วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

การวัดผลการประกอบกิจการของร้านคุณ

คุณเคยวัดผลการประกอบกิจการร้านคุณหรือเปล่าว่าคุณทำได้ดี(หรือแย่)แค่ไหน ควรจะทำต่อหรือเลิกกิจการดี ?

สิ่งที่คุณต้องทำ ก็แค่เอาตัวเลขทางบัญชีที่คุณเก็บไว้มาบวกลบคูณหารกันตามสูตรที่เคยมีคนคิดไว้ มันก็จะบอกอะไรได้หลายๆอย่าง ตั้งแต่การบอกว่าคุณควรจะบริหารร้านขายยาต่อไป หรือเอาเงินไปลงทุนกับคนอื่นที่เขาบริหารได้ดีกว่า ถ้าคุณทำได้ดีแล้ว มันยังสามารถแนะนำได้ด้วยว่า คุณจะสามารถทำได้ดีกว่านี้ ถ้าคุณให้ความสำคัญกับอะไรบางอย่างเพิ่มขึ้น หรือแม้กระทั่งบางทีดูเหมือนกับธุรกิจของคุณกำลังวิ่งฉิวเหมือนว่าวติดลมบนอยู่ มันก็จะเตือนคุณว่า ถ้าคุณไม่ทำอะไรบางอย่าง คุณอาจจะต้องม้วนเสื่อทั้งๆที่ลูกค้าแน่นร้านก็เป็นได้ อาจดูเหมือนกับเป็นปาฏิหารย์ของตัวเลข แต่มันบอกอะไรได้เยอะจริงๆ ถ้าคุณเก็บข้อมูลได้ละเอียดพอ

พอพูดถึงตัวเลข เจ้าของร้านบางคนอาจทำหน้ามุ่ย แต่อย่าเพิ่งกลัวไปครับ การทำงานกับตัวเลขสมัยนี้ ไม่ได้วุ่นวายเหมือนกับเมื่อก่อนที่ต้องใช้เวลาค่อนคืนหลังปิดร้าน มานั่งคร่ำเคร่งกับการจิ้มเครื่องคิดเลข หรือลงบัญชีด้วยสมุดปากกา

ทุกวันนี้เรามีคอมพิวเตอร์ช่วยทำงานที่มันยุ่งยากให้ง่ายเข้าในการเก็บข้อมูลแทนเรา ความยุ่งยากของเรามีแค่ ต้องฝึกตัวเองให้เป็นนิสัย ในการสั่งให้มันเก็บข้อมูล หรือทำกระบวนการเก็บข้อมูลอยู่เสมอ คอมพิวเตอร์มันทำงานโดยอัตโนมัติในกลุ่มงานจำนวนหนึ่งโดยมีจุดตั้งต้นจากการที่เราสั่งงาน เราจึงต้องไม่ลืมทำงานของเราที่เป็นจุดตั้งต้นการสั่งงานให้กับคอมพิวเตอร์ เพราะถ้าเราไม่สั่ง คอมพิวเตอร์มันก็ไม่ทำ ในระบบคำสั่งของคอมพิวเตอร์ที่ฉลาดมาก จุดตั้งต้นการสั่งงานที่เป็นจำเป็นต้องอาศัยคุณเป็นผู้สั่งก็จะยิ่งน้อยลง

มาถึงบรรทัดนี้ หวังว่าคุณคงจะกลัวตัวเลขน้อยลงแล้วนะครับ ผมจะได้พาคุณไปขุดคุ้ยคำพยากรณ์ที่ถูกซ่อนไว้ในบัญชีของคุณต่อไป
ในการขุดคุ้ยหาความจริงเกี่ยวกับธุรกิจจากบัญชีของคุณนั้น เราจะนำชุดตัวเลขในบัญชีของคุณมาเข้าสูตรที่มีคนคิดค้นไว้ สูตรที่เราใช้สำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลทางบัญชีของคุณนั้น เรียกกันอย่างเป็นทางการว่า “อัตรส่วนทางการเงิน” มาจาก Financial Ratio หรือเรียกสั้นๆว่า “เรโช” (Ratio)

