เหลือเพียง 20% เท่านั้น
(ดูรายละเอียดอัตราภาษีได้ที่ http://www.taxthai.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=539367311&Ntype=1)
o   การคำนวณค่าใช้จ่าย
เงินได้ที่จะนำมาคำนวณภาษี จะเป็นเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายของกิจการ ซึ่งค่าใช้จ่ายที่จะนำมาหักออกจากเงินได้เพื่อคำนวณภาษีนี้ กรมสรรพากรยอมรับการหักค่าใช้จ่ายสองรูปแบบคือ
รูปแบบเหมา คือคิดเป็นเปอร์เซนต์ของเงินได้ทั้งก้อน ซึ่งอัตราเปอร์เซนต์นี้ก็แตกต่างกันไปตามประเภทธุรกิจที่ทำ เช่น ร้านขายยาหักค่าใช้จ่ายเหมาได้ 70% โดยไม่สนใจว่าต้นทุนซื้อยาเข้าร้านของคุณจะเป็นเท่าไหร่ รายจ่ายอื่นของคุณจะมากหรือน้อย และคุณจะขาดทุนหรือไม่ คุณก็ต้องเสียภาษี โดยนำสามสิบเปอร์เซนต์ของเงินได้ของร้านมาคำนวณภาษีเงินได้ต่อไป
รูปแบบที่สองคือ การหักค่าใช้จ่ายตามจริง โดยรายการค่าใช้จ่ายที่จะนำมาหักนั้น ต้องเป็นไปตามระเบียบของกรมสรรพากร ซึ่งครอบคลุมค่าใช้จ่ายตามความเป็นจริงของธุรกิจส่วนใหญ่ เช่นค่าจ้างตามความเปินจริง ต้นทุนสินค้าตามความเป็นจริง ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนต่างๆ เงินได้หลังหักค่าใช้จ่าย จึงจะนำมาคำนวณภาษี นั่นหมายความว่า หากคำนวณออกมาแล้ว ได้ผลเป็นขาดทุน กิจการนั้นก็ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ในรอบบัญชีนั้น และยังสามารถนำผลขาดทุนในปีที่ผ่านมา มาหักเงินได้พึงประเมินในปีถัดไปหากว่ามีกำไรได้อีกด้วย
ในทางปฏิบัติ มีบริษัทจำนวนมากใช้วิธีการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยนำกำไรจากการประกอบกิจการไปลงลงทุนต่อ ซึ่งเป็นการเพิ่มตัวเลขของค่าใช้จ่าย ทำให้งบกำไรขาดทุนแสดงตัวเลขติดลบ แต่ตัวเลขทรัพย์สินของธุรกิจในงบดุลกลับเพิ่มมากขึ้น นั่นคือ ธุรกิจสามารถโตขึ้นเรื่อยๆ และไม่ต้องเสียภาษี

          ทราบแนวทางการพิจารณาแล้ว ลองประเมินดูนะครับ ว่าธุรกิจของคุณ ควรจะเดินไปในแนวทางไหน

