วันพุธที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2555

การเพิ่มรายได้ของร้านขายยา (5) รูปแบบธุรกิจ

                รูปแบบธุรกิจ เป็นสิ่งที่ใช้อธิบายว่ากิจการธุรกิจ จะสามารถสร้างผลกำไรได้อย่างไร โดยการสร้างความเข้าใจอย่างชัดเจนว่า กิจการที่กำลังพิจารณานั้น สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างไรได้บ้างสำหรับลูกค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับบริษัทฯ หรือหากมองจากอีกมุมหนึ่ง Business Model ก็คือ วิธีการในการเปลี่ยนนวัตกรรมให้มีคุณค่าทางเศรษฐศาสตร์ให้กับธุรกิจนั่นเอง
          แปลแบบง่ายๆก็คือ วิธีการแปลงของที่คุณมี ให้กลายเป็นรายรับของธุรกิจนั่นเอง
            สมมุติว่าคุณมีรถอยู่คันนึง คุณอาจจะทำเงินจากรถคันนี้ โดยการขายก็ได้ ให้เช่าก็ได้ ให้เช่าซื้อก็ได้ หรือซื้อขายผ่อนส่งก็ได้ หรือถ้าซับซ้อนขึ้น ถ้าคุณเพิ่มคนขับรถเข้าไปด้วย คุณอาจจะทำเงินจากการเป็นรถรับจ้างก็ได้ ซึ่งอาจเป็นการรับจ้างขนคนก็ได้ ขนของก็ได้ถ้าคน เราสามารถเติมองค์ประกอบเล็กๆน้อยๆลงไปเพิ่มตามแต่ความคิดสร้างสรรค์ ออกมาเป็นวิธีการเปลี่ยนสิ่งที่เรามี เป็นรายรับของธุรกิจ
            ของสิ่งหนึ่งที่เรามี เราอาจแปลงมันเป็นเงินได้มากน้อยไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับคุณค่าของสิ่งที่เราเสนอให้กับผู้ซื้อ มันมีคุณค่าแค่ไหนในสายตาของลูกค้า
            มี case study ทางกฎหมายภาษีอากรเรื่องนึงที่น่าสนใจ ในสมัยเมื่อสามสิบปีที่แล้ว บ้านเราใช้ภาษีการค้าก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม การเก็บภาษีการค้า ต้องจำแนกให้ออกเสียก่อนว่า อยู่ในธุรกิจประเภทใด ซึ่งธุรกิจต่างประเภทจะสร้างมูลค่าเพิ่มไม่เท่ากัน ทำให้กำไรไม่เท่ากัน จึงมีอัตราภาษีต่างกัน ไม่เหมือนกับภาษีมูลค่าเพิ่มที่อัตราเท่ากัน แต่เก็บจากมูลค่าเพิ่มที่แต่ละธุรกิจสร้างขึ้นให้กับสินค้าของตัวเอง
            สมัยนั้น ที่แยกอโศก มีภัตตาคารอาหารทะเลขนาดใหญ่แห่งหนึ่งตั้งอยู่ มีลูกค้ามากมาย ซึ่งตามกฎหมายภาษีการค้า สวนอาหารแบบนี้อยู่ในกลุ่มพวกภัตาคารที่มีอัตราภาษีการค้าสูงมาก เขาจึงหาวิธีลดอัตราภาษี โดยแจ้งในเวลาเสียภาษีว่า ธุรกิจของเขาอยู่ในกลุ่มตลาดสดขายอาหารทะเล และกลุ่มรับจ้างทำของคือรับทำอาหารทะเลสดที่ลูกค้าซื้อ มาปรุงให้สุก โดยมีโต๊ะให้นั่งเพื่อบริการลูกค้า ซึ่งทำให้อัตราภาษีลดลงอย่างฮวบฮาบ เมื่อเทียบกับการอยู่ในกลุ่มภัตตาคาร
            กรมสรรพากรรู้แกว จึงได้ออกประกาศว่า ธุรกิจรับจ้างปรุงอาหารที่มีพื้นที่นั่งให้บริการลูกค้า จัดอยู่ในกลุ่มภัตตาคาร ดังนั้นภัตตาคารแห่งนี้จึงต้องกลับเข้ามาอยู่ในหมวดภัตตาคารตามเดิม
            แต่ที่ปรึกษากฎหมายภาษีของภัตตาคารแห่งนี้ไม่ยอมแพ้ จึงหาทางออกโดยการแยกธุรกิจรับปรุงอาหาร ออกจากธุรกิจให้เช่าโต๊ะนั่งรับประทานอาหาร เพื่อที่จะไม่เข้าเงื่อนไขตามประกาศกรมสรรพากรฉบับนี้
            เรื่องนี้บอกเราว่า แม้ว่าเราจะทำธุรกิจแบบเดียวกัน แต่เมื่อเรามองธุรกิจในอีกมุมหนึ่ง หรือใส่อะไรอีกนิดหนึ่งเข้าไปในธุรกิจ จะทำให้ธุรกิจนั้นจะเปลี่ยนแปลงไปได้ ส่วนที่ว่าจะเปลี่ยนมากหรือน้อยนั้น ต้องอยู่ที่ความคิดสร้างสรรค์ของแต่ละคน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น