วันพุธที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2555

รูปแบบการจัดตั้งกิจการของธุรกิจ Business Entity


          ในการประกอบกิจการนั้น ธุรกิจสามารถเลือกวิธีจัดตั้งธุรกิจได้หลายแบบ คือ
1.      เจ้าของคนเดียว
2.      ห้างหุ้นส่วน
3.      บริษัทจำกัด
(อ่านรายละเอียด แต่ละประเภทที่นี่


โดยที่เหตุผลในการตัดสินใจในการเลือกรูปแบบที่ต่างกัน คือ
·        ขนาดของเงินลงทุนที่ต้องใช้ในธุรกิจนั้น
หากเป็นธุรกิจขายข้าวแกงในตลาด ใช้เงินลงทุนไม่มาก ย่อมไม่มีปัญหาที่พ่อค้าแม่ค้าทั่วไปจะหาเงินมาลงเป็นทุนเพื่อจัดตั้งธุรกิจ แต่ถ้าเป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนมาก มากกว่าที่คนหนึ่งคนจะลงเงินได้ด้วยตัวคนเดียว เช่นธุรกิจการให้บริการสัญญาณโทรศัพท์มือถือ
กฎหมายก็เปิดโอกาสให้มีการสร้างความร่วมมือระหว่างคนตั้งแต่สองคนขึ้นไป ในรูปแบบของห้างหุ้นส่วน และบริษัท โดยกำหนดสิทธิหน้าที่ระหว่างกันของเจ้าของร่วม และระหว่างเจ้าของร่วมกับบุคคลภายนอก
อย่างไรก็ตาม กฎหมายก็มิได้บังคับว่า หากใช้เงินลงทุนน้อยแล้ว จะไม่สามารถประกอบกิจการในรูปแบบของเจ้าของหลายคนแบบห้างหุ้นส่วน หรือบริษัท เจ้าของร้านขายยาใดๆ ก็สามารถเลือกประกอบธุรกิจในรูปแบบห้างหุ้นส่วน หรือบริษัท แม้ว่าจะมีเงินทุนเพียงพอที่จะทำได้ด้วยลำพังตัวคนเดียวก็ตาม

·        การจำกัดความเสี่ยง
ในการประกอบธุรกิจใดๆ ล้วนมีความเสี่ยง แต่ถ้าคนในสังคมล้วนแต่กลัวความเสี่ยงจนไม่คิดที่จะประกอบกิจการ การซื้อขายจะเกิดขึ้นน้อย อาจเป็นเพียงแค่การอุ้มไก่ไปแลกกับผัก การจ้างงานก็จะไม่เกิดขึ้น กระแสเงินก็จะไม่หมุนเวียน ไม่ก่อให้เกิดการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ หรือบริการใหม่ๆที่จะช่วยให้คนในสังคมมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และไปสุดท้ายที่รัฐบาลไม่สามารถเก็บภาษีมาพัฒนาประเทศได้
ด้วยเหตุผลต่างๆดังนี้ รัฐบาลของแต่ละประเทศจึงเห็นความสำคัญของการช่วยจำกัดความเสี่ยง เพื่อให้ผู้ประกอบการมีความมั่นใจมากขึ้นในการประกอบธุรกิจ ให้มีการลงทุนมากขึ้น และมาตรการหนึ่งที่ใช้ก็คือ การแยกทรัพย์สินและหนี้สินของกิจการออกมาจากทรัพย์สินของตัวบุคคลที่เป็นเจ้าของกิจการ อย่างน้อยก็ให้ผู้ลงทุนมั่นใจว่า หากการลงทุนไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ ผลเสียหายจะเกิดขึ้น จะจำกัดวงเพียงแค่ในธุรกิจนั้น ไม่ลามต่อถึงทรัพย์สินทั้งหมดของผู้ลงทุน โดยให้ธุรกิจนั้น เป็นเสมือนคนอีกคนหนึ่งที่กฎหมายยอมรับ และให้มีสิทธิบางอย่างเหมือนกับคนคนหนึ่ง เช่น เป็นหนี้ได้ รับเงินได้ เรียกว่าเป็น “นิติบุคคล” ซึ่งนิติบุคคลตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น มีสองรูปแบบคือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด และบริษัทจำกัด