ขอเริ่มที่อัตราส่วนแสดงประสิทธิภาพของธุรกิจของคุณก่อน เพื่อที่คุณจะได้รู้ตัวเองว่าควรจะ “อยู่เฉยๆจะดีกว่า” หรือเปล่า ตัวแรกขอแนะนำให้รู้จักกับ “ผลตอบแทนจากสินทรัพย์รวม” หรือ Return on Asset เรียกโดยย่อว่า ROA คำนวณโดยเอากำไรหลังหักภาษีและดอกเบี้ยจ่าย(ถ้ามี) เป็นตัวตั้ง แล้วหารด้วยสินทรัพย์รวม

สินทรัพย์รวมก็คือ มูลค่าทางบัญชีของสินทรัพย์ทั้งหมดของคุณตามบัญชี เช่นอาคาร ที่ดิน รถยนต์ คอมพิวเตอร์ โต๊ะ เก้าอี้ ทุกอย่างที่ใช้ในกิจการของคุณ ไม่ว่าจะใช้เงินสดซื้อ ซื้อเชื่อ หรือขอยืมมา เอามารวมคำนวณทั้งหมด เพื่อที่จะดูว่า คุณใช้ของเหล่านี้ได้คุ้มค่าแค่ไหน อัตราส่วนนี้จะบอกว่า สินทรัพย์แต่ละบาทสร้างกำไรให้กับคุณเท่าไหร่ ตัวเลขยิ่งมากยิ่งดี

อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์รวม (ROA) = กำไรสุทธิ (Net Profit) / สินทรัพย์รวม (Total Assets)

ถ้าคุณถนัดกับการมองอะไรเป็นเปอร์เซนต์ ก็เอาค่าที่ได้คูณด้วย 100 ก็จะมีหน่วยเป็นเปอร์เซนต์

คุณอาจจะเอาค่า ROA ที่ได้จากร้านของคุณเทียบกับร้านอื่นก็ได้ (บางธุรกิจอาจมีค่ากลางในการอ้างอิง) เพื่อดูว่า คุณมีความสามารถในการสร้างกำไรจากสินทรัพย์ได้ดีเพียงใด ถ้า ROA ของคุณสู้คนอื่นไม่ได้ ก็เป็นการบอกคุณว่า คุณยังใช้สินทรัพย์ให้เกิดประโยชน์ได้ไม่ดี ซึ่งก็จะค้นต่อไปในอัตราส่วนตัวอื่นว่า คุณใช้สินทรัพย์ตัวไหนที่ได้ประโยชน์น้อย เป็นแนวทางให้คุณปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานของร้านคุณ

หรืออาจจะใช้เทียบระหว่างผลการดำเนินงานของร้านคุณปีที่แล้วกับปีนี้เพื่อดูว่า ร้านคุณทำได้ดีขึ้น หรือแย่ลง ถ้าดีขึ้นคุณก็จะได้ดีใจ แต่ถ้าจะให้ดีก็ควรจะขุดค้นต่อไปว่า คุณทำได้ดีจากอะไร ถ้า ROA ของปีนี้กลับแย่ลงกว่าปีที่แล้ว คุณก็ยิ่งต้องมาวิเคราะห์ต่อไปว่า ทำไมถึงสู้ปีที่แล้วไม่ได้ คุณจะได้แก้ปัญหาเพื่อประสิทธิภาพของธุรกิจในปีต่อๆไป