วันอังคารที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2555

Burn Rate อัตราเผาผลาญเงินสดของธุรกิจ




            เป้าหมายของการประกอบธุรกิจในแต่ละช่วงนั้นต่างกัน แบ่งได้เป็นสองระยะ คือ ระยะแรกของการเริ่มธุรกิจ เป้าหมายคือการรักษาสภาพคล่องไว้เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดได้นานที่สุด อย่างน้อยก็ต้องนานพอที่ธุรกิจจะเริ่มสร้างฐานลูกค้าได้มากพอจะหล่อเลี้ยงกิจการให้อยู่รอดได้ เมื่อธุรกิจเริ่มอยู่ตัว จึงค่อยวางเป้าหมายที่การทำกำไร
            สภาพคล่องก็คือ เงินสดที่ธุรกิจมีเหลือเพื่อจะใช้จ่ายในกิจการ หากธุรกิจไม่สามารถจ่ายค่าใช้จ่ายได้ตามกำหนด ธุรกิจนั้นย่อมอยู่ไม่รอด เมื่อถึงเวลาต้องจ่ายค่าจ้างแล้วไม่จ่าย พนักงานย่อมไม่อยากที่จะอยู่ทำงานให้กับคุณต่อไป หรือเมื่อครบกำหนดต้องชำระค่าสินค้าแล้วคุณไม่จ่าย คู่ค้าของคุณย่อมไม่ยินดีจะให้คุณสั่งสินค้าล๊อตใหม่
สภาพคล่องจึงเปรียบเหมือนลมหายใจของธุรกิจ
            เคล็ดลับของการเอาตัวรอดในช่วงแรกก็คือ การทำตัวให้เบาเข้าไว้ รายจ่ายใดที่ยังไม่ต้องจ่าย ก็อย่าจ่าย อะไรที่จ่ายเพียงส่วนน้อยได้ ก็อย่าจ่ายก้อนใหญ่ อะไรที่เช่าได้ ก็อย่าซื้อ เพื่อสงวนเงินสดไว้เผื่อการผิดแผน ธุรกิจจะได้อยู่รอดได้นานที่สุด
            เมื่อธุรกิจเริ่มต้นแล้ว ไม่ว่าคุณจะขายได้หรือไม่ จะมีรายได้เข้ามาหรือเปล่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่ๆ คือรายจ่ายประจำต่างๆ เป็นต้นว่า ค่าจ้างพนักงาน ค่าใช้จ่ายฝ่ายทุน เป็นต้นว่า ค่าใช้สิทธิต่างๆ ค่าเช่าอาคารสถานที่ เครื่องจักร ซึ่งหากว่าคุณใช้วิธีการซื้อเงินสด คุณอาจไม่ต้องเสียค่าเช่า หรือดอกเบี้ยเป็นรายเดือน แต่มันจะสูบเงินสดก้อนใหญ่ออกไปจากธุรกิจของคุณเลยทีเดียว ทำให้สภาพคล่องของคุณลดฮวบ แน่นอนว่าถ้าจำเป็นต้องใช้เงิน คุณสามารถนำตึกไปจำนอง หรือขายก็ได้ แต่คงไม่สามารถทำได้ในเวลาอันรวดเร็วโดยที่ยังได้ราคาสมเหตุผลไม่โดนกดราคา
            ค่าใช้จ่ายประจำเหล่านี้ เรียกว่า Burn Rate หรืออัตราเผาผลาญเงินสดในการประกอบธุรกิจ โดยปกติ มักคำนวณในอัตราบาทต่อเดือน เป็นหน้าที่ของผู้บริหารที่จะต้องรู้ว่า อัตรา Burn Rate ของธุรกิจตัวเองอยู่ที่เท่าไหร่ และที่อัตรานี้ เมื่อหักกลบกับกระแสเงินสดที่เข้ามาแล้ว วันเดือนปีใดที่เงินสดของกิจการเป็นศูนย์ คือหมดสภาพคล่อง
            ธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้น แล้วอยู่ไม่รอด หากไม่ใช่เป็นเพราะเตรียมเงินสดสำรองไว้เป็นสภาพคล่องของธุรกิจน้อยเกินไป ก็มักมีสาเหตุมาจากขนาดของ Burn Rate ที่ใหญ่เกินไป Burn Rate ใหญ่เกินกว่าขนาดของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่จะสนับสนุนธุรกิจนั้นให้อยู่รอดได้ เป็นต้นว่า ค่าเช่าแพงเกิน ค่าจ้างสูงเกินไป ค่าไฟฟ้าสูงเกินไป การปรับอัตรา Burn Rate ของกิจการให้เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้า เป็นอีกงานหนึ่งที่ผู้บริหารจะต้องให้ความสำคัญ
            หากผู้บริหารสามารถรู้ล่วงหน้าได้ถึงกำหนดวันที่สภาพคล่องของกิจการเป็นศูนย์แล้ว จะได้วางแผนแก้ปัญหาล่วงหน้าได้
            การรักษาสภาพคล่องนี้ แม้ว่าจะเป็นเป้าหมายแรกของธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้น แต่ก็เป็นเป้าหมายพื้นฐานที่ทุกๆธุรกิจจะต้องรักษาไว้ให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทที่เป็นวัวเงิน (Cash Cow) ที่ให้น้ำนมไหลออกมาเป็นกระแสเงินสดที่มากกว่ารายจ่าย อย่างเช่นบริษัท AIS หรือบริษัท ที่มีผลประกอบการติดลบ อย่างเช่น True Move ตราบใดที่ยังรักษาสภาพคล่องไว้ได้ ก็ยังสามารถประกอบธุรกิจอยู่ต่อไป
            เปรียบได้กับคนป่วย ต่อให้เจ็บปางตาย แต่ถ้ายังรักษาลมหายใจไว้ได้ ย่อมมีโอกาสกลับมายิ่งใหญ่ได้อีกครั้ง แต่ผู้ยิ่งใหญ่ที่หมดลมหายใจ ย่อมไม่มีโอกาสทำอะไรได้อีกแล้ว

