วันจันทร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

การบริหารตัวเอง

ก่อนที่คุณจะเป็นผู้บริหารธุรกิจที่ดี คุณควรเริ่มต้นจากตัวเองก่อน ด้วยการเป็นผู้มีความสามารถในการบริหารตัวเอง

เรื่องนี้ ได้เค้าโครงเรื่องมาจากแนวความคิดของ ปีเตอร์ ดรักเกอร์ (Peter F. Drucker) ปรมาจารย์ด้านการจัดการผู้นำเสนอข้อคิดเกี่ยวกับการจัดการที่แหลมคมด้วยวิธีการตั้งคำถามได้ตรงจุดที่เป็นปัญหา


คำถามพื้นฐาน 3 ข้อเกี่ยวกับตัวคุณเอง

1. จุดแข็งของคุณคืออะไร

เป็นสิ่งแรกที่คุณต้องรู้ เพราะด้วยจุดแข็งเท่านั้น ที่คุณจะใช้สร้างผลงานอันโดดเด่นได้ ไม่ใช่จุดอ่อน

ถ้าไม่นับเรื่องความสำเร็จจากความบังเอิญโชคดี แบบลูกฟุตบอลหล่นใส่เท้าแล้วกลิ้งเข้าประตูฝ่ายตรงข้ามในขณะที่คุณนอนกลิ้งอยู่กับพื้น แถมผู้รักษาประตูกำลังแสบตาจากขี้ดินที่พลัดไปเข้าตาในเวลานั้นพอดี ความบังเอิญขนาดนี้ หวังได้ แต่หาไม่ได้ เหมือนกับคุณซื้อหวยน่ะ คือหวัง(ลมๆแล้งๆ)ได้ แต่หา(หวยใบที่จะถูกรางวัล)ไม่ได้

แต่ในชีวิตนึง คุณจะมีโอกาสถูกรางวัลใหญ่ๆสักกี่ครั้งกัน ? ก็อยู่ที่คุณแล้วล่ะว่า คุณจะใช้เวลาทั้งชีวิตเพื่อรอความบังเอิญจากรางวัลใหญ่ หรือว่าจะสร้างผลงานอันยิ่งใหญ่ด้วยตัวคุณเอง

คุณจะพบจุดแข็งของคุณได้จากการวิเคราะห์ผลตอบกลับ (Feedback Analysis) วิธีการก็คือคุณต้องจดบันทึกสิ่งที่คุณคาดหวังทุกครั้งที่คุณต้องตัดสินใจ หรือต้องทำอะไรที่สำคัญ และเมื่อเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่ง คุณก็ลองเอาสิ่งที่คุณอยากได้ที่คุณจดไว้ เทียบกับสิ่งที่คุณได้มาจริงจากการกระทำหรือการตัดสินใจของคุณ

เมื่อคุณทำการเปรียบเทียบอย่างนี้บ่อยๆ คุณก็จะเห็นถึงสิ่งที่คุณมักจะทำได้ดี ซึ่งนั่นก็คือจุดแข็งของคุณ และสิ่งที่คุณมักจะทำไม่ได้ตามที่ตั้งความหวังไว้ นั่นก็คือจุดอ่อนของคุณ สิ่งที่คุณควรจะทำเมื่อพบจุดแข็งของคุณก็คือ

เน้นการทำงานโดยอาศัยจุดแข็งของคุณ อย่างที่กล่าวไว้ตั้งแต่ต้นว่า คุณจะสร้างผลงานอันโดดเด่นได้โดยอาศัยจุดแข็งเท่านั้น เมื่อคุณรู้จักจุดแข็งของตัวเองแล้ว ทุกครั้งที่ต้องตัดสินใจ หรือทำอะไร ก็ให้วางอยู่บนจุดแข็งของคุณ หลีกเลี่ยงที่จะต้องทำงานบนพื้นฐานของจุดอ่อน เรียกได้ว่า เป็นการเลือกชัยภูมิที่คุณได้เปรียบเป็นสมรภูมิทุกครั้งที่คุณสามารถเลือกได้

ทุ่มเทปรับปรุงจุดแข็งของคุณ จุดแข็งของคุณ มันมีความหมายว่าเป็นสิ่งที่คุณทำได้ดีกว่าอย่างอื่น แต่มิได้หมายความว่าคุณจะทำได้ดีกว่าคนอื่น คุณอาจทำสิ่งนี้ได้ดีกว่าบางคน แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่ทำสิ่งนี้ได้ดีกว่าคุณ ซึ่งหากว่าคุณทุ่มเทในการปรับปรุงจุดแข็งของคุณไปเรื่อยๆ บนจุดแข็งของคุณนี้ ก็คงจะมีคนไม่มากนักหรอกที่จะสามารถทำได้ดีกว่าคุณ และคุณไม่จำเป็นต้องทุ่มเทในการปรับปรุงจุดอ่อน เพราะการจะพัฒนาจากจุดอ่อนมาสู่ระดับสามัญ มันต้องใช้ทรัพยากรมาก มากกว่าที่คุณจะใช้ในการทำให้จุดแข็งเป็นจุดแข็งปึ๊กมากนัก และผลที่ได้ก็ไม่คุ้มค่าอีกด้วย