การค้นหาปัจจัยเบื้องหลังความมีประสิทธิภาพ หรือไร้ประสิทธิภาพของการประกอบการร้านขายยาของคุณ จะมองได้ชัดเจนขึ้นด้วยการยักย้ายถ่ายเทตัวแปรที่จะมาคำนวณหา ROA (แต่คุณไม่ต้องคิดยักย้ายเองให้วุ่นวาย เพราะมีคนช่างคิดได้ทำแล้ว) โดยเอาอัตราส่วนของกำไรสุทธิต่อยอดขายรวม (ก็คือเอากำไรหลังจากหักภาษีและดอกเบี้ยจ่ายเป็นตัวตั้ง หารด้วยยอดขายรวม อัตราส่วนตัวนี้ จะแสดงถึงอัตรากำไรของทุกบาทที่คุณขายไป ร้านที่เน้นการขายของตัดราคา อัตราส่วนตัวนี้จะต่ำ แสดงให้เห็นว่า แต่ละบาทที่ขายได้นั้นมีกำไรนิดเดียว) เขียนเป็นสูตรได้ว่า

อัตราส่วนของกำไรสุทธิต่อยอดขายรวม = กำไรหลังจากหักภาษีและดอกเบี้ยจ่าย / ยอดขายรวม

คูณด้วยอัตราส่วนยอดขายรวมต่อสินทรัพย์ (ก็คือ เอายอดขายรวมเป็นตัวตั้ง หารด้วยมูลค่าสินทรัพย์ของร้านคุณ อัตราส่วนตัวนี้ บอกว่าคุณเอาสินทรัพย์ทั้งหมดที่มี มาหมุนเวียนสร้างเป็นยอดขายได้กี่รอบ ยิ่งหมุนได้จำนวนมาก รอบยิ่งแสดงว่าร้านคุณขายเก่ง) เขียนเป็นสูตรได้ว่า

อัตราส่วนยอดขายรวมต่อสินทรัพย์ = ยอดขายรวม / สินทรัพย์

เราจะได้สูตรการหา ROA อีกแบบหนึ่งได้ดังนี้

ROA = อัตราส่วนกำไรสุทธิต่อยอดขายรวม x อัตราส่วนยอดขายต่อสินทรัพย์


การหาค่า ROA โดยวิธีนี้ จะได้ค่าเหมือนกับวิธีแรกเป๊ะ แต่วิธีนี้ เราจะนำมาแปลความเพื่อหาปัจจัยความสำเร็จ หรือล้มเหลวของร้านเราได้ง่ายกว่าวิธีแรก (แม้ว่าจะต้องเอาตัวเลขมาทำอะไรกันหลายทอดกว่าจะได้มาก็ตาม แต่มันก็คุ้มนะ)

จากสูตรนี้ เราจะเห็นได้ว่า ROA ของเราขึ้นอยู่กับความสามารถในการทำกำไรของแต่ละบาทที่เราขายไป คูณกับจำนวนรอบของการเปลี่ยนสินทรัพย์เป็นยอดขาย ถ้าเราต้องการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ของกิจการของเรา เราสามารถทำได้สองทางคือ เพิ่มอัตราส่วนกำไรในแต่ละบาทที่เราขายไป หรือไม่ก็พยายามใช้สินทรัพย์ของร้านคุณสร้างยอดขายให้ได้จำนวนรอบที่มากขึ้น

การดู ROA วิธีนี้ ทำให้คุณเห็นถึงที่มาของความแตกต่างของ ROA ของร้านคุณกับร้านอื่นได้ว่ามาจากอะไร หากคุณจะปรับปรุงประสิทธิภาพของการใช้สินทรัพย์ คุณก็จะเริ่มต้นได้ถูกที่

คุณสามารถเอาอัตราส่วนที่เป็นที่มาของ ROA สูตรใหม่นี้ทั้งสองตัวในการเปรียบเทียบกับร้านของคนอื่นได้ด้วย เช่นเปรียบเทียบอัตราส่วนของกำไรสุทธิต่อยอดขายรวม กับร้านอื่น เพื่อดูว่าร้านอื่น เขาสร้างกำไรจากเงินแต่ละบาทที่ขายไปได้เท่าไหร่ มากหรือน้อยกว่าคุณ ถ้าของคุณน้อยกว่า ก็แสดงว่า การตั้งราคาสินค้าของคุณต่ำกว่าร้านคนอื่นเขา เพราะฉะนั้น ร้านคุณควรจะสร้างจำนวนรอบของการขายสินค้าให้มากขึ้น เพราะถ้าคุณขายของถูก แต่ไม่สามารถขายได้ดีขึ้น คุณก็ควรจะพิจารณาตัวดูแล้วล่ะว่า ทำไมลูกค้าถึงไม่เข้าร้านคุณ

