วันอาทิตย์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

นิยามปัญหา : จุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหา

ในการเริ่มต้นแก้ปัญหา สิ่งสำคัญก็คือคุณต้องนิยามปัญหาออกมาเป็นถ้อยคำให้ครอบคลุม ชัดเจน ลึกซึ้ง และตรงกับปัญหาจริงๆ

เหตุผลที่ต้องระบุออกมาเป็นถ้อยคำ เพราะมันเป็นง่ายกว่าที่คุณจะจับสิ่งที่สัมผัสได้ด้วยอายตนะมากกว่าหนึ่งทางมาพิจารณาอย่างละเอียด หากมันเป็นเพียงปัญหาที่วนเวียนในหัวของคุณ มันง่ายมากที่คุณจะพลัดหลงกับมันในระหว่างการสำรวจปัญหา แต่เมื่อคุณได้เขียนปัญหาไว้ชัดเจน อย่างน้อย สายตาของคุณก็จะช่วยตรึงความคิดของคุณไว้กับปัญหาได้อีกทางหนึ่ง

การที่คุณระบุปัญหาออกมาเป็นถ้อยคำที่ชัดเจน ยังช่วยในการตรวจสอบย้อนกลับในขั้นต่อๆไปของการวางแผนได้อีกด้วย เช่นเมื่อคุณได้แผนออกมาแล้ว คุณสามารถที่จะคาดการณ์คร่าวๆถึงผลลัพธ์ที่เกิดจากแผนนั้น เมื่อเทียบกับปัญหาที่คุณเขียนไว้อย่างชัดเจนแล้ว แผนนั้นพอจะสามารถแก้ปัญหาของคุณได้จริงหรือไม่ นั่นจะบอกถึงความใช้การได้ของแผน

ปัญหาที่ได้รับการนิยามอย่างดี ถือว่าได้รับการแก้ไขไปแล้วครึ่งหนึ่ง แต่การที่คุณจะนิยามปัญหาได้ครอบคลุมจุดที่เป็นปัญหาจริงๆนั้น จะต้องอาศัยการสำรวจปัญหาให้รอบด้านเสียก่อน

เทคนิคหนึ่งที่อาจนำมาใช้เพื่อค้นหาปัญหาที่แท้จริงของคุณก็คือ ให้คำจำกัดความของปัญหาเสียก่อน จากนั้นให้ถามตัวเองว่า ทำไมปัญหาของคุณจึงเป็นปัญหา แล้วถามต่อไปถึงเหตุของปัญหาของคุณว่า ทำไมมันถึงเป็นปัญหาอีก ถามอย่างนี้ให้ลึกลงไปเรื่อยๆ ด้วยวิธีนี้ จะทำให้คุณเข้าใจปัญหาได้ลึกซึ้งมากขึ้น

เมื่อคุณรู้สึกคับข้องใจในการประกอบการ รู้สึกว่ามีปัญหารบกวนใจ คุณไม่อาจปล่อยให้มันจบเพียงแค่ความรู้สึกคับข้องใจที่ค้างคาใจคุณ คุณควรสำรวจลึกลงไปว่า ความคับข้องใจของคุณนั้นมากจากปัญหาในเรื่องใด สำรวจให้รอบด้าน ให้แน่ใจว่าคุณมองปัญหาของคุณในหลายๆมุม และลึกมากพอ

ผู้ประกอบการร้านขายยารายหนึ่งอาจพบว่า เขามีปัญหาเรื่องการมีเภสัชกรประจำร้านตามกฎหมาย ความต้องการเริ่มแรกของเขาอาจเป็นว่า ทำอย่างไรถึงจะแก้กฎหมายในเรื่องนี้

เมื่อเขาให้คำจำกัดความของปัญหาของเขาว่า “การไม่สามารถมีเภสัชกรอยู่ประจำร้านตามกฎหมายได้” เขาอาจตั้งคำถามว่า ทำไมการมีเภสัชกรประจำร้านตามกฎหมาย จึงเป็นปัญหาสำหรับเขา คำตอบอาจเป็นว่า เพราะเขาไม่มีความสามารถจ่ายค่าจ้างเภสัชกรในราคาตลาด

