วันพุธที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2555

การหาไอเดียสำหรับรูปแบบธุรกิจ 2 – วิธีมองสิ่งที่เหมือนกัน ให้เห็นต่างออกไป




หากว่าคุณต้องการจะมีรูปแบบธุรกิจใหม่ๆที่คุณครอบครองเพียงเจ้าเดียว เพื่อที่คุณจะเป็นผู้ผูกขาดและทำกำไรจากมัน คุณก็ต้องมีวิธีการมองหาที่ไม่เหมือนกับคนอื่นด้วย
รูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ไม่ใช่สิ่งที่คุณสามารถหาซื้อได้ตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำทั่วไป แต่เป็นสิ่งที่คุณต้องคิดออกแบบขึ้นเอง โดยตอบคำถามในเบื้องต้น สองคำถามดังที่กล่าวไปแล้วในตอนที่ผ่านมา
การคิดสร้างรูปแบบใหม่ๆ จะเกี่ยวข้องกับความคิดสร้างสรรค์อย่างแยกไม่ออก แต่ความคิดสร้างสรรค์ ก็เป็นคนละเรื่องกับพรสวรรค์
มันเป็นสิ่งที่เรียนรู้ได้ ฝึกให้มี ให้เป็นได้
มีวิธีที่นิยมใช้เพื่อมองสิ่งที่เหมือนกัน แต่เห็นไม่เหมือนใคร ซึ่งในที่นี้จะขอนำเสนอ 4 วิธี คือ

1.       ขยายความจากข้อมูลที่เปิดเผยโดยทั่วไป
คนส่วนใหญ่ใช้ข้อมูลเหล่านั้นแบบดิบ คือนำมาใช้โดยไม่ผ่านกระบวนการ กรอง ผสม แปรรูป เป็นต้นว่า หากมีข้อมูลว่า เปิดร้านขายข้าวในซอยนี้ดี คนส่วนใหญ่ก็จะแห่กันมาเปิดร้านขายข้าวในซอยนี้ จนในที่สุด ซอยนี้ก็เต็มไปด้วยร้านขายข้าว
หากคุณต้องการใช้ข้อมูลชุดเดียวกับที่ใครๆก็มี เพื่อได้บางอย่างที่คนอื่นไม่มี คุณก็ต้องนำข้อมูลเหล่านี้ไปผ่านกระบวนการเสียก่อน เป็นต้นว่าการคาดการถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป ซึ่งคุณจะคาดหมายได้ว่า ในที่สุด ซอยนี้จะเต็มไปด้วยร้านขายข้าว ซึ่งแม้ว่าจะดึงดูดลูกค้ามามากมาย แต่ก็ต้องแข่งขันกันระหว่างร้านต่อร้าน หากว่าคุณจะคิดเลยไปถึงการใช้ประโยชน์จากการที่มีการเปิดร้านขายข้าวจำนวนมากในซอย คุณก็จะได้รับประโยชน์โดยที่ไม่ต้องไปแข่งเปิดร้านขายข้าวกับใคร
เช่น คุณอาจจะเปิดให้บริการเป็นสถานที่นั่งรับประทานอาหาร โดยให้ลูกค้าสั่งจากร้านใดก็ได้ในซอย คุณก็จะสามารถดึงคนเข้ามานั่งในร้านคุณได้จำนวนมาก เพราะลูกค้า โดยเฉพาะที่มาเป็นกลุ่ม ไม่ต้องเลือกแบบได้อย่างเสียอย่าง คือสั่งอาหารได้จากร้านเดียวที่เข้าไปนั่ง ส่วนที่มาของรายได้ของคุณ ก็อาจเป็นการตกลงแบ่งผลประโยชน์กับร้านต่างๆในซอยนั้น หรือการผูกขาดขายเครื่องดื่ม หรือขนมภายในสถานที่ของคุณ เป็นต้น

