ในรอบปีที่ผ่านมา เรามีกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคที่เพิ่งออกมาใช้บังคับอีกสองฉบับ คือ พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค และพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งได้นำเสนอสาระสำคัญให้ทราบมาแล้ว คราวนี้ เราจะมาเจาะลึกกันบางประเด็นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับร้านขายยา
ในพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับนั้น ตัว PL Law หรือ พระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายอันเกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย นั้น ใช้บังคับเฉพาะสินค้าเท่านั้น ไม่รวมถึงบริการ ซึ่งร้านขายยาทั่วไป คงจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการรับผิดตาม พระราชบัญญัติฉบับนี้ได้ยาก เว้นแต่ร้านขายยาที่ขายสินค้าที่ไม่สามารถระบุที่มาได้ ซึ่งจะทำให้ร้านขายยานั้นต้องรับผิดในฐานผู้ประกอบการแทนผู้ผลิตตัวจริงที่ไม่รู้หลักแหล่งที่มา
ดังนั้น คงไม่ต้องเตือน คุณก็คงจะรู้แล้วนะครับว่าสิ่งที่คุณต้องทำสำหรับประเด็นนี้ก็คือ เก็บหลักฐานที่สามารถยืนยันที่มาของสินค้าที่คุณขายไว้ให้ดี และอีกสิ่งหนึ่งก็คือ อย่าซื้อสินค้าที่ไม่สามารถระบุที่มาได้ หมายถึงระบุที่มาแบบถูกต้องตามกฎหมายนะครับ จำพวกสินค้าที่มีคนมาเดินเร่ขายให้กับร้านขายยาต่างๆ ที่เคยสงสัยกันว่า เป็นของที่ขโมยมาอีกต่อนึงนั้น ต่อไปนี้ ให้สันนิษฐานไว้อีกอย่างนึงด้วยว่า สิ่งนั้นอาจจะนำหายนะมาสู่ร้านของคุณถ้าหากว่ามันเป็นของปลอม หรืออาจเป็นของจริง แต่เสื่อมคุณภาพแล้วเนื่องจากการเก็บรักษาที่ไม่ดี หรือแม้กระทั่ง คุณอาจจะโดนร้านคู่แข่งหมั่นไส้ แกล้งให้ใครเอายาปลอมมาเร่ขายคุณ พอคุณซื้อไว้ด้วยความโลภ ต้องการกำไรเพิ่มอีกเล็กน้อย รอคุณจ่ายยานั้นต่อออกไป ก็เป๊ะ! เข้าล๊อก หายนะมาเยือนเลย เข้าแผนกำจัดคู่แข่ง
อีกเรื่องหนึ่งที่อาจเป็นเหตุให้คุณต้องตกเป็นผู้ต้องรับผิดในฐานนะผู้ประกอบการตาม PL Law ก็คือ “การบ่งบรรจุ” ในประเด็นนี้ เป็นที่ถกเถียงกันอยู่ เมื่อดูจากถ้อยคำตามพระราชบัญญัตินี้ที่ให้คำนิยามว่า ผู้แบ่งบรรจุ ถือเป็นผู้ผลิตที่ต้องรับผิดตามกฎหมาย แต่การเป็น “ผู้ผลิตยา” นั้น ตามพระราชบัญญัติยา ๒๕๑๐ กำหนดไว้ว่า จะต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการอาหารและยาก่อน ดังนั้น ผู้รู้บางท่านจึงให้ความเห็นว่า ผู้แบ่งบรรจุยา ไม่น่าจะเป็นผู้ผลิต ตาม PL Law ที่จะต้องรับผิดในฐานเป็นผู้ประกอบการ เรื่องนี้ จึงจำเป็นต้องรอการวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานจากศาลเสียก่อน ซึ่งผมเชื่อว่าคุณคงจะไม่อยากจะเป็นกรณีตัวอย่างให้ศาลตัดสินเป็นบรรทัดฐานเพื่อให้เพื่อนร่วมอาชีพได้ศึกษาใช้ประโยชน์ ดังนั้น การระวังเรื่องการจำหน่ายยาแบบแบ่งบรรจุ จึงเป็นการป้องกันที่ดีที่สุด