ถามต่อไปว่า ทำไมเขาจึงไม่มีความสามารถในการจ่ายค่าจ้างเภสัชกรในราคาตลาด คำตอบอาจเป็นว่า เพราะร้านเขาขายไม่ดีขนาดนั้น ลำพังเพียงแค่ค่าตัวเขา รายได้ที่หามานี้ ยังไม่พอเลย ในขณะที่ค่าจ้างเภสัชกรในราคาตลาดนั้น สูงกว่าค่าจ้างบุคลากรอื่นในท้องตลาดมาก

คำตอบนี้อาจแบ่งได้เป็นสองประเด็นคือ รายได้ของร้านต่ำ และ ค่าจ้างเภสัชกรสูง อย่างไรก็ตามการแก้ไขปัญหาเรื่องรายได้ของร้านเขาร้านเดียว น่าจะทำได้ง่ายกว่าการแก้ปัญหาเรื่องค่าตัวเภสัชกรในท้องตลาดทั้งระบบ

เมื่อตั้งคำถามว่า ทำไมร้านเขาจึงขายไม่ดี คำตอบอาจเป็นว่า เพราะลูกค้าเข้าร้านเขาน้อย แถมขายไม่ได้ราคา เพราะตัดราคากัน

เหตุที่ลูกค้าเข้าร้านน้อยล่ะ คำตอบอาจเป็นว่า เพราะร้านถูกแย่งลูกค้าไป

ร้านของผู้ประกอบการรายนี้ เริ่มต้นที่ปัญหาการมีเภสัชกรตามกฎหมาย แต่เมื่อค้นลึกลงไปเรื่อยๆ ปัญหากลับอยู่ที่ศักยภาพของร้าน

ดังนั้น หากเขามิได้สำรวจปัญหาให้รอบด้านเสียก่อนที่จะดำเนินการแก้ไขปัญหา เขาอาจจะเดินผิดทาง เสียทรัพยากร และเวลาในการดำเนินการที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้หมดไปอย่างแท้จริง

วิธีที่เราระบุปัญหา จะกำหนดวิธีแก้ปัญหาของเรา

สมมุติว่าเขาสามารถผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายได้จริง แต่ปัญหาเรื่องการขาดศักยภาพของร้านของเขาก็ยังอยู่ เขาก็ยังต้องประสบกับปัญหาเรื่องยอดขายไม่ดี ผลประกอบการแทบจะไม่พอเลี้ยงตัว เป็นปัญหาให้เขาต้องแก้ไขต่อไป ทั้งๆที่ต้องเพิ่งเหนื่อยกับการผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายสำเร็จ

แต่หากว่า เขาสามารถสำรวจปัญหาของตัวเองให้รอบด้านเสียก่อน เขาจะสามารถวางแนวทางแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด โดยการมุ่งเป้าไปที่การแก้ไขเรื่องศักยภาพของร้านเขาให้ลุล่วงไป เขาก็จะหลุดจากปัญหาเรื่องการมีเภสัชกรตามกฎหมายไปด้วยพร้อมๆกัน ซึ่งก็ต้องอาศัยการตั้งเป้าหมายของการแก้ปัญหาให้ตรงกับความต้องการที่แท้จริง

เมื่อคุณจับปัญหาของคุณมาพลิกคว่ำพลิกหงาย ทั้งตะแคงซ้ายขวาเพื่อตรวจสอบจนรอบด้านแล้ว ก็ได้เวลาที่คุณจะตั้งเป้าหมายของการแก้ปัญหา ซึ่งจะต้องเป็นสิ่งที่คุณต้องการจริงๆ

เป้าหมายของการแก้ปัญหาของคุณคืออะไร ?

