ถ้าคุณสั่งคาปูชิโนมานั่งดื่มที่ร้านกาแฟ จู่ๆมีคนเอาหลอดมาปักแล้วดูดคาปูของคุณไปครึ่งแก้ว แล้วสั่งบาริสต้าให้เติมน้ำในแก้วของคุณจนเต็มเหมือนเดิม คุณยังรู้สึกว่าคุณมีกาแฟเต็มแก้วเหมือนเดิมหรือเปล่า ?
ถ้าคุณถือหุ้นสามร้อยหุ้น คิดเป็นสามสิบเปอร์เซนต์ของหุ้นทั้งบริษัท จู่บริษัทก็เพิ่มทุนเท่าตัวให้คนอื่นเข้ามาถือหุ้นเพิ่มทุนโดยคิดค่าหุ้นแบบแทบจะให้เปล่า คุณยังถือหุ้นสามร้อยหุ้นเท่าเดิม คุณยังรู้สึกถึงสิทธิของความเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทเท่าเดิมหรือเปล่า ?
กรณีแรกเห็นได้ชัดเจนว่า ขณะนี้คุณมีของเหลวเต็มแก้ว แต่มันไม่เหมือนเดิม จากที่เคยเป็นคาปูชิโนเข้มข้น ก็แทบจะกลายเป็นน้ำล้างแก้วหนึ่งแก้ว เพราะมันถูกเจือจางรสชาติของคาปูชิโนไปด้วยน้ำเปล่า
ในกรณีที่สองก็เช่นกัน แม้ว่าคุณจะถือหุ้นสามร้อยหุ้นในบริษัทเดิมของคุณ แต่สิทธิของคุณที่จะได้รับเงินปันผลสามสิบเปอร์เซนต์ ก็ถูกลดลงจากจำนวนหุ้นทั้งหมดของบริษัทที่เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว ทำให้คุณจะได้รับเงินปันผลลดลงเหลือเพียงสิบห้าเปอร์เซนต์เท่านั้น
นี่คือผลจากการถูกเจือจางลง Dilute effect โดยอะไรบางอย่างที่ไม่มีค่าทัดเทียมกันในกรณีเช่นนั้น ถ้าเปรียบกับคณิตศาสตร์ ก็คือการเพิ่ม”ส่วน”ที่เป็นตัวหาร โดยไม่เพิ่ม”เศษ” ที่เป็นตัวตั้งด้วย มีแต่จะทำใ้ห้ค่าที่ได้ ลดลง
ในสังคมใดสังคมหนึ่งเช่นสังคมระดับประเทศ การที่คุณมีเงินจำนวนหนึ่ง ก็คล้ายๆกับการที่คุณถือหุ้นของประเทศ โดยมีสิทธิ์ใช้เงินนั้นในการเลือกซื้อสินค้าและบริการที่มีอยู่ในขณะนั้น ปริมาณเงินที่มีในประเทศ และปริมาณสินค้าและบริการในขณะนั้น จึงมีส่วนกำหนดราคาที่คุณต้องจ่ายสำหรับก๋วยเตี๋ยวหนึ่งชาม กาแฟหนึ่งแก้ว ฯลฯ
การเพิ่มปริมาณเงินเข้ามาในระบบก็เหมือนกับการเพิ่มตัวหาร
การเพิ่มขึ้นของ”เศษ” หรือตัวตั้ง คือการเพิ่มขึ้นของปริมาณสินค้าและบริการ ซึ่งโดยปกติจะเพิ่มขึ้นอยู่แล้วจากการเติบโตขึ้นของการบริโภค การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆออกมาให้คนบริโภคกันเพิ่มขึ้น
หากการเพิ่มขึ้นของปริมาณเงินในระบบ ไม่ได้สัดส่วนกับการเพิ่มขึ้นของการบริโภคหรือปริมาณสินค้าและบริการในประเทศ จะทำให้ค่าของเงินแต่ละหน่วยเจือจางลง แบบเดียวกับการที่คุณถูกลดสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทลงด้วยการเพิ่มทุนให้คนอื่นมาถือหุ้น โดยจ่ายค่าหุ้นนิดเดียว
รูปแบบการเพิ่มปริมาณเงิน ก็เช่น การให้เครดิต การกู้ยืมเงินของภาครัฐ และแบบที่เห็ดชัดที่สุดในปัจจุบันก็คือ การพิมพ์แบงค์ออกมาดื้อๆของสหรัฐอเมริกา ในโครงการคิวอี Quantitative Easing ที่เป็นการเทเม็ดเงินปริมาณมหาศาลไปทั่วโลก
นี่คือเงินเฟ้อ นั่นเอง
การเพิ่มเม็ดเงินในประเทศที่เรากำลังจะได้เห็นก็คือ โครงการเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ที่จะเป็นการเพิ่มเม็ดเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจของประเทศอีก 2 ล้านล้านบาท จากปัจจุบันตามข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย ปีพ.ศ.2556 เรามีเงินบาทในระบบอยู่ 1.45 ล้านล้านบาท
แน่นอนที่ว่า มันจะเป็นการเพิ่มเศษด้วยจากผลลัพธ์ของโครงการ แต่ปัญหาคือ
1) เศษที่ได้นี้ จะได้เห็นในอนาคตแต่ส่วนหรือตัวหารจะเพิ่มในปัจจุบัน และ
2) ผลลัพธ์ที่ได้จะได้สัดส่วนกับตัวหารที่เพิ่มเข้ามาหรือไม่ ซึ่งประสบการณ์ที่ผ่านมา เราทราบดีว่าหากการใช้เงินของภาครัฐผ่านนักการเมือง มักจะไม่มีประสิทธิภาพ และต้องผ่านการกินประชาธิปไตยอีกสองชั้น เราคงหวังผลลัพธ์ได้แค่เศษที่เหลือจากการกินของนักการเมือง
คุณรู้สึกยังไงกับการที่คาปูชิโนของคุณหายไปครึ่งแก้ว แล้วได้น้ำเปล่ามาแทน และคุณยังต้องเป็นผู้จ่ายค่าน้ำเปล่าที่เติมใหม่นี้ด้วย ?