หรือเปรียบเทียบอัตราส่วนยอดขายรวมต่อสินทรัพย์ กับร้านอื่น มันจะบอกคุณว่า ร้านคุณมีความสามารถในการขายเพียงใด เมื่อเทียบสินทรัพย์กันบาทต่อบาท การเทียบกันบาทต่อบาทนี้ ทำให้สามารถเอาผลการดำเนินการของร้านเล็กเทียบกับร้านใหญ่ได้ เพราะเป็นการย่ออัตราส่วนลงมาให้เท่ากัน

ทีนี้คุณก็จะได้ภาพที่ชัดเจนขึ้นบ้างแล้วว่า คุณจะเริ่มปรับปรุงที่จุดไหน แต่นี่ยังเป็นแค่เบื้องต้น เพราะตัวเลขพวกนี้ มันสามารถพาคุณเจาะลึกลงไปได้อีก แล้วเราจะมาดูกันต่อในคราวหน้าครับ

วันจันทร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

การบริหารตัวเอง

ก่อนที่คุณจะเป็นผู้บริหารธุรกิจที่ดี คุณควรเริ่มต้นจากตัวเองก่อน ด้วยการเป็นผู้มีความสามารถในการบริหารตัวเอง

เรื่องนี้ ได้เค้าโครงเรื่องมาจากแนวความคิดของ ปีเตอร์ ดรักเกอร์ (Peter F. Drucker) ปรมาจารย์ด้านการจัดการผู้นำเสนอข้อคิดเกี่ยวกับการจัดการที่แหลมคมด้วยวิธีการตั้งคำถามได้ตรงจุดที่เป็นปัญหา


คำถามพื้นฐาน 3 ข้อเกี่ยวกับตัวคุณเอง

1. จุดแข็งของคุณคืออะไร

เป็นสิ่งแรกที่คุณต้องรู้ เพราะด้วยจุดแข็งเท่านั้น ที่คุณจะใช้สร้างผลงานอันโดดเด่นได้ ไม่ใช่จุดอ่อน

ถ้าไม่นับเรื่องความสำเร็จจากความบังเอิญโชคดี แบบลูกฟุตบอลหล่นใส่เท้าแล้วกลิ้งเข้าประตูฝ่ายตรงข้ามในขณะที่คุณนอนกลิ้งอยู่กับพื้น แถมผู้รักษาประตูกำลังแสบตาจากขี้ดินที่พลัดไปเข้าตาในเวลานั้นพอดี ความบังเอิญขนาดนี้ หวังได้ แต่หาไม่ได้ เหมือนกับคุณซื้อหวยน่ะ คือหวัง(ลมๆแล้งๆ)ได้ แต่หา(หวยใบที่จะถูกรางวัล)ไม่ได้

แต่ในชีวิตนึง คุณจะมีโอกาสถูกรางวัลใหญ่ๆสักกี่ครั้งกัน ? ก็อยู่ที่คุณแล้วล่ะว่า คุณจะใช้เวลาทั้งชีวิตเพื่อรอความบังเอิญจากรางวัลใหญ่ หรือว่าจะสร้างผลงานอันยิ่งใหญ่ด้วยตัวคุณเอง

คุณจะพบจุดแข็งของคุณได้จากการวิเคราะห์ผลตอบกลับ (Feedback Analysis) วิธีการก็คือคุณต้องจดบันทึกสิ่งที่คุณคาดหวังทุกครั้งที่คุณต้องตัดสินใจ หรือต้องทำอะไรที่สำคัญ และเมื่อเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่ง คุณก็ลองเอาสิ่งที่คุณอยากได้ที่คุณจดไว้ เทียบกับสิ่งที่คุณได้มาจริงจากการกระทำหรือการตัดสินใจของคุณ