ต้องการประกอบธุรกิจร้านขายยาต่อไป หรือ ต้องการธุรกิจสำหรับเลี้ยงครอบครัว หรือ ต้องการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ฯลฯ

ไม่ว่าคุณจะตั้งเป้าหมายอย่างไร ขอให้เป้าหมายนั้น เป็นความต้องการที่แท้จริงของคุณ ไม่ใช่เป็นเพียงวิธีการที่คุณจะใช้ในการเดินไปสู่จุดหมาย

บ่อยครั้งเรามักจะหลงถือเอาวิธีการมาเป็นเป้าหมาย

เป้าหมายของเราไม่อาจเปลี่ยน อย่างน้อยก็เปลี่ยนได้ยาก แต่วิธีการไปสู่เป้าหมายนี่สิ เปลี่ยนได้

มันสำคัญด้วยหรือ ว่าคุณจะไปโรงเรียนด้วยแท๊กซี่สีเขียวเหลือง หรือสีชมพู แม้กระทั่งการไปด้วยรถเมล์ก็ตาม ตราบใดที่การไปถึงโรงเรียนนั้นด้วยวิธีนั้น อยู่ในเงื่อนไข และผลที่คุณพอจะรับได้

วิธีการ ไม่ได้สำคัญมั่นคงไปกว่าเป้าหมาย

สิ่งทีผู้ประกอบการรายนี้ต้องการจริงๆ ไม่ใช่การแก้ไขกฎหมาย แต่อาจอยู่ที่การอยู่รอดได้ในระยะยาวของธุรกิจต่างหาก ซึ่งลำพังเพียงแค่การแก้ไขกฎหมาย มิอาจทำให้ธุรกิจของเขาอยู่รอดได้

คุณเคยลองจับปัญหาของคุณมาพิจารณาบ้างหรือยัง ปัญหาของคุณคืออะไร เป้าหมายของคุณอยู่ตรงไหน ?