เรื่องการจำหน่ายยาแบบแบ่งบรรจุนี้ ในอนาคต บริษัทยาส่วนใหญ่เตรียมจะนำเสนอยาออกมาในรูปแบบ Consumer Pack คือบรรจุภัณฑ์สำหรับการใช้งานหนึ่งครั้ง หมายถึงหนึ่งโดสนะครับ ภายในบรรจุภัณฑ์จะมีเอกสารกำกับยาสำหรับลูกค้าแต่ละราย เพื่อร้านขายยาสะดวกในการขาย และเป็นการปลดตัวร้านขายยาเองออกจากการที่ต้องรับผิดตาม PL Law นี้ ส่วนที่เป็นบรรจุภัณฑ์ขนาดใหญ่ ก็คงจะผลิตออกมาจำหน่ายน้อยลง
PL Law มีไว้ใช้บังคับกับสินค้า มิใช่บริการ ผู้ผลิตสินค้าจึงเป็นเป้าหมายหลักของกฎหมายนี้ ดังนั้น ร้านขายยาซึ่งเป็นผู้ให้บริการ คือให้คำแนะนำเกี่ยวกับยาและจำหน่ายยาให้แก่ลูกค้า จึงไม่ต้องกังวลกับ PL Law มากนัก
ถึงแม้ว่าร้านขายยาไม่ต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดจากสินค้าไม่ปลอดภัยตาม PL Law แต่จะเป็นยังไง ถ้าหากว่ายาที่เคยปลอดภัย ใช้ได้ผลดี กลายเป็นยาที่เสื่อมคุณภาพ หรือไม่ปลอดภัย เพราะร้านขายยาเก็บรักษายาไม่ถูกต้องดังคำแนะนำ แล้วก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใช้ ?
กรณีนี้ แม้ว่าร้านขายยาไม่ใช่ผู้ประกอบการซึ่งจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายต่อลูกค้าตาม PL Law เพราะกฎหมายกำหนดให้ผู้ประกอบการคือบริษัทผู้ผลิตยานั้น จะเป็นผู้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เสียหาย แต่หลังจากผู้ผลิตยาชำระค่าเสียหายไปแล้ว ผู้ผลิตสามารถฟ้องร้องไล่เบี้ยเอาจากร้านขายยาที่เก็บรักษายาไม่ดี และจำหน่ายยาที่เก็บรักษาไม่ดีให้แก่ลูกค้าจนเกิดความเสียหายนั้นได้ ซึ่งเป็นการฟ้องร้องโดยอาศัยสิทธิ์ตามกฎหมายอื่น ก็คือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด หรือการผิดสัญญาระหว่างผู้ผลิต และร้านขายยา แล้วแต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เข้าสู่หลักการที่ว่า ใครเป็นผู้ทำผิด ผู้นั้นต้องเป็นผู้รับผิดชอบ เพียงแต่บริษัทผู้ผลิตยา จะเป็นตัวเป้าให้ผู้บริโภคได้ฟ้องร้องอย่างอุ่นใจ แล้วตัวเป้าอย่างผู้ผลิตยาค่อยมาทำหน้าที่แจกจ่ายหนึ้ตามคำพิพากษาที่ตนได้รับ ไปยังผู้สมควรต้องชดใช้ในรูปของการไล่เบี้ยนั่นเอง การหลุดพ้นจากความรับผิดตาม PL Law จึงมิได้หมายความว่า จะไม่ต้องรับผิดชดใช้ในความเสียหายที่ตนก่อขึ้น
นอกจากนี้ กฎหมายที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคที่ออกมาใหม่นี้ มิได้มีเพียง PL Law เท่านั้น หากแต่ยังมี พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค (พรบ.วิ.คดีผู้บริโภค) ด้วย