เมื่อคุณทำการเปรียบเทียบอย่างนี้บ่อยๆ คุณก็จะเห็นถึงสิ่งที่คุณมักจะทำได้ดี ซึ่งนั่นก็คือจุดแข็งของคุณ และสิ่งที่คุณมักจะทำไม่ได้ตามที่ตั้งความหวังไว้ นั่นก็คือจุดอ่อนของคุณ สิ่งที่คุณควรจะทำเมื่อพบจุดแข็งของคุณก็คือ

เน้นการทำงานโดยอาศัยจุดแข็งของคุณ อย่างที่กล่าวไว้ตั้งแต่ต้นว่า คุณจะสร้างผลงานอันโดดเด่นได้โดยอาศัยจุดแข็งเท่านั้น เมื่อคุณรู้จักจุดแข็งของตัวเองแล้ว ทุกครั้งที่ต้องตัดสินใจ หรือทำอะไร ก็ให้วางอยู่บนจุดแข็งของคุณ หลีกเลี่ยงที่จะต้องทำงานบนพื้นฐานของจุดอ่อน เรียกได้ว่า เป็นการเลือกชัยภูมิที่คุณได้เปรียบเป็นสมรภูมิทุกครั้งที่คุณสามารถเลือกได้

ทุ่มเทปรับปรุงจุดแข็งของคุณ จุดแข็งของคุณ มันมีความหมายว่าเป็นสิ่งที่คุณทำได้ดีกว่าอย่างอื่น แต่มิได้หมายความว่าคุณจะทำได้ดีกว่าคนอื่น คุณอาจทำสิ่งนี้ได้ดีกว่าบางคน แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่ทำสิ่งนี้ได้ดีกว่าคุณ ซึ่งหากว่าคุณทุ่มเทในการปรับปรุงจุดแข็งของคุณไปเรื่อยๆ บนจุดแข็งของคุณนี้ ก็คงจะมีคนไม่มากนักหรอกที่จะสามารถทำได้ดีกว่าคุณ และคุณไม่จำเป็นต้องทุ่มเทในการปรับปรุงจุดอ่อน เพราะการจะพัฒนาจากจุดอ่อนมาสู่ระดับสามัญ มันต้องใช้ทรัพยากรมาก มากกว่าที่คุณจะใช้ในการทำให้จุดแข็งเป็นจุดแข็งปึ๊กมากนัก และผลที่ได้ก็ไม่คุ้มค่าอีกด้วย

ค้นหาและกำจัดจุดบอดของคุณที่เกิดจากความทะนงตัว บางคน หรือบางวิชาชีพจะมีความทะนงตัวที่จะเรียนรู้ หรือทำอะไรบางอย่าง เพราะรู้สึกว่าเป็นการลดตัว หรือเสียเกียรติที่จะต้องทำเช่นนั้นทั้งๆที่มันไม่ใช่สิ่งที่ผิดอะไรเลย ความรู้สึกทะนงตัวเช่นนี้ เป็นการปิดกั้นโอกาสของตัวเองในการที่จะใช้จุดแข็งของคุณอย่างเต็มที่

2. คุณทำงานอย่างไร

ในหัวข้อนี้คุณต้องค้นหาตัวเองในเรื่องเกี่ยวกับวิธีการที่คุณถนัดในการรับข้อมูล และการแปรข้อมูลเป็นผลงาน

คุณเป็นนักอ่าน หรือนักฟัง บางคนถนัดในการรับข้อมูลด้วยการฟัง ด้วยการฟังการนำเสนอข้อมูล เขาจะสามารถจับประเด็น และเก็บข้อมูลได้มากกว่าการอ่านรายงาน แต่บางคนถนัดในการละเลียดรับข้อมูลอย่างพินิจพิจารณาด้วยการอ่านที่สามารถกลับมาอ่านซ้ำได้เมื่อรู้ตัวว่าพลาดข้อมูลไปบางช่วง