วันพุธที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ศักยภาพของทรัพยากร กับความสามารถในการจัดการ (3) : เวลา


ร้านของคุณมีจำนวนชั่วโมงการให้บริการวันละกี่ชั่วโมง จำได้ว่าพ่อผมเคยเปิดร้านตั้งแต่หกโมงเช้า สามทุ่มก็ปิดประตูใหญ่แต่ยังแง้มไว้เป็นช่องเพื่อให้ริการลูกค้าต่อ จนกระทั่งง่วงจึงจะปิดและเข้านอน
                ร้านขายยาส่วนใหญ่จะมีชั่วโมงการให้บริการที่ยาวนานในแต่ละวัน ตามอัตราส่วนนี้

          ยอดขายรวม = จำนวนชั่วโมงที่เปิดทำการ x ยอดขายต่อหนึ่งชั่วโมง

ยิ่งมีชั่วโมงทำการมากยิ่งเพิ่มโอกาสในการขายและยอดขาย เซเว่นอีเลฟเว่นจึงได้เปิดทำการวันละยี่สิบสี่ชั่วโมง หากคุณต้องการทำให้ดีกว่า ย่อมไม่สามารถเปิดให้บริการวันละยี่สิบห้าชั่วโมง ทางเลือกเดียวก็คือ เพิ่มยอดขายในแต่ละชั่วโมง
อย่างไรก็ตาม หากคุณเก็บสถิติยอดขายในแต่ละชั่วโมง หรืแม้กระทั่งลองสังเกตด้วยตา คุณจะพบว่า ยอดขายในแต่ละชั่วโมงที่คุณเปิดทำการนั้น ไม่เท่ากัน บางร้านอาจขายดีช่วงเช้า บางร้านอาจขายดีช่วงพักเที่ยง และช่วงงานเลิก บางร้านที่อยู่ใกล้สถานบันเทิงจะขายดียามดึก
นั่นหมายความว่า เรายังใช้ทรัพยากรเวลาในแต่ละชั่วโมงที่คุณเปิดทำการได้ไม่เต็มที่ การเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้ประโยชน์จากเวลาของคุณ อาจได้ทำได้โดย

·                    เลือกเปิดทำการ ให้ครอบคลุมเวลาที่มีลูกค้าหนาแน่นที่สุด ไม่มีกฎหมายใดบังคับว่าคุณต้องเปิดร้านสองโมงเช้า และปิดร้านสองทุ่ม หากละแวกร้านของคุณมีลูกค้ามากในยามดึก คุณอาจเลือกที่จะเปิดร้านสองทุ่ม และปิดร้านในเวลาสองโมงเช้าก็ย่อมได้
·                    หาวิธีดึงลูกค้าให้เข้าร้านสม่ำเสมอตลอดทั้งวัน คุณอาจใช้มาตรการด้านการตลาดเช่น จัด event ในยามที่คนน้อย เพื่อดึงคนเข้าร้านในเวลานั้น แม้ว่าส่วนใหญ่เลือกที่จะจัด event ในเวลาที่คนมาก เพราะหวังให้เกิด impact ที่สูงกว่า แต่นั่นก็ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของคุณ คุณอาจใช้คีมในการถอนตะปูขึ้นมา หรือจะใช้ทุบตะปูให้จมลงไปก็ได้
·                    การดึงลูกค้าให้เข้าร้านสม่ำเสมอทั้งวัน อาจทำได้ด้วยการจัดกลุ่มสินค้าให้หลากหลาย สินค้าเวชสำอางค์ เช่นยาแก้สิว เป็นที่ต้องการของกลุ่มเด็กหรือวัยรุ่น สามารถดึงลูกค้าเข้าร้านได้หลังเลิกเรียน สินค้าประเภท Cleanser, ครีมบำรุงผิว จับกลุ่มเป้าหมายสตรีวัยทำงาน สามารถดึงคนเข้าร้านในเวลาเที่ยง และหลังเลิกงาน ถ้าเป็นเวลาระหว่างวัน ให้จับกลุ่มสินค้าสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้อยู่อาศัยในละแวกร้าน เช่นของขบเคี้ยวเพื่อสุขภาพ, ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่างๆ หรือบริการให้คำปรึกษาแบบเจาะลึก เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม หากคุณสังเกตต่อไป คุณอาจจะพบว่า แต่ละวันในหนึ่งสัปดาห์ก็มีคนเข้าร้านไม่เท่ากัน หากคุณพบว่า มีลูกค้าเข้าร้านน้อยในวันอังคาร คุณอาจจะเลือกวันปิดร้านเป็นวันอังคารแทนที่จะปิดร้านในวันอาทิตย์ หรือคุณอาจเลือกที่จะจัด Event  หรือโปรโมชั่นเฉพาะวันดังกล่าวก็เป็นได้

