วันจันทร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2555

ความคิดสร้างสรรค์


ในการแก้ปัญหาหลายๆครั้ง เราอาจต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์เข้ามาช่วย
เราต้องการรูปแบบธุรกิจใหม่ๆที่ต่างไปจากเดิม
เพื่อที่จะชนะใจลูกค้าและไม่ต้องตัดราคาแข่งกับคนอื่น
และในการสร้างสิ่งใหม่ๆเหล่านี้ จำเป็นต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อสรรค์สร้างสิ่งใหม่ๆ

ฟังดูเหมือนกับยาก
แต่ความจริงมันไม่ยากอย่างที่คิด
มันไม่ต้องอาศัยพรสวรรค์
แต่อาจต้องใช้การฝึกฝนเล็กน้อย

คุณทราบหรือไม่ว่า
การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆในทุกวันนี้
มันไม่ใช่สิ่งใหม่ๆที่เกิดขึ้นมาเป็นครั้งแรกในโลกโดยไม่ได้อิงกับอะไรเลย
นวัตกรรม หรือสิ่งใหม่ๆที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ในทุกวันนี้
มักจะเกิดจากการต่อยอดจากของเดิมบางอย่าง แล้วได้เป็นของใหม่
หรืออาจจะเกิดจากการนำของเดิมสองอย่างขึ้นไปมารวมกัน แล้วได้เป็นของใหม่
หรืออาจจะรวมกันและมีการต่อยอดไปอีกชั้นหนึ่ง แล้วได้เป็นของใหม่

ด้วยเหตุนี้ ไอน์สไตน์ จึงกล่าวไว้ว่า
เคล็ดลับของความคิดสร้างสรรค์ ก็คือ
การปกปิดแหล่งที่มาของความคิดสร้างสรรค์
ถ้าคนอื่นไม่รู้แหล่งที่มาของความคิดใหม่ๆนี้
เขาย่อมจะทึ่งว่า "คิดได้ไง"
(แต่ถ้าถามว่า "ใช้อะไรคิด" นี่ คงต้องคุยกันยาว)

ถึงตรงนี้ คุณก็คงจะได้ไอเดียแล้วว่า
เพียงแค่การนำของสองสิ่งมารวมกัน ก็จะได้เป็นของใหม่

คุณอาจฝึกความคิดสร้างสรรค์ง่ายๆด้วยการสุ่มเลือกคำมาสองคำ
แล้วให้ฝึกสร้างความคิดใหม่ๆจากคำสองคำนี้
เช่นคำว่า "เตาอบ" และคำว่า "ใบไม้"
คุณอาจได้ไอเดียว่า เครื่องอบสมุนไพร
หรือ สกัดสมุนไพรด้วยพลังงานแสงอาทิตย์
หรือ การอบสมุนไพรโดยรักษาคุณค่าให้คงเดิม
หรือ ใบไม้ที่ให้พลังงาน
หรือ พลังงานที่ปลูกได้

ในเมื่อคุณอยู่ในธุรกิจร้านขายยา
คุณต้องการไอเดียใหม่ๆในการพัฒนาร้านให้แตกต่างออกไป
คุณก็ปักด้านหนึ่งไว้กับ "ร้านขายยา"
และเมื่อคุณมองออกไปนอกร้าน มองออกไปรอบข้าง
คุณก็ทดลองสร้างสิ่งใหม่ที่เกิดจากการรวมกันของสิ่งที่คุณพบเห็น
มาโยงกับ "ร้านขายยา"
แล้วคุณจะมีไอเดียหลั่งไหลเข้ามาไม่ขาดสาย

แต่แน่นอนว่า ไม่ใช่การรวมกันของสองสิ่ง ทุกครั้งจะได้ผลลัพธ์ที่น่าทึ่งเสมอไป
ในหลายครั้ง การรวมกันนี้จะได้ผลลัพธ์ในประเภทเสื้อเขียว
มาอยู่ร่วมกับกางเกงแดง บนตัวของคนคนหนึ่ง
แต่จะเป็นอะไรไปล่ะ ในเมื่อเทคนิคนี้สามารถสร้างไอเดียใหม่ๆให้คุณได้อย่างไม่จำกัด
คุณอาจได้ไอเดียใหม่ๆหนึ่งร้อยไอเดีย
เก้าสิบไอเดีย อาจเป็นแบบเสื้อเขียว กางเกงแดง ที่คุณไม่กล้าเอาไปอวดใคร
อีกแปดไอเดีย อาจเป็นแบบที่งดงาม แต่คุณอาจจะประมาณแล้วว่า
มันยากเกินกว่าที่คุณจะอยากทุ่มเทความพยายามขนาดนั้น
คุณก็จะเหลืออีกตั้งสองไอเดียที่จะพัฒนาออกมาใช้งานได้

ที่เหลือก็เพียงแค่ การนำผลที่ได้มาคัดเลือกขัดเกลา พัฒนาอีกชั้นหนึ่ง
สร้างเป็นแนวทางปฏิบัติที่จะทำให้ไอเดียนั้นเกิดขึ้นเป็นรูปธรรม
เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่น่าทึ่งต่อไป

แค่นี้ คุณก็จะมีแหล่งไอเดียสำหรับสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆได้อย่างไม่จำกัด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น