คุณเรียนรู้ด้วยวิธีใด หลังจากที่คุณรับข้อมูลเข้ามา ก็เป็นกระบวนการวิเคราะห์ และสังเคราะห์ข้อมูล เพื่อที่จะได้ความเข้าใจ ความคิด ความจำ หรือแผนการดีๆ ในกระบวนการนี้ บางคนจะถนัดในการลองผิดลองถูกด้วยการลงมือทำจริงๆ บางคนกลับชอบจับปากกานั่งคิดนั่งเขียนไปเรื่อยเพื่อทำความเข้าใจกับเรื่องราว แต่บางคนกลับถนัดที่จะใช้วิธีพูด กล่าวกันว่า มีผู้บริหารบางคนที่ถนัดวิธีพูด เขาจะเรียกประชุมพนักงานของเขาเพื่อหาความคิดดีๆ โดยที่เขาจะเป็นฝ่ายพูด ที่ประชุมเพียงแค่นั่งฟัง หรืออาจจะถามคำถามโต้แย้งบ้าง เพื่อช่วยเกลาแนวความคิดของผู้บริหารที่ถนัดเรียนรู้ด้วยการพูด ความคิดดีๆที่ออกมาก็ไหลออกมาจากการคิดในขณะที่พูดนั่นเอง คุณก็เช่นกัน ต้องหาให้ได้ว่า คุณถนัดวิธีไหน

คุณถนัดทำงานกับทีม หรือโดดเดี่ยว นี่เป็นวิธีการทำงานของแต่ละคนที่ถนัดไม่เหมือนกัน กล่าวกันว่า คนไทยถนัดที่จะทำงานคนเดียว คนไทยจึงเก่งกีฬาที่อาศัยแต่ความสามารถเฉพาะตัว แต่ถ้าเป็นกีฬาที่เล่นเป็นทีมแล้ว จะไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไหร่ ในการประชุมปรึกษาหารือของผู้บริหารคนไทย จึงมักออกมาในรูปพากันออกทะเลหาฝั่งกลับไม่เจอ หรือไม่ก็กลายเป็นการวิวาทะกันไป

คุณทำงานได้ดีในฐานะที่ปรึกษา หรือผู้ตัดสินใจ บางคนถนัดในการตัดสินใจเลือก แต่บางคนกลับถนัดที่จะเสนอทางเลือกเพื่อให้คนอื่นตัดสินใจ ผู้นำคือผู้ที่มีหน้าที่ตัดสินใจ จะต้องรับแรงกดดันจากผลการตัดสินใจ จึงต้องเป็นคนที่มีความสามารถในการจัดการกับแรงกดดันได้ดี ซึ่งต่างจากผู้ที่ให้คำปรึกษา ซึ่งรับผิดชอบที่การหาคำตอบดีๆให้แก่ผู้นำ ลักษณะงานที่แตกต่างกัน ก็อาศัยทักษะที่แตกต่างกัน คนที่เป็นลูกน้องที่ดีอาจไม่ใช่หัวหน้าที่ดีก็ได้

เมื่อคุณรู้จักตัวเองในเรื่องการทำงานแล้ว สิ่งที่คุณต้องทำคือคุณจะต้องมุ่งพัฒนาวิธีการทำงานของคุณให้ดีขึ้น มีประสิทธิผลมากขึ้น ไม่ใช่เปลี่ยนวิธีการทำงานไปจากวิธีที่คุณทำได้ดีอยู่แล้ว และอีกสิ่งที่คุณต้องทำก็คือ พยามยามทำงานด้วยวิธีของคุณ แบบที่คุณถนัด อย่าได้ไปใช้วิธีอื่น เพราะนั่นอาจเปลี่ยนแปลงคุณจากฮีโร่ให้กลายเป็นตัวตลกภายในเวลาไม่นาน