2.    ท้าทายความเชื่อเดิม
ความเชื่อดั้งเดิม เป็นเรื่องของพื้นฐานความคิด หรือวิธีที่เราใช้ในการรับรู้ กลั่นกรองข้อมูล และตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจของเรา
เมื่อเวลาเปลี่ยนไป สังคมซับซ้อนขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย ความเชื่อดั้งเดิมของธุรกิจหลายๆความเชื่อเริ่มจะไม่เป็นจริงตามนั้น ความเชื่อเช่นนี้ จะฉุดดึงธุรกิจให้ก้าวไปได้ช้า หรือแม้กระทั่งชี้นำการตัดสินใจให้ผิดพลาด
เราเคยเชื่อว่า ร้านขายยาเป็นที่พึ่งอันดับแรกของประชาชน เมื่อคนเจ็บป่วย ยังไงก็ต้องมาร้านขายยาก่อน เราจึงเปิดร้านแบบตั้งรับ รอการมาใช้บริการของลูกค้า เราเคยเชื่อว่า ผู้บริโภครู้เรื่องยาและสุขภาพน้อยกว่าเรา เราจึงจัดร้านแบบที่เก็บสินค้าทุกอย่างไว้ข้างหลังเรา รอให้ลูกค้ามาถาม แล้วเราจึงจะหยิบส่งมอบให้
การท้าทายความเชื่อเดิม จึงเป็นการแหวกธรรมเนียมปฏิบัติแต่เดิม เพื่อให้ได้รูปแบบธุรกิจใหม่อีกวิธีหนึ่ง

3.    ค้นหาความต้องการที่แอบแฝงอยู่
บ่อยครั้งที่ผู้บริโภคเองก็ไม่รู้ถึงความต้องการของตัวเอง ผู้ประกอบการที่ทำการบ้านเป็นอย่างดีเท่านั้นจึงจะมองเห็นถึงความต้องการประเภทนี้
เมื่อหลายปีก่อน ครั้งที่สตีฟ จ๊อบส์ เดินถือแผ่นกระดานหน้าตาประหลาดออกมา แล้วบอกว่า มันคือคอมพิวเตอร์ประเภทหนึ่งที่เรียกว่าไอแพ็ด ผมคิดว่า จะทำออกมาทำไม ถ้าต้องการคอมพิวเตอร์พกพา เราก็มีโน๊ตบุ๊คที่ใช้ได้สะดวกอยู่แล้ว ผมไม่ได้คิดว่าจะขายดี แค่คิดว่าจะขายได้ก็คงจะเหนื่อย แต่ที่ไหนได้ เวลานี้ผมกลับรู้สึกว่า มันสามารถตอบสนองความต้องการของเราแบบที่เราไม่เคยนึกมาก่อนว่าเรามีความต้องการแบบนี้ด้วย มันคือคอมพิวเตอร์ที่พร้อมจะ “ตื่น” ขึ้นมาให้เราใช้ค้นข้อมูล หรืออ่านหนังสือทันทีที่เราต้องการ ไม่ต้องรออีกสองสามนาทีเพื่อให้มันเรียกระบบปฎิบัติการเมื่อเปิดเครื่องใหม่เหมือนกับโน๊ตบุ๊ค แถมพกพาสะดวกกว่าการแบกโน๊ตบุ๊คที่เคยคิดว่าสะดวกมากแล้ว

4.    ถอดประกอบสินทรัพย์เชิงกลยุทธ์ และทักษะขององค์การเสียใหม่
ธุรกิจของคุณเป็นที่รวมของหลายๆอย่างที่มีคุณค่า ไม่ว่าจะเป็นบุคลากร สินทรัพย์ หรือทักษะบางอย่าง ซึ่งคุณได้จัดรวมกันออกมาเป็นธุรกิจที่คุณกำลังทำอยู่ในขณะนี้
อย่างไรก็ตาม หากว่าคุณจัดการถอดมันออกแล้วประกอบมันขึ้นมาใหม่ เหมือนกับตัวต่อเลโก้ที่หลายๆคนเคยเล่นในสมัยเด็กๆ โดยใส่จินตนาการเข้าไป และอาศัยข้อมูลเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมบางอย่างที่คุณมีเป็นตัวนำทาง คุณก็จะได้รูปแบบธุรกิจขึ้นมาใหม่ที่สร้างจากสิ่งเดิมที่คุณมีอยู่

นี่เป็นส่วนหนึ่งของวิธีการมองสิ่งต่างๆ ให้เห็นได้ต่างไปจากผู้ประกอบการรายอื่น อาจต้องอาศัยการฝึกฝนบ้าง แต่ความสามารถเช่นนี้เป็นสิ่งที่ฝึกฝนได้ เป็นพรแสวง ไม่ใช่พรสวรรค์ที่ติดตัวมาแต่ชาติปางก่อน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น