งานบริหารจัดการร้าน มีผลต่อยอดขายของคุณไม่ต่างไปจากงานขายหรืองานด้านเภสัชกรรม แม้ว่าจะไม่ได้เป็นกิจกรรมที่หยิบเงินเข้ากระเป๋าอย่างเห็นได้ชัดเหมือนงานขาย แต่ก็เป็นกิจกรรมที่ทำให้เงินเข้ากระเป๋าคุณได้ง่ายขึ้น คล่องขึ้น มากขึ้น บ่อยขึ้น
งานของผู้ประกอบการ คืองานบริหารร้าน ซึ่งมีกิจกรรมที่จำเป็นต้องได้รับการเอาใจใส่ไม่น้อยกว่างานเภสัชกรรม หากเปรียบงานเภสัชกรรมหรืองานส่งมอบยาหรืองานขายกับการหยิบเงินใส่กระเป๋า งานบริหารร้าน คืองานที่ทำให้เกิดการหยิบเงินใส่กระเป๋า บ่อยขึ้น มากขึ้น และขยายกระเป๋าให้จุมากขึ้นเมื่อกระเป๋าเล็กเกินไป

หากผมจะเขียนเป็นสมการ ก็จะได้ว่า

ยอดขายรวม = (ความสามารถในการขาย)ความสามารถในการบริหารจัดการ

                ความสามารถในการริหารจัดการ จะทำให้ยอดขายรวมเพิ่มขึ้นเป็นลำดับเรขาคณิตจากความสามารถในการขาย




บทความอื่นในชุดเดียวกันนี้
ศักยภาพของทรัพยากร กับความสามารถในการจัดการ (3) : เวลา

ศักยภาพของทรัพยากร กับความสามารถในการจัดการ (2) : ทรัพยากรบุคคล

ศักยภาพของทรัพยากร กับควมสามารถในการจัดการ

วันจันทร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ศักยภาพของทรัพยากร กับความสามารถในการจัดการ (2) : ทรัพยากรบุคคล


                ทรัพยากรบุคคลอย่างเช่นพนักงานขาย มักเป็นทรัพยากรที่ผู้ประกอบการร้านยาส่วนใหญ่ไม่ให้ความสำคัญ เพราะร้านส่วนใหญ่เป็นร้านเล็ก พนักงานคนเดียวที่มีคือตัวเอง ถ้ามีคนที่สองก็มักจะไม่พ้นลูกเมียตัวเอง ด้วยความที่เป็นคนใกล้ชิดตัวเอง จึงมักเกิดความรู้สึกกันเอง คือไม่ต้องดูแลเอาใจใส่มาก ขนาดเงินเดือนตัวเองยังไม่ยอมจ่าย แต่เหมารวมค่าตอบแทนเงินเดือนกับปันผลไว้ด้วยกัน ซึ่งที่ถูกแล้ว คุณควรจะแยกให้ชัดเจนว่า ก้อนไหนเป็นเงินเดือนคุณ ก้อนไหนเป็นเงินปันผลจากการประกอบการ จะมากจะน้อยก็ควรจะแยก เพื่อให้เห็นได้ชัดว่ารายรับของตัวคุณเองเหมาะสมหรือไม่อย่างไร
                ถึงแม้ว่า พนักงานขายคนนั้นจะเป็นตัวคุณ หรือลูกเมีย ถึงแม้คุณจะถือว่าเขาเป็นลูกไก่ในกำมือ ไปไหนไม่รอด แต่เขาเหล่านั้น ก็เป็นจุดที่จะสร้างยอดขายเข้าร้านของคุณ โดยเฉพาะร้านที่ไม่ได้จัดร้านให้สินค้าแต่ละตัวยืนขายด้วยตัวมันเอง ด้วยการจัดชั้นวางสินค้าให้ลูกค้าเข้าถึงได้ง่ายไม่ต้องผ่านผู้ขายให้หยิบสินค้าให้ กรณีเช่นนี้ ความจำเป็นที่ต้องพึ่งพนักงานขายยิ่งสูงมากขึ้น หากเขาไม่ขาย หรือไม่เก่ง หรือจำนวนไม่มากพอ ยอดขายของคุณก็จะน้อยตามไปด้วย
                ในร้านที่ต้องพึ่งพาพนักงานเป็นผู้ขาย ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะอยู่ในตำแหน่งใด เภสัชกรประจำร้าน หรือ ผู้ช่วยเภสัชกร ความสามารถของบุคคลเหล่านี้ การคำนวณหายอดขายรวมจากตัวแปรคือพนักงานยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น

