วันอาทิตย์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2559

Strategic Planning การวางแผนกลยุทธ

ในการวางแผนยุทธศาสตร์ เรามักจะทำ SWOT Analysis คือการวิเคราะห์ตัวเองหาจุดอ่อนจุดแข่ง วิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายนอก หาโอกาสและสิ่งคุกคาม

เมื่อเรารู้ SWOT - Strength, Weakness, Opportunity และ Threat แล้ว สิ่งที่ต้องไปต่อคือ การสร้างกลยุทธ์ จาก SWOT ที่เราวิเคราะห์ออกมานี้ ซึ่งอาจจำแนกเป็นสี่ลักษณะ คือ
1) ใช้จุดแข็งเพื่อคว้าโอกาส : เป็น S/O Strategy
2) ใช้จุดแข็งเพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งคุกคาม : เป็น S/T Strategy
3) ใช้โอกาสลบจุดอ่อน : เป็น O/S Strategy
4) ในมุมที่เป็นสิ่งคุกคามและจุดอ่อน ให้หลีกเลี่ยง อย่าไปยุ่งกับมัน

เพื่อให้คิดวิเคราะห์ได้ง่าย จึงนิยมทำเป็นตารางดังภาพ และใช้สร้างเป็น กลยุทธ์

วิธีที่ใช้ในการสร้างกลยุทธ์ อยู่ที่ความคิดสร้างสรรค์

หลักการที่ผมใช้ มี 2 ข้อคือ
1) Brain Storm คือการเอาความคิดปริมาณมากที่สุด โดยไม่สนใจความเป็นไปได้ ความซ้ำซ้อน หรือความถูกต้อง ต้องให้ความคิดไหลลื่นที่สุด จึงไม่วิจารณ์ ไม่ทำอะไรที่จะหยุด หรือสกัดกั้นไอเดีย แค่จดทุกความคิด วิธีนี้จะทำคนเดียวหรือเป็นกลุ่มก็ได้ แต่หลักการเหมือนกัน
2) การจินตนาการโดยผสมคำสองคำ โดยนึกถึงคำสองคำ แล้วจดทุกความคิดที่ผุดขึ้นมาในสมองจากการนึกถึงคำสองคำนี้

เมื่อคุณจะสร้าง S/O Strategy ก็ให้นึกถึงจุดแข็งหนึ่งข้อ กับโอกาสหนึ่งเรื่อง แล้วจดทุกความคิดที่เกิดขึ้นโดยใช้หลัก Brain Storm เมื่อครบเวลาที่คุณตั้งใจไว้ ก็ให้เปลี่ยนการจับคู่ไปเรื่อยๆจนกว่าจะครบ หรือจนกว่าคุณจะพอใจ

จากนั้นค่อยเอาไอเดียที่ได้ มาจัดหมวดหมู่ คัดกรองดูความเป็นไปได้ บ่อยครั้งที่ในขั้นตอนนี้ผมจะได้ไอเดียใหม่ที่เกิดจากการต่อยอดไอเดียเดิม หรือรวมหลายไอเดียเข้าด้วยกัน หรือแม้แต่กระทั่งการสรุปเป็นหลักเกณฑ์บางเรื่อง

เมื่อได้กลยุทธ์แล้ว ถ้ามันมีหลายขั้นตอนใหญ่ ก็อาจแตกเป็นหลายโครงการภายใต้หนึ่งกลยุทธ์

ความคิดสร้างสรรค์จากการใช้คำสองคำ เป็นวิธีง่ายๆ เมื่อฝึกแล้ว คุณจะมีไอเดียเกิดขึ้นมากมาย วิธีประยุกต์ใช้อย่างนึงคือ เมื่อคุณต้องการแก้ปัญหาเรื่องนึง ให้คุณเริ่มต้นจากการจดจ่อ ครุ่นคิดถึงลักษณะด้านต่างๆของปัญหา จนมันเข้าไปในจิตใต้สำนึก (แต่ไม่ใช่การคิดแบบยิ่งคิดยิ่งโมโห หรือยิ่งคิดยิ่งเศร้า พวกนั้นทำให้เกิดอารมณ์เท่านั้น)

หลังจากนั้น คุณอยากจะทำอะไรก็ทำไป จิตใต้สำนึกของคุณจะทำงานต่อ โดยการโยงทุกสิ่งที่คุณเจอ เข้ากับสิ่งที่จิตใต้สำนึกจดจ่ออยู่ เมื่อได้ไอเดียดีๆ จิตใต้สำนึกจะส่งคำตอบออกมาให้ คุณก็จะแว๊บ คิดได้ ซึ่งสำหรับคนที่ไม่เคยฝึกจะรู้สึกเหมือนกับ "บังเอิญจริงเลย" เป็นความบังเอิญแบบที่คุณสามารถสร้างสภาพแวดล้อมให้เกิดความบังเอิญแบบนี้ได้เรื่อยๆ

ลองทำดูนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น