วันพุธที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ยาต้องห้ามทำธุรกรรม
โดย : ปริญญา อัครจันทโชติ ถึงแม้ว่าเราจะเป็นผู้รับอนุญาตขายยาแล้ว ก็ไม่ใช่ว่าเราจะสามารถขายยาได้ทุกประเภท ยังมียาบางประเภทที่เราไม่สามารถจะไปเกี่ยวข้องทำธุรกรรมใดๆกับมัน ไม่ว่าจะเป็นร้านขายยาประเภทใด หรือแม้แต่โรงพยาบาลเองก็ตาม
ยาที่ว่านี้ มีกล่าวไว้ในพระราชบัญญัติยา พ.ศ.๒๕๑๐ มาตรา 72 โดยแบ่งยาที่ต้องห้ามทำธุรกรรมใดๆไว้เป็น 6 ประเภท คือ1. ยาปลอม2. ยาผิดมาตรฐาน3. ยาเสื่อมคุณภาพ4. ยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา5. ยาที่ทะเบียนยาถูกยกเลิก6. ยาที่ถูกเพิกถอนทะเบียนตำรับยา
ยาปลอม
มาตรา 73 ได้ให้ความหมายของยาปลอมไว้ว่า หมายถึง
(1) ยาที่มีสิ่งแปลกปลอมต่างไปจากทะเบียนตำรับยา
(2) ยาที่แสดงชื่อว่าเป็นยาอื่น หรือแสดงเดือน ปี ที่ยาสิ้นอายุ ซึ่งมิใช่ความจริงในอนุมาตรานี้ อาจแยกยาปลอมได้เป็น 2 ลักษณะ คือ
ยาที่แสดงชื่อเป็นยาอื่น หรือ ปลอมที่ชื่อ
ยาที่แสดงเดือน ปี ที่ยาสิ้นอายุซึ่งมิใช่ความจริง หรือปลอมวันหมดอายุ
(3) ยาที่แสดงว่าเป็นยาชื่อ หรือเครื่องหมายของผู้ผลิต หรือที่ตั้งสถานที่ผลิตยาซึ่งมิใช่ความจริง ในอนุมาตรานี้ มีลักษณะที่ถือว่าเป็นการปลอม 3 ลักษณะคือ
แสดงชื่อของผู้ผลิต ซึ่งมิใช่ความจริง
แสดงเครื่องหมายของผู้ผลิต ซึ่งมิใช่ความจริง
แสดงสถานที่ผลิตยา ซึ่งมิใช่ความจริง
(4) ยาที่ปลอมทะเบียนตำรับยา ไม่ว่าจะอ้างถึงตำรับยาที่มีการขึ้นทะเบียนไว้จริงหรือไม่ ก็ถือเป็นยาปลอมทั้งสิ้น
(5) เป็นกรณีที่ทุกอย่างถูกต้องหมด เพียงแต่ผลที่ได้ออกมา ความแรงของสารออกฤทธิ์ มีความเบี่ยงเบนจากค่ามาตรฐาน มากกว่าที่กำหนดไว้ในทะเบียนตำรับยา +/- 20% คือเป็นความผิดพลาดของกระบวนการผลิต ก็ทำให้ยากลายเป็นยาปลอมได้ตามอนุมาตรา (5) นี้
ยาผิดมาตรฐาน
มาตรา 74 ให้ความหมายของยาผิดมาตรฐานไว้ว่า หมายถึง
(1) ยาที่ความแรงของสารออกฤทธิ์ ขาดหรือเกินจากเกณฑ์ต่ำสุดหรือสูงสุดที่กำหนดไว้ในตำรับยาที่ขึ้นทะเบียนไว้ตามมาตรา 79 แต่ไม่ถึงขนาดดังกล่าวในมาตรา 73 (5)
ยาผิดมาตรฐานตามข้อนี้ คล้ายกับยาปลอม ความแตกต่างอยู่ตรงที่ความเบี่ยงเบนจากมาตรฐานของสารออกฤทธิ์
หากอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ก็ถือเป็นยาปกติ
หากเบี่ยงเบนจากมาตรฐาน +/- น้อยกว่า 20% ถือว่าเป็นยาผิดมาตรฐาน
หากเบี่ยงเบนจากมาตรฐาน +/- มากกว่า 20% ถือว่าเป็นยาปลอม
(2) ยาที่ความบริสุทธิ์ หรือลักษณะอื่นที่จะมีผลต่อคุณภาพยาไม่เป็นไปตามเกณฑ์
ยาเสื่อมคุณภาพ
มาตรา 75 ให้ความหมายของยาเสื่อมคุณภาพไว้ว่า หมายถึง(1) ยาที่สิ้นอายุตามที่แสดงไว้ในฉลาก(2) ยาที่ถูกต้องตามมาตรฐาน แต่ได้นำมาแปรสภาพจนมีผลต่อคุณภาพของตัวยา ไม่ว่าเป็นเรื่องของ
ความแรงของสารออกฤทธิ์ที่เบี่ยงเบนจากเกณฑ์มาตรฐาน (การเบี่ยงเบนนี้รวมทั้งกรณี +/- มากกว่า 20% และกรณี +/- น้อยกว่า 20%) หรือ
ความบริสุทธิ์ในขั้นตอนการผลิต
ยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา
ยาที่จะขายได้ ต้องเป็นยาที่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยากับทางคณะกรรมการอาหารและยาไว้แล้วเท่านั้น
ยาที่ทะเบียนยาถูกยกเลิก
คือยาที่ขึ้นทะเบียนตำรับยาไว้แล้ว แต่มิได้มีการผลิต หรือนำหรือสั่งเข้าฯ เป็นเวลา 2 ปีติดต่อกัน ทะเบียนตำรับยานั้นเป็นอันยกเลิกตามมาตรา 85
ยาที่ถูกเพิกถอนทะเบียนตำรับยา
ยาที่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาไว้แล้ว จะถูกเพิกถอนทะเบียนเมื่อ
ยานั้นไม่มีสรรพคุณตามที่ขึ้นทะเบียนไว้ หรือ
อาจไม่ปลอดภัยแก่ผู้ใช้ หรือ
เป็นยาปลอม หรือ
ยานั้นได้เปลี่ยนไปเป็นวัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้เป็นอาหาร หรือเครื่องสำอาง
ทีนี้เรามาดูโทษของการเข้าไปยุ่งเกี่ยวขายยาต้องห้ามเหล่านี้