พรบ.วิ.คดีผู้บริโภคนี้เป็นกฎหมายวิธีสบัญญัติ หรือกฎหมายว่าด้วยวิธีดำเนินการในศาล ซึ่งใช้บังคับกรณีข้อพิพาทเป็นความแพ่งระหว่างฝ่ายผู้บริโภคและผู้ประกอบธุรกิจซึ่งพิพาทกันเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายอันเนื่องมาจากการบริโภคสินค้าและบริการ ซึ่งต่างจาก PL Law ที่บังคับเฉพาะสินค้าเท่านั้น
ดังนั้น การประกอบธุรกิจร้านขายยา แม้ว่าจะไม่ถูกบังคับตาม PL Law หากว่าร้านขายยาถูกลูกค้าฟ้องร้องอันเนื่องมาจากการใช้บริการในร้านขายยา เมื่อคดีขึ้นสู่ศาลในส่วนของความแพ่ง ศาลก็จะใช้ พรบ.วิ.คดีผู้บริโภค เป็นเกณฑ์วิธีการในการดำเนินคดีในศาล
มีอะไรบ้างใน พรบ.วิ.คดีผู้บริโภค ที่ร้านขายยาควรรู้ ?
มีหลายประเด็น แต่เคยกล่าวไว้แล้วในวารสารฉบับก่อนหน้านี้ ในที่นี้จะขอพูดถึง ๒ ประเด็นคือ เรื่องอายุความ และค่าเสียหายตามคำพิพากษา
เรื่องอายุความ เนื่องจากยาเป็นสิ่งที่เข้าข่ายอาจก่อให้เกิด “เป็นอันตรายแก่ร่างกาย ... โดยผลของสารสะสมในร่างกาย” จึงมีอายุความฟ้องร้องอยู่ที่ สามปีนับตั้งแต่รู้ถึงความเสียหาย และรู้ตัวผู้ที่ต้องรับผิดต่อความเสียหายนี้ แต่ถ้าหากรู้ถึงความเสียหาย แต่ไม่รู้ว่าใครเป็นผู้ต้องรับผิด คือยังหันรีหันขวางหาตัวคนทำผิดที่จะฟ้องไม่เจอ กรณีนี้ อายุความอยู่ที่สิบปีนับตั้งแต่รู้ถึงความเสียหาย คือให้เวลาผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายเพิ่มอีกเจ็ดปีในการตามหาตัวคนก่อเรื่องมา(ถูก)ฟ้องคดี
สังเกตว่า อายุความเริ่มนับหนึ่งเมื่อ “รู้ถึงความเสียหาย” นะครับ เมื่อไหร่ที่รู้ถึงความเสียหาย ก็เริ่มนับหนึ่ง หากยังไม่รู้ก็ยังไม่เริ่มนับ
การเริ่มอายุความแบบนี้ ก็เหมือนกับการผูกจุดเริ่มต้นไว้กับอะไรสักอย่างที่มันลอยอยู่ในอนาคต ที่พร้อมจะลอยหนีเราไปเรื่อยๆตามวันเวลาที่ผ่านไป ทุกวันที่ผ่านไป จุดเริ่มต้นที่ว่านี้ก็จะลอยนำไปข้างหน้าเสมอตราบใดที่ยังไม่รู้ถึงความเสียหาย อายุความก็ยังไม่เริ่มนับหนึ่ง เช่นนี้ เป็นไปได้ว่าการให้บริการที่ผิดพลาดของคุณในวันนี้อาจจะประทุเป็นเรื่องเดือดร้อนให้คุณในอีกสามสิบปีให้หลังก็ได้ หากลูกค้าของคุณเพิ่งจะรู้ว่าเขาได้รับความเสียหายนั้นหลังจากใช้บริการในร้านของคุณไปแล้วสามสิบปี อายุความจึงเริ่มนับหนึ่งในตอนนั้น
คุณอาจสงสัยว่า ใครจะบ้าเก็บหลักฐานไว้ถึงสามสิบปี แค่สิบปีตามกฎหมายอื่น ก็แทบจะต้องเช่าโกดังไว้เพื่อเก็บเอกสารอย่างเดียวแล้ว
ผมก็ไม่ทราบครับว่าใครจะเก็บหลักฐานได้ถึงสามสิบปี แต่ตัวเลขสามสิบปีนี้ เป็นตัวเลขสมมุติครับ หากคุณอยากจะปลอดภัยจริงๆ คุณอาจจะต้องเก็บไว้นานกว่านั้นครับ