·        ประโยชน์ทางด้านภาษี
คนทุกคนในประเทศ เมื่อมีรายได้ ต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษี ธุรกิจที่มีรูปแบบการจัดตั้งต่างกัน ก็มีวิธีการคำนวณภาษีที่ต่างกัน
o   อัตราภาษี
หากเป็นเจ้าของคนเดียว ประกอบธุรกิจในนามเจ้าของคนนั้นๆ อัตราภาษีที่เสียก็คืออัตราภาษีเงินได้ของบุคคลธรรมดาที่เป็นแบบขั้นบันไดตั้งแต่ 10% ไปจนถึง 37% หากว่าคุณมีเงินได้หลังหักลดหย่อนและค่าใช้จ่ายมากกว่าสี่ล้านบาทขึ้นไป
แต่ถ้าเป็นนิติบุคคล อัตราภาษีหลังหักค่าใช้จ่ายต่างๆแล้ว จะอยู่ที่ 30% ซึ่งต่ำกว่าอัตราภาษีของบุคคลธรรมดา อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้ออกโปรโมชั่นมากระตุ้นให้เกิดการประกอบธุรกิจมากขึ้น โดยลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล ในรอบปีภาษี 2555 เหลือเพียง 23% และรอบบัญชีปี 2556 เหลือเพียง 20% เท่านั้น
(ดูรายละเอียดอัตราภาษีได้ที่ http://www.taxthai.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=539367311&Ntype=1)
o   การคำนวณค่าใช้จ่าย
เงินได้ที่จะนำมาคำนวณภาษี จะเป็นเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายของกิจการ ซึ่งค่าใช้จ่ายที่จะนำมาหักออกจากเงินได้เพื่อคำนวณภาษีนี้ กรมสรรพากรยอมรับการหักค่าใช้จ่ายสองรูปแบบคือ
รูปแบบเหมา คือคิดเป็นเปอร์เซนต์ของเงินได้ทั้งก้อน ซึ่งอัตราเปอร์เซนต์นี้ก็แตกต่างกันไปตามประเภทธุรกิจที่ทำ เช่น ร้านขายยาหักค่าใช้จ่ายเหมาได้ 70% โดยไม่สนใจว่าต้นทุนซื้อยาเข้าร้านของคุณจะเป็นเท่าไหร่ รายจ่ายอื่นของคุณจะมากหรือน้อย และคุณจะขาดทุนหรือไม่ คุณก็ต้องเสียภาษี โดยนำสามสิบเปอร์เซนต์ของเงินได้ของร้านมาคำนวณภาษีเงินได้ต่อไป
รูปแบบที่สองคือ การหักค่าใช้จ่ายตามจริง โดยรายการค่าใช้จ่ายที่จะนำมาหักนั้น ต้องเป็นไปตามระเบียบของกรมสรรพากร ซึ่งครอบคลุมค่าใช้จ่ายตามความเป็นจริงของธุรกิจส่วนใหญ่ เช่นค่าจ้างตามความเปินจริง ต้นทุนสินค้าตามความเป็นจริง ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนต่างๆ เงินได้หลังหักค่าใช้จ่าย จึงจะนำมาคำนวณภาษี นั่นหมายความว่า หากคำนวณออกมาแล้ว ได้ผลเป็นขาดทุน กิจการนั้นก็ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ในรอบบัญชีนั้น และยังสามารถนำผลขาดทุนในปีที่ผ่านมา มาหักเงินได้พึงประเมินในปีถัดไปหากว่ามีกำไรได้อีกด้วย
ในทางปฏิบัติ มีบริษัทจำนวนมากใช้วิธีการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยนำกำไรจากการประกอบกิจการไปลงลงทุนต่อ ซึ่งเป็นการเพิ่มตัวเลขของค่าใช้จ่าย ทำให้งบกำไรขาดทุนแสดงตัวเลขติดลบ แต่ตัวเลขทรัพย์สินของธุรกิจในงบดุลกลับเพิ่มมากขึ้น นั่นคือ ธุรกิจสามารถโตขึ้นเรื่อยๆ และไม่ต้องเสียภาษี

          ทราบแนวทางการพิจารณาแล้ว ลองประเมินดูนะครับ ว่าธุรกิจของคุณ ควรจะเดินไปในแนวทางไหน