    ยอดขายรวม = จำนวนพนักงานขาย x ยอดขายต่อพนักงานขายหนึ่งคน

หากว่าจำนวนพนักงานของคุณสามารถเพิ่มได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เช่น PC ที่บริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์ส่งมาช่วย คุณอาจจะขอมาเพิ่มจนต้องยืนขี่คอกันขายก็ได้ นั่นจะไม่ปัญหาอะไรกับตัวเลขสุดท้ายของบัญชี คือกำไรของร้านคุณ
แต่ถ้าคุณยังจำเป็นต้องเป็นผู้จ่ายค่าตอบแทนให้กับพนักงานของคุณ การเพิ่มยอดขายจากพนักงานแต่ละคนที่มีอยู่เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ
ยอดขายของพนักงานขายแต่ละคน จะสะท้อนศักยภาพของพนักงานขาย หากคุณต้องการเพิ่มศักยภาพของพนักงาน คุณมีทางเลือกได้หลายทาง เป็นต้นว่า
·                    การพัฒนาศักยภาพของพนักงานขายของคุณ ด้วยการเก็บประวัติการพัฒนาบุคคลากร และวิเคราะห์ความจำเป็นในการฝึกอบรม ทักษะที่จำเป็นอาจไม่ใช่เพียงแค่ความรู้ด้านยา หรือสุขภาพเท่านั้น วิธีการพูด ทักษะในการอ่านลูกค้า ทักษะในการเป็นผู้ฟังที่ดี หรือแม้กระทั่งความรู้รอบตัวเล็กๆน้อยๆเพื่อเป็นประเด็นในการพูดกับลูกค้าก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพของพนักงานขาย ซึ่งก็จะส่งผลถึงยอดขายของคุณด้วยเช่นกัน
·                    การนำเครื่องมือเครื่องใช้มาเสริมศักยภาพในการทำงานของพนักงานของคุณ  เช่นการใช้ Ipad หรือ Tablet เพื่อนำเสนอข้อมูลสำคัญของโรคและผลิตภัณฑ์ นอกจากจะช่วยให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นแล้ว ยังจะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือ ดูเป็นมืออาชีพของพนักงาน และของร้าน
                   การจัดแบ่งงาน ตามความรู้ความชำนาญ หากพนักงานของคุณคนหนึ่งเป็นที่หมายปองของลูกค้าส่วนใหญ่ที่จะเข้าหา คุณต้องมีการจัดแบ่งงานใหม่เพื่อให้พนักงานคนนี้ใช้เวลากับลูกค้าแต่ละรายให้คุ้มค่าที่สุด ให้เขาทำงานที่ลูกค้าเห็นว่าจำเป็นที่สุด เช่นการไต่ถามอาการ วิเคราะห์ และสั่งจ่ายยา จากนั้นก็ส่งต่อให้พนักงานอีกคนเป็นผู้หยิบ จัด ส่งมอบ เก็บเงิน เพื่อให้พนักงานคนแรกได้สามารถปลีกตัวไปให้บริการลูกค้ารายถัดไปโดยเร็ว
·                   การจัดพื้นที่ให้พนักงานขายในการบริการลูกค้า ให้กระจายออกไป ไม่เกิดการกระจุกตัวกัน บังกัน ทำให้ลูกค้ารายอื่นไม่สามารถเข้าถึงพนักงานขายที่ยังว่างอยู่

งานเหล่านี้ เป็นงานของฝ่ายบริหารจัดการที่ต้องคอยติดตาม สังเกต วิเคราะห์ และออกแบบวิธีแก้ปัญหา ซึ่งก็จะมีเกิดขึ้นเรื่อยๆในธุรกิจ การหมั่นเอาใจใส่เพื่อพัฒนาทีละเล็กทีละน้อย จะช่วยทำให้ร้านอยู่รอด และเติบโตในธุรกิจได้


บทความอื่นในชุดเดียวกันนี้
ศักยภาพของทรัพยากร กับความสามารถในการจัดการ (3) : เวลา
http://ranya-manager.blogspot.com/2012_08_01_archive.html

ศักยภาพของทรัพยากร กับควมสามารถในการจัดการ
http://ranya-manager.blogspot.com/2012/08/blog-post.html