ในข่าวร้ายก็ยังมีข่าวดี ก็คือ เรื่องหลักฐานที่ต้องเก็บเป็นปริมาณมหาศาลนี้ ในปัจจุบัน ศาลเริ่มยอมรับหลักฐานที่เป็นไฟล์ดิจิตอลแล้ว ซึ่งก็จะช่วยให้คุณใช้พื้นที่ในการจัดเก็บเอกสารน้อยลง จากการเช่าโกดังไว้เก็บเอกสาร ก็เหลือเพียง จับมันยัดใส่ในคอมพิวเตอร์ให้หมด แต่ขอย้ำว่า ศาลเริ่มรับฟังบ้างนะครับ ไม่ใช่ว่ารับฟังเต็มร้อย
อีกเรื่องหนึ่งก็คือค่าเสียหายที่ศาลจะสั่งให้ผู้ประกอบการชดใช้ให้แก่ผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหาย ในคดีผู้บริโภคนี้ นอกจากค่าเสียหายจากความเสียหายที่เห็นได้ชัดเจน และค่าเสียหายที่เห็นไม่ชัดเจนอย่างค่าเสียหายทางจิตใจที่ศาลอาจสั่งให้ผู้ประกอบการที่แพ้คดีชดใช้ให้แก่ผู้เสียหายแล้ว ในคดีผู้บริโภค ศาลอาจสั่งให้ผู้ประกอบการชำระค่าเสียหายเพื่อการลงโทษให้แก่ผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายเพิ่มขึ้นจากค่าเสียหายที่แท้จริงได้ถึงสองเท่า และหากว่า ค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลสั่งให้ผู้ประกอบการชดใช้นั้น ไม่เกินห้าหมื่นบาท ศาลอาจสั่งให้ผู้ประกอบการจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษได้ถึงห้าเท่าของค่าเสียหายที่แท้จริง
เหตุที่ศาลจะสั่งให้ผู้ประกอบการจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษ ก็คือ การที่ผู้ประกอบการ
๑) กระทำโดยเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม หรือ
๒) จงใจให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหาย หรือ
๓) ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่นำพาต่อความเสียหายที่จะเกิดแก่ผู้บริโภค หรือ
๔) กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนต่อความรับผิดชอบในฐานะผู้มีอาชีพ หรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน
การประกอบธุรกิจร้านขายยา เป็นธุรกิจที่ต้องอาศัยความไว้วางใจของประชาชนผู้บริโภค การที่ผู้ประกอบธุรกิจ ไม่ระวังเรื่องการรักษาคุณภาพ เป็นไปได้สูงที่จะเข้าตามข้อ ๔ ที่จะเป็นเหตุให้ศาลพิพากษาให้ชดใช้ค่าเสียหายเพื่อการลงโทษได้
ชาวร้านขายยาทั้งหลาย จึงต้องให้ความสนใจเรื่องคุณภาพ โดยเฉพาะคุณภาพที่เป็นมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด
วันจันทร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2552
กฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค เจาะลึกสำหรับร้านขายยา
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ขอบคุณข้อมูลดี ๆ นะคะ กำลังจะทำงานในร้านขายยาพอดี
ตอบลบ