วันอังคารที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2555

Burn Rate อัตราเผาผลาญเงินสดของธุรกิจ




            เป้าหมายของการประกอบธุรกิจในแต่ละช่วงนั้นต่างกัน แบ่งได้เป็นสองระยะ คือ ระยะแรกของการเริ่มธุรกิจ เป้าหมายคือการรักษาสภาพคล่องไว้เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดได้นานที่สุด อย่างน้อยก็ต้องนานพอที่ธุรกิจจะเริ่มสร้างฐานลูกค้าได้มากพอจะหล่อเลี้ยงกิจการให้อยู่รอดได้ เมื่อธุรกิจเริ่มอยู่ตัว จึงค่อยวางเป้าหมายที่การทำกำไร
            สภาพคล่องก็คือ เงินสดที่ธุรกิจมีเหลือเพื่อจะใช้จ่ายในกิจการ หากธุรกิจไม่สามารถจ่ายค่าใช้จ่ายได้ตามกำหนด ธุรกิจนั้นย่อมอยู่ไม่รอด เมื่อถึงเวลาต้องจ่ายค่าจ้างแล้วไม่จ่าย พนักงานย่อมไม่อยากที่จะอยู่ทำงานให้กับคุณต่อไป หรือเมื่อครบกำหนดต้องชำระค่าสินค้าแล้วคุณไม่จ่าย คู่ค้าของคุณย่อมไม่ยินดีจะให้คุณสั่งสินค้าล๊อตใหม่
สภาพคล่องจึงเปรียบเหมือนลมหายใจของธุรกิจ
            เคล็ดลับของการเอาตัวรอดในช่วงแรกก็คือ การทำตัวให้เบาเข้าไว้ รายจ่ายใดที่ยังไม่ต้องจ่าย ก็อย่าจ่าย อะไรที่จ่ายเพียงส่วนน้อยได้ ก็อย่าจ่ายก้อนใหญ่ อะไรที่เช่าได้ ก็อย่าซื้อ เพื่อสงวนเงินสดไว้เผื่อการผิดแผน ธุรกิจจะได้อยู่รอดได้นานที่สุด
            เมื่อธุรกิจเริ่มต้นแล้ว ไม่ว่าคุณจะขายได้หรือไม่ จะมีรายได้เข้ามาหรือเปล่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่ๆ คือรายจ่ายประจำต่างๆ เป็นต้นว่า ค่าจ้างพนักงาน ค่าใช้จ่ายฝ่ายทุน เป็นต้นว่า ค่าใช้สิทธิต่างๆ ค่าเช่าอาคารสถานที่ เครื่องจักร ซึ่งหากว่าคุณใช้วิธีการซื้อเงินสด คุณอาจไม่ต้องเสียค่าเช่า หรือดอกเบี้ยเป็นรายเดือน แต่มันจะสูบเงินสดก้อนใหญ่ออกไปจากธุรกิจของคุณเลยทีเดียว ทำให้สภาพคล่องของคุณลดฮวบ แน่นอนว่าถ้าจำเป็นต้องใช้เงิน คุณสามารถนำตึกไปจำนอง หรือขายก็ได้ แต่คงไม่สามารถทำได้ในเวลาอันรวดเร็วโดยที่ยังได้ราคาสมเหตุผลไม่โดนกดราคา
            ค่าใช้จ่ายประจำเหล่านี้ เรียกว่า Burn Rate หรืออัตราเผาผลาญเงินสดในการประกอบธุรกิจ โดยปกติ มักคำนวณในอัตราบาทต่อเดือน เป็นหน้าที่ของผู้บริหารที่จะต้องรู้ว่า อัตรา Burn Rate ของธุรกิจตัวเองอยู่ที่เท่าไหร่ และที่อัตรานี้ เมื่อหักกลบกับกระแสเงินสดที่เข้ามาแล้ว วันเดือนปีใดที่เงินสดของกิจการเป็นศูนย์ คือหมดสภาพคล่อง
            ธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้น แล้วอยู่ไม่รอด หากไม่ใช่เป็นเพราะเตรียมเงินสดสำรองไว้เป็นสภาพคล่องของธุรกิจน้อยเกินไป ก็มักมีสาเหตุมาจากขนาดของ Burn Rate ที่ใหญ่เกินไป Burn Rate ใหญ่เกินกว่าขนาดของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่จะสนับสนุนธุรกิจนั้นให้อยู่รอดได้ เป็นต้นว่า ค่าเช่าแพงเกิน ค่าจ้างสูงเกินไป ค่าไฟฟ้าสูงเกินไป การปรับอัตรา Burn Rate ของกิจการให้เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้า เป็นอีกงานหนึ่งที่ผู้บริหารจะต้องให้ความสำคัญ
            หากผู้บริหารสามารถรู้ล่วงหน้าได้ถึงกำหนดวันที่สภาพคล่องของกิจการเป็นศูนย์แล้ว จะได้วางแผนแก้ปัญหาล่วงหน้าได้
            การรักษาสภาพคล่องนี้ แม้ว่าจะเป็นเป้าหมายแรกของธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้น แต่ก็เป็นเป้าหมายพื้นฐานที่ทุกๆธุรกิจจะต้องรักษาไว้ให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทที่เป็นวัวเงิน (Cash Cow) ที่ให้น้ำนมไหลออกมาเป็นกระแสเงินสดที่มากกว่ารายจ่าย อย่างเช่นบริษัท AIS หรือบริษัท ที่มีผลประกอบการติดลบ อย่างเช่น True Move ตราบใดที่ยังรักษาสภาพคล่องไว้ได้ ก็ยังสามารถประกอบธุรกิจอยู่ต่อไป
            เปรียบได้กับคนป่วย ต่อให้เจ็บปางตาย แต่ถ้ายังรักษาลมหายใจไว้ได้ ย่อมมีโอกาสกลับมายิ่งใหญ่ได้อีกครั้ง แต่ผู้ยิ่งใหญ่ที่หมดลมหายใจ ย่อมไม่มีโอกาสทำอะไรได้อีกแล้ว