ค้นหาและกำจัดจุดบอดของคุณที่เกิดจากความทะนงตัว บางคน หรือบางวิชาชีพจะมีความทะนงตัวที่จะเรียนรู้ หรือทำอะไรบางอย่าง เพราะรู้สึกว่าเป็นการลดตัว หรือเสียเกียรติที่จะต้องทำเช่นนั้นทั้งๆที่มันไม่ใช่สิ่งที่ผิดอะไรเลย ความรู้สึกทะนงตัวเช่นนี้ เป็นการปิดกั้นโอกาสของตัวเองในการที่จะใช้จุดแข็งของคุณอย่างเต็มที่

2. คุณทำงานอย่างไร

ในหัวข้อนี้คุณต้องค้นหาตัวเองในเรื่องเกี่ยวกับวิธีการที่คุณถนัดในการรับข้อมูล และการแปรข้อมูลเป็นผลงาน

คุณเป็นนักอ่าน หรือนักฟัง บางคนถนัดในการรับข้อมูลด้วยการฟัง ด้วยการฟังการนำเสนอข้อมูล เขาจะสามารถจับประเด็น และเก็บข้อมูลได้มากกว่าการอ่านรายงาน แต่บางคนถนัดในการละเลียดรับข้อมูลอย่างพินิจพิจารณาด้วยการอ่านที่สามารถกลับมาอ่านซ้ำได้เมื่อรู้ตัวว่าพลาดข้อมูลไปบางช่วง

คุณเรียนรู้ด้วยวิธีใด หลังจากที่คุณรับข้อมูลเข้ามา ก็เป็นกระบวนการวิเคราะห์ และสังเคราะห์ข้อมูล เพื่อที่จะได้ความเข้าใจ ความคิด ความจำ หรือแผนการดีๆ ในกระบวนการนี้ บางคนจะถนัดในการลองผิดลองถูกด้วยการลงมือทำจริงๆ บางคนกลับชอบจับปากกานั่งคิดนั่งเขียนไปเรื่อยเพื่อทำความเข้าใจกับเรื่องราว แต่บางคนกลับถนัดที่จะใช้วิธีพูด กล่าวกันว่า มีผู้บริหารบางคนที่ถนัดวิธีพูด เขาจะเรียกประชุมพนักงานของเขาเพื่อหาความคิดดีๆ โดยที่เขาจะเป็นฝ่ายพูด ที่ประชุมเพียงแค่นั่งฟัง หรืออาจจะถามคำถามโต้แย้งบ้าง เพื่อช่วยเกลาแนวความคิดของผู้บริหารที่ถนัดเรียนรู้ด้วยการพูด ความคิดดีๆที่ออกมาก็ไหลออกมาจากการคิดในขณะที่พูดนั่นเอง คุณก็เช่นกัน ต้องหาให้ได้ว่า คุณถนัดวิธีไหน

คุณถนัดทำงานกับทีม หรือโดดเดี่ยว นี่เป็นวิธีการทำงานของแต่ละคนที่ถนัดไม่เหมือนกัน กล่าวกันว่า คนไทยถนัดที่จะทำงานคนเดียว คนไทยจึงเก่งกีฬาที่อาศัยแต่ความสามารถเฉพาะตัว แต่ถ้าเป็นกีฬาที่เล่นเป็นทีมแล้ว จะไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไหร่ ในการประชุมปรึกษาหารือของผู้บริหารคนไทย จึงมักออกมาในรูปพากันออกทะเลหาฝั่งกลับไม่เจอ หรือไม่ก็กลายเป็นการวิวาทะกันไป

คุณทำงานได้ดีในฐานะที่ปรึกษา หรือผู้ตัดสินใจ บางคนถนัดในการตัดสินใจเลือก แต่บางคนกลับถนัดที่จะเสนอทางเลือกเพื่อให้คนอื่นตัดสินใจ ผู้นำคือผู้ที่มีหน้าที่ตัดสินใจ จะต้องรับแรงกดดันจากผลการตัดสินใจ จึงต้องเป็นคนที่มีความสามารถในการจัดการกับแรงกดดันได้ดี ซึ่งต่างจากผู้ที่ให้คำปรึกษา ซึ่งรับผิดชอบที่การหาคำตอบดีๆให้แก่ผู้นำ ลักษณะงานที่แตกต่างกัน ก็อาศัยทักษะที่แตกต่างกัน คนที่เป็นลูกน้องที่ดีอาจไม่ใช่หัวหน้าที่ดีก็ได้