3. ค่านิยมของคุณคืออะไร

ในที่นี้คงจะไม่ได้กล่าวในด้านความผิดถูกของแต่ละค่านิยม ค่านิยมมันก็คือความเชื่อที่เป็นพื้นฐานของการกระทำทั้งหลายของคุณ ซึ่งรวมไปถึงการทำงานด้วย หากค่านิยมของคุณขัดแย้งกับแนวทางการทำงานของหน่วยงาน มันก็คงยากที่จะอยู่ร่วมกันได้นาน หากจะอยู่ได้ คุณก็คงจะปั้นผลงานเด็ดๆออกมาได้ยาก

ลองคิดดูว่า ถ้าคุณเป็นคนที่ศีลธรรมสูง แต่ไปอยู่หน่วยงานที่แสวงหากำไรทุกวิธีไม่สนใจเรื่องศีลธรรม อย่างนี้ คุณจะอยู่ร่วมงานอย่างไร คุณจะเปลี่ยนตัวเองโดยลดระดับศีลธรรมของตัวเองลง หรือว่าจะทำงานไปเรื่อยๆเช้าชามเย็นชาม เพื่อให้ไม่ขัดกับความรู้สึกของคุณมากนัก

ถ้าเป็นค่านิยมในเรื่องที่ไม่สำคัญกับคุณมากนัก คุณก็คงจะสามารถเปลี่ยนตัวเองได้ แต่ถ้าหากเป็นเรื่องสำคัญ แทนที่คุณจะอยู่ไปเรื่อยเปื่อยนั้น คุณน่าจะหาหน่วยงานใหม่ที่ค่านิยมสอดคล้องกันกับคุณ เพื่อที่คุณจะได้แสดงฝีมือออกมากให้เต็มที่เช่นนี้ไม่ดีกว่าหรือ


คุณเหมาะกับที่ไหน

เมื่อคุณสามารถตอบคำถามทั้งสามข้อเกี่ยวกับตัวคุณเองแล้ว คุณก็จะรู้จักตัวคุณเอง คุณจะรู้ได้เองว่า อะไรเหมาะ หรือไม่เหมาะกับคุณ ที่จริงคงไม่ต้องบอก คุณก็รู้ได้เองอยู่แล้วว่า สิ่งที่เหมาะกับคุณก็คือสิ่งที่คุณทำได้ดี ด้วยวิธีที่คุณถนัด และสอดคล้องกับค่านิยมของคุณ

เมื่อคุณรู้เช่นนี้แล้ว สิ่งที่คุณต้องทำคือการตัดสินใจ คุณต้องกล้าปฏิเสธสิ่งที่ไม่เหมาะกับคุณ เช่นเดียวกับที่คุณต้องกล้าตอบรับสิ่งที่เหมาะกับคุณ เพราะมันคือโอกาสที่คุณจะได้สร้างผลงาน

มีผู้กล่าวว่า ความสำเร็จใดๆก็ตาม เป็นผลมาจากโอกาส 10% อีก 90% เป็นผลมาจากการเตรียมตัวให้พร้อมเมื่อโอกาสมาถึง ถ้าคุณไม่รู้จักตัวเอง ก็เหมือนกับการที่คุณตั้งตารออะไรบางอย่างที่คุณไม่ได้รู้จักมาก่อน ต่อให้คุณได้โอกาสมาอยู่ในมือคุณ คุณก็จะโยนมันทิ้งไปโดยไม่รู้สึกอะไร หรืออาจจะทำมันหล่นใส่เท้าให้เจ็บตัวเสียก็ไม่แน่

การได้อยู่ในที่ที่เหมาะกับตัวเอง สามารถเปลี่ยนคนธรรมดาที่ขยันขันแข็ง และมีความสามารถ แต่มีผลงานธรรมดา ให้กลายเป็นผู้มีผลงานอันโดดเด่นได้

คุณอยากเป็นคนธรรมดาคนนั้นหรือเปล่าล่ะ