เมื่อคุณรู้จักตัวเองในเรื่องการทำงานแล้ว สิ่งที่คุณต้องทำคือคุณจะต้องมุ่งพัฒนาวิธีการทำงานของคุณให้ดีขึ้น มีประสิทธิผลมากขึ้น ไม่ใช่เปลี่ยนวิธีการทำงานไปจากวิธีที่คุณทำได้ดีอยู่แล้ว และอีกสิ่งที่คุณต้องทำก็คือ พยามยามทำงานด้วยวิธีของคุณ แบบที่คุณถนัด อย่าได้ไปใช้วิธีอื่น เพราะนั่นอาจเปลี่ยนแปลงคุณจากฮีโร่ให้กลายเป็นตัวตลกภายในเวลาไม่นาน

3. ค่านิยมของคุณคืออะไร

ในที่นี้คงจะไม่ได้กล่าวในด้านความผิดถูกของแต่ละค่านิยม ค่านิยมมันก็คือความเชื่อที่เป็นพื้นฐานของการกระทำทั้งหลายของคุณ ซึ่งรวมไปถึงการทำงานด้วย หากค่านิยมของคุณขัดแย้งกับแนวทางการทำงานของหน่วยงาน มันก็คงยากที่จะอยู่ร่วมกันได้นาน หากจะอยู่ได้ คุณก็คงจะปั้นผลงานเด็ดๆออกมาได้ยาก

ลองคิดดูว่า ถ้าคุณเป็นคนที่ศีลธรรมสูง แต่ไปอยู่หน่วยงานที่แสวงหากำไรทุกวิธีไม่สนใจเรื่องศีลธรรม อย่างนี้ คุณจะอยู่ร่วมงานอย่างไร คุณจะเปลี่ยนตัวเองโดยลดระดับศีลธรรมของตัวเองลง หรือว่าจะทำงานไปเรื่อยๆเช้าชามเย็นชาม เพื่อให้ไม่ขัดกับความรู้สึกของคุณมากนัก

ถ้าเป็นค่านิยมในเรื่องที่ไม่สำคัญกับคุณมากนัก คุณก็คงจะสามารถเปลี่ยนตัวเองได้ แต่ถ้าหากเป็นเรื่องสำคัญ แทนที่คุณจะอยู่ไปเรื่อยเปื่อยนั้น คุณน่าจะหาหน่วยงานใหม่ที่ค่านิยมสอดคล้องกันกับคุณ เพื่อที่คุณจะได้แสดงฝีมือออกมากให้เต็มที่เช่นนี้ไม่ดีกว่าหรือ


คุณเหมาะกับที่ไหน

เมื่อคุณสามารถตอบคำถามทั้งสามข้อเกี่ยวกับตัวคุณเองแล้ว คุณก็จะรู้จักตัวคุณเอง คุณจะรู้ได้เองว่า อะไรเหมาะ หรือไม่เหมาะกับคุณ ที่จริงคงไม่ต้องบอก คุณก็รู้ได้เองอยู่แล้วว่า สิ่งที่เหมาะกับคุณก็คือสิ่งที่คุณทำได้ดี ด้วยวิธีที่คุณถนัด และสอดคล้องกับค่านิยมของคุณ

เมื่อคุณรู้เช่นนี้แล้ว สิ่งที่คุณต้องทำคือการตัดสินใจ คุณต้องกล้าปฏิเสธสิ่งที่ไม่เหมาะกับคุณ เช่นเดียวกับที่คุณต้องกล้าตอบรับสิ่งที่เหมาะกับคุณ เพราะมันคือโอกาสที่คุณจะได้สร้างผลงาน

มีผู้กล่าวว่า ความสำเร็จใดๆก็ตาม เป็นผลมาจากโอกาส 10% อีก 90% เป็นผลมาจากการเตรียมตัวให้พร้อมเมื่อโอกาสมาถึง ถ้าคุณไม่รู้จักตัวเอง ก็เหมือนกับการที่คุณตั้งตารออะไรบางอย่างที่คุณไม่ได้รู้จักมาก่อน ต่อให้คุณได้โอกาสมาอยู่ในมือคุณ คุณก็จะโยนมันทิ้งไปโดยไม่รู้สึกอะไร หรืออาจจะทำมันหล่นใส่เท้าให้เจ็บตัวเสียก็ไม่แน่

การได้อยู่ในที่ที่เหมาะกับตัวเอง สามารถเปลี่ยนคนธรรมดาที่ขยันขันแข็ง และมีความสามารถ แต่มีผลงานธรรมดา ให้กลายเป็นผู้มีผลงานอันโดดเด่นได้

คุณอยากเป็นคนธรรมดาคนนั้นหรือเปล่าล่ะ

1 ความคิดเห็น:

  1. ข้อมูลลนี้มีประโยชน์อย่างมากเลยทีเดียวสำหรับปรับเปลี่ยนชีวิต ขอบคุณค่ะ